นักสิทธิแรงงานผลักดันการศึกษาให้เด็กข้ามชาติ

อวิกา องค์รัตนะคณา และ นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.06.16
กรุงเทพฯ
TH-children-1000 ครูโรงเรียนวัดศรีสุทธาราม จังหวัดสมุทรสาคร สอนภาษาไทยให้กับเด็กนักเรียนข้ามชาติ เพื่อปรับพื้นฐานความรู้ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2560
เบนาร์นิวส์

นักสิทธิแรงงานข้ามชาติ เสนอแนะให้รัฐบาลสนับสนุนการศึกษาให้เด็กข้ามชาติ เพื่อป้องกันการเข้าสู่วงจรแรงงานเด็กผิดกฎหมาย โดยกล่าวว่า ปัจจุบันยังพบการใช้แรงงานเด็กต่างด้าว ทั้งที่เป็นผู้ติดตามพ่อแม่เข้ามาทำงานในประเทศไทย และที่เข้ามาโดยขบวนการนายหน้าแรงงานเถื่อน

กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยสถิติล่าสุดถึงปี 2559 ว่ามีคนต่างด้าวชาวเมียนมา กัมพูชา และลาว เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย 1,067,410 คน ในจำนวนนี้ เป็นผู้ติดตามอายุน้อยกว่า 18 ปี จำนวน 22,807 คน ซึ่งมีความเสี่ยงและมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นแรงงานเด็กในกิจการต่างๆ

นายสมพงศ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) นักสิทธิแรงงานข้ามชาติ เป็นบุคคลหนึ่งที่ช่วยหลักดันให้ลูกหลานของแรงงานต่างด้าวในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ ราชบุรี ระยอง และตราดได้มีโอกาสเข้าเรียนหนังสือในโรงเรียนไทยแล้วกว่า 6,000 คน ตั้งแต่ รัฐบาลไทยจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับเด็กทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีสัญชาติไทยหรือไม่ก็ตาม เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2548

นายสมพงษ์ ระบุว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐของไทยพยายามแก้ไขปัญหาแรงงานผิดกฎหมายในภาคประมงเป็นพิเศษ หลังจากสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ประกาศเตือนรัฐบาลไทยเกี่ยวกับการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ซึ่งการใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมอาหารทะเล ก็เป็นประเด็นที่รัฐบาลเข้มงวด

“อเมริกาเคยออกรายงานว่าประเทศไทยมีแรงงานเด็กในอุตสาหกรรมกุ้ง อุตสาหกรรมเสื้อผ้า อาหารทะเล สื่อลามก อย่างน้อย 4 ด้าน แต่ว่าประเด็นที่ส่งผลกระทบสูงสุด น่าจะเป็นกุ้ง อาหารทะเล ทำให้ผู้ประกอบการพยายามแก้ไขปัญหามาเรื่อยๆ โดยเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว สหรัฐฯบอกว่าเราจัดการได้ดีขึ้น” นายสมพงศ์ กล่าว

“รัฐบาลชุดนี้ก็เข้มข้นในการทำงาน ทั้งการออกกฏหมาย พ.ร.บ.ประมง กฏกระทรวงว่าด้วยการทำประมงทะเล พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน อย่างน้อยในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา ปัญหาก็ทุเลาเบาบางลง แต่ก็ไม่ใช่ว่า 100 เปอร์เซนต์หายไป มันก็ยังคงหลงเหลืออยู่บ้าง” สมพงศ์กล่าว

พบแรงงานเด็กปลอมอายุบัตร

อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงาน หรือองค์กรสากล ยังไม่ได้ศึกษาวิจัยว่า มีเด็กต่างด้าวที่ติดตามพ่อแม่เข้ามาทำงานในเมืองไทย แล้วเข้าสู่ตลาดแรงงานบ้างหรือไม่

ด้านนางสาวจิราพร วงศ์ไพฑูรย์ เจ้าหน้าที่ข้อมูลข่าวสารองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กล่าวว่า ไม่มีการเก็บสถิติการใช้แรงงานเด็กต่างด้าวในประเทศไทยเป็นการเฉพาะ แต่ในปัจจุบัน กระทรวงแรงงานพยายามเก็บสถิติเกี่ยวกับผู้ติดตามแรงงานต่างด้าวแล้ว เนื่องจากเห็นความสำคัญกับปัญหานี้

นางสาวสุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานข้ามชาติ (M.W.R.N) กล่าวว่า ในปี 2559 เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ เคยได้ช่วยเหลือแรงงานเด็กชาวเมียนมา 22 คน ในจังหวัดชุมพร โดยแรงงานกลุ่มนี้ เข้ามาขอความช่วยเหลือด้วยตัวเอง เนื่องจากไม่ต้องการทำงานผิดกฎหมายอีกต่อไป อย่างไรก็ดี เชื่อว่ามีแรงงานเด็กอีกจำนวนมาก ที่ยังคงทำงานโดยใช้บัตรปลอมอายุอยู่

“ส่วนใหญ่อายุ 16-17 ปี เป็นพม่า ที่ผ่านมาก็จะทำงานตามล้ง (สถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้น หรือล้ง) แต่ตอนนี้ ก็เริ่มที่จะน้อยลง อีกกรณีหนึ่งจากที่องค์กรเราพบเจอก็จะเป็นแรงงานเด็กที่ทำบัตรปลอมออกมาจากประเทศต้นทาง โดยนายหน้าเป็นคนทำให้ ทำเหมือนว่าถูกต้องตามกฎหมาย แต่ถ้าตรวจจริงๆ ระหว่างบัตรกับอายุของคนนั้นไม่ตรงกัน ส่วนใหญ่ทำในโรงงานขนาดเล็ก เพราะโรงงานขนาดใหญ่มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว” น.ส.สุธาสินีกล่าว

ซึ่งในเรื่องการใช้แรงงานเด็กภาคประมง น.ท.ศุภณัฐ ธนะสีลังกูร ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ผู้ดูแลการแก้ไขปัญหาโดยตรงระบุว่า ปัญหาเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ ศปมผ. ดำเนินการมาโดยตลอด และพบว่า ช่วงที่ผ่านมา ปัญหาแรงงานเด็กในภาคประมงนั้นมีอยู่น้อยมาก หากเทียบกับปัญหาอื่น เช่น แรงงานต่างด้าว ที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต ขาดการต่ออายุใบอนุญาต หรือเรือประมงผิดกฎหมาย เป็นต้น

“มาตรการในการควบคุมของภาคประมงนั้นเต็มที่อยู่แล้ว มีส่วนของการตรวจสอบและควบคุมแรงงานเด็กในเรือประมงโดยเฉพาะเลย มีการตรวจสอบในศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกของเรือประมง (PIPO) ทั้ง 28 ศูนย์ ในภาคประมงอื่นๆ ในโรงงาน ผมเชื่อว่าไม่มีแน่นอน แต่ในส่วนของล้งมันจะมีล้งที่ยังตรวจสอบไม่หมด อย่างไรก็ตาม แรงงานเด็กในภาคประมง เท่าที่ได้รับรายงานมายังมีน้อย” น.ท.ศุภณัฐกล่าว

ขณะที่ น.ส.ปฎิมา ตั้งปรัชญากูล จากมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นเดียวกันว่า แม้การแก้ปัญหาแรงงานเด็กในภาคประมงดูเหมือนว่าจะประสบความสำเร็จ แต่เชื่อว่ายังคงมีแรงงานเด็กแฝงอยู่ในภาคธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจก่อสร้าง บริการ เกษตรกรรม และงานรับใช้ในบ้าน เป็นต้น

“เราว่ามันแฝงนะ จากที่เราเคยได้สัมภาษณ์เก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างเด็กประมาณ 700 คน มีเด็กประมาณ 70 เปอร์เซนต์ ที่กำลังจะเข้าไปทำงาน พวกกิจการกุ้งอาจจะลดลง แต่จะไปแฝงอยู่ในกิจการอื่น เช่นก่อสร้าง ภาคเกษตร คนรับใช้ในบ้าน ที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ เพราะไทยเรารณรงค์แต่สินค้าที่เราจะต้องส่งออก เนื่องจากว่าทางโน้นจะไม่รับสินค้าที่ใช้แรงงานเด็ก” น.ส.ปฎิมากล่าว

แนะรัฐแก้ปัญหาแรงงานเด็กด้วยการศึกษา

สำหรับวิธีการแก้ปัญหาการใช้แรงงานเด็กนั้น นายสมพงศ์เชื่อว่า การส่งเสริมการศึกษาเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด เพราะนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ยังช่วยให้เด็กมีความรู้ และสามารถไปประกอบอาชีพที่ดีได้

“ถ้าไม่ได้เรียนก็อาจมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น ติดยา พฤติกรรมทางเพศ เพราะว่าไม่ได้รับการขัดเกลา ส่วนคนที่ได้เรียนหนังสือก็สามารถทำงานในตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดีได้ การศึกษาเป็นเรื่องของสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่เมื่อเป็นชาวต่างชาติ คนไทยยังคงมีทัศนคติเชิงลบกับเขาอยู่ เรายังคงเลือกปฏิบัติและกีดกันเพราะว่าไม่ใช่คนไทย การศึกษาเป็นเครื่องมือในการดึงเขาออกจากสภาพการทำงานที่เลวร้าย ทำให้เขามีเวลาเรียนหนังสือ” นายสมพงศ์กล่าว

ด้าน ศ.ดร.สุภางค์ จันทวานิช คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาแรงงานเด็กโดยให้ภาครัฐ และภาคเอกชนผลักดันให้เกิดการจัดการเรียนการสอนในโรงงาน เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้ผู้ติดตามของแรงงานต่างชาติในประเทศไทยไม่ต้องเข้าสู่การใช้แรงงานแบบผิดกฎหมาย

“ฝ่ายแรก ตัวเด็กอยากทำงาน หากว่าอยากมีรายได้มาช่วยพ่อแม่ ส่วนฝ่ายพ่อแม่บางทีก็ไม่รู้ว่าผิดกฏหมาย และฝ่ายนายจ้าง มีทั้งที่ไม่รู้ว่าผิดกฎหมาย และที่รู้ว่าผิดกฎหมาย แต่ใช้แรงงานเด็กฟรี โดยให้มาช่วยพ่อแม่ทำ แล้วก็จ่ายค่าจ้างตามที่พ่อแม่ทำ เด็กมาทำแต่ไม่ได้เงิน หากเด็กอยู่ในระบบโรงเรียน เด็กก็จะไม่เข้ามาทำงาน” ศ.ดร.สุภางค์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“การศึกษาพื้นฐานของเรามันถึงแค่ ม.3 แล้วเด็กที่จบ ม.3 ก็ยังอายุไม่ถึง 18 ปี มันจะมีช่วงช่องว่าง ซึ่งถ้าเด็กต้องการทำงาน ควรจะมีงานที่ไม่หนักจนเกินไป และไม่ต้องทำในเวลากลางคืน ซึ่งเด็กสามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย สำหรับนายจ้างที่อยากจ้างเด็ก ก็ควรให้เด็กมาทำเป็นผู้ฝึกงาน ร่วมมือกับทางกระทรวงศึกษา หรือทางเอกชนที่จะทำเป็นโรงเรียนในโรงงาน เด็กก็จะได้ทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย นายจ้างก็สามารถใช้งานเขาได้” ศ.ดร.สุภางค์ กล่าวเพิ่มเติม

การศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กทุกคน

ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 เกี่ยวกับการจัดการศึกษาให้แก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร หรือ ไม่มีสัญชาติไทย มีสาระสำคัญพอสรุปได้ คือ หนึ่ง ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐาน วัน เดือน ปีเกิด ในการรับนักเรียนนักศึกษา เข้ามาเรียนในสถานศึกษา พ.ศ. 2535 หากควรปรับปรุงข้อความสรุปให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

สอง ขยายโอกาสทางการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร หรือ ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งเดิมเคยจำกัดไว้ให้เฉพาะบางกลุ่ม บางระดับการศึกษา เป็นเปิดกว้างให้ทุกคนที่อาศัยในประเทศ สามารถเข้าเรียนได้โดยไม่จำกัดระดับ ประเภท หรือพื้นที่การศึกษา (ยกเว้นกลุ่มที่หลบหนีภัยจากการสู้รบ จัดให้เรียนได้ในพื้นที่) และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง