สถานีรถไฟยะลา นำศิลปะส่งเสริมความสามัคคีของชนต่างวัฒนธรรม

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.05.31
ยะลา
TH-coexist-1000 สถานีรถไฟยะลา เปิดตัวภาพวาดสองชาวมุสลิมใต้ช่วยส่งพระขึ้นรถไฟ เพื่อสื่อถึงมุมที่งดงามของพื้นที่ วันที่ 30 พ.ค. 2559
เบนาร์นิวส์

ในท่ามกลางความรุนแรงที่มีมาอย่างต่อเนื่องกว่า 12 ปี และการปลุกเร้าในการแบ่งแยกดินแดน ศิลปินแดนใต้ ได้ถ่ายทอดภาพแห่งความสามัคคีระหว่างความแตกต่างทางวัฒนธรรมไว้บนป้ายสถานีรถไฟยะลา

“PEACE BEGINS WITH YOU พลังสันติภาพอยู่ในมือคุณ” เป็นชื่อแนวคิด (Theme) ของภาพวาดที่มีสองชาวไทยมุสลิมช่วยหิ้วสัมภาระให้พระสงฆ์รูปหนึ่ง ที่กำลังจะโดยสารจากสถานีรถไฟยะลา ซึ่งนายเพาซี พะยิง และนายสุไลมาน ยาโม ซึ่งเป็นศิลปินจิตอาสาจากจังหวัดชายแดนใต้ ที่มีชื่อกลุ่มว่าเฌอบูโด ได้บรรจงวาดไว้ บนป้ายสถานีฯ เพื่อให้เป็นเครื่องสะท้อนเรื่องราวของการอยู่ร่วมกันของชาวมุสลิมและไทยพุทธ แม้ว่าจะมีทั้งพี่น้องไทยมุสลิมและไทยพุทธ ผู้ถูกคร่าชีวิตไปกว่า 6,500 ราย

“เราเชื่อในพลังของภาพถ่าย งานศิลปะและการสื่อสาร ที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวดีงามในพื้นที่ออกไปได้เป็นอย่างดี” นายเพาซี พะยิง กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ในวันเปิดตัวภาพวาดเมื่อวันจันทร์นี้

สำหรับที่มาของภาพเขียนนั้น เป็นภาพถ่ายที่นางบุษยมาศ อิศดุลย์ ชาวจังหวัดยะลา ได้ถ่ายเหตุการณ์ที่มีชายหนุ่มมุสลิม 2 คน ช่วยกันหิ้วสัมภาระและย่ามให้กับพระภิกษุสงฆ์รูปหนึ่ง ในขณะที่ท่านกำลังจะขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟยะลา พร้อมกับแชร์ลงเฟซบุคส่วนตัว จากนั้น ได้มีการแชร์และส่งต่อในสื่อออนไลน์กันจำนวนมาก จนนำไปสู่การถ่ายทอดเหตุการณ์ที่น่าประทับใจนั้น เป็นภาพวาดที่บริเวณสถานีรถไฟฯ

โดยเมื่อวันจันทร์ (30 พ.ค. 2599 ) นี้ นายดลเดช พัฒนรัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา นายทนงศักดิ์ พงษ์ประเสริฐ รองผู้ว่ากลุ่มธุรกิจการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันเปิดภาพวาด “PEACE BEGINS WITH YOU พลังสันติภาพอยู่ในมือคุณ” จากภาพถ่ายสู่ภาพวาด โดยมี นายเชาวนะ ชุมนุมพันธ์ นายสถานีรถไฟยะลา และชาวยะลา ให้ความสนใจจำนวนมาก

ภายในงานนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทยและผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้มอบเงินจำนวนหนึ่งให้กับ นางบุษยมาศ อิศดุลย์ ชาวจังหวัดยะลา ที่ถ่ายภาพห้วงเวลาอันน่าประทับใจนั้นไว้ และศิลปินที่วาดภาพ เพื่อเป็นกำลังใจในการร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆ สู่สังคม ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย

นางบุษยมาศ อิศดุลย์ เจ้าของภาพถ่าย กล่าวว่า ตนได้โพสต์ภาพดังกล่าวในเฟซบุ๊ค เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2559 และรู้สึกดีใจมาก เมื่อนายเพาซี โทรมาบอกว่าจะขอวาดภาพนี้ รู้สึกภูมิใจที่มีส่วนทำให้คนหันมามองเห็นในมุมที่งดงามระหว่างคนต่างศาสนา ที่มีน้ำใจเอื้ออารีต่อกัน ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

“อยากให้ภาพแนวนี้ปรากฏไปทั่วทุกพื้นที่ในบ้านเรา และทั่วโลกเลย คงนั่งอมยิ้ม ถ้าจะเห็นภาพในเฟซบุ๊คที่ใครต่อใครมาถ่ายแล้วโพสต์ และแชร์ภาพนี้กัน ให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของคนบ้านเราที่มีมิตรภาพต่อกัน ตราบนานเท่านาน” นางบุษยมาศ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“ต่อไปภาพนี้จะกลายเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ในยะลาบ้านเรา อิ่มเอมและมีความสุขจริงๆ” นางบุษยมาศ กล่าวเพิ่มเติม

นายเพาซี พะยิง กล่าวอีกว่า ภาพนี้จุดประกายบางอย่าง ในการเล่าเรื่องและถ่ายทอดเรื่องราว วิถีของคนที่นี่ที่มีความเอื้ออาทรกันและกัน หากสื่อสารในมุมดีงาม เชื่อว่าพลังเหล่านี้ จะทำให้สันติสุขกลับมาในพื้นที่ หัวใจสำคัญของงานศิลปะในการสื่อสาร ด้วยความเชื่อในพลังของภาพถ่ายที่มีพลังในการเข้าถึงการสื่อสารที่หลุดพ้นจากความหวาดกลัว

นอกจากเรื่องราวที่ถ่ายทอดด้วยภาพดังกล่าวมาแล้ว นายเจะโก๊ะ อาแซ ชาวจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า นอกจากภาพนี้แล้ว ยังมีเรื่องของบังเซ็ง หรือนายอุเซ็ง แวหลง อายุ 79 ปี คอยปั่นจักรยานสามล้อ รับส่งพระวีระ จิตตธัมโม หรือ หลวงตาวีระ อายุ 75 ปี จากวัดตานีนรสโมสร หรือวัดกลาง ออกบิณฑบาต

“เรายังสามารถอยู่ร่วมกันได้ แม้จะมีคนไม่ดีพยายามมาสร้างความแตกแยก ทำให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่ แต่เรายังรักกันทุกวัน ยังพึ่งพากันเหมือนอดีต” นายเจะโก๊ะ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

บังเซ็ง หรือนายอุเซ็ง แวหลง อายุ 79 ปี (ซ้ายมือ) คอยปั่นจักรยานสามล้อรับส่งหลวงตาวีระ อายุ 75 ปี ออกบิณฑบาต (เบนานิวส์)

ด้านนางสาวดวงใจ แก้วมีนี ชาวจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ตนยอมรับว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทำให้มีความหวาดระแวงกัน แต่เรายังอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขได้ ยังพึ่งพากัน

“อยู่ที่ว่า เราจะมองมุมไหน มุมที่อยู่อย่างพึ่งพาก็ยังเกิดขึ้นในพื้นที่ มุมที่ระแวงกันสร้างความหวาดกลัวกันก็มีจริง ปัญหาคือเราต้องยอมรับร่วมกันและร่วมกันแก้ เพื่อให้เกิดความสงบสุขเช่นอดีต” นางสาวดวงใจ กล่าว

พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ประกอบด้วยประชากรประมาณ 1.7 ล้านคน เป็นชนเชื้อสายมลายู ที่นับถือศาสนาอิสลาม ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ หลังจากเหตุการณ์ที่กลุ่มก่อความไม่สงบปล้นปืนค่ายปิเหล็ง ในอำเภอเจาะไอร้อง นราธิวาส เมื่อปี 2547 เป็นต้นมา มีพี่น้องไทยมุสลิมและไทยพุทธ ผู้ถูกคร่าชีวิตไปกว่า 6,500 ราย บาดเจ็บประมาณ 12,000 ราย

ในปัจจุบัน ยังคงมีการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ค เพื่อสร้างความเกลียดกลัวระหว่างชนเชื้อสายมลายู หรือที่ทางการไทยเรียกว่า ไทยมุสลิม และคนไทยที่นับถือศาสนาอื่นๆ อยู่ ในขณะที่การพูดคุยเพื่อสันติสุข ของรัฐบาลไทย และผู้แทนฝ่ายกลุ่มผู้เห็นต่าง ที่ประกอบด้วย กลุ่มบีอาร์เอ็น พูโล และจีเอ็มไอพี สะดุดลงเป็นการชั่วคราว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง