ชาวจังหวัดสงขลาเรียกร้องรัฐบาลยุติโครงการพัฒนาที่กระทบชุมชน
2016.08.25
สงขลา

ในวันพฤหัสบดี (25 สิงหาคม 2559) นี้ เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิชุมชนภาคใต้ ได้ออกแถลงการณ์ เรียกร้องขอให้รัฐบาลหยุดการดำเนินนโยบาย โครงการหรือกิจการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิชุมชนในภาคใต้
ทั้งนี้ เครือข่ายประชาชนฯ นับร้อยคน วอล์คเอ้าท์จากเวทีรับฟังปัญหาการละเมิดสิทธิชุมชน ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นเจ้าภาพ ที่โรงแรมบุรีศรีภูบูติกโฮเต็ล อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา แต่ประธานกรรมการสิทธิฯ ไม่ยินยอมให้ทางเครือข่าย แถลงในเวทีดังกล่าว
นายเอกชัย อิสระทะ เครือข่ายพลเมืองสงขลา เปิดเผยว่า นโยบายที่ละเมิดสิทธิชุมชนในภาคใต้ ประกอบด้วยนโยบายการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ที่รัฐบาลประกาศเดินหน้าเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งสองฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน หรือแลนด์บริดจ์ ที่จะต้องสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล และท่าเรือน้ำลึกบ้านสวนกง จังหวัดสงขลา รวมถึง การเกิดขึ้นของโครงการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันอีกมากมาย เช่น การก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างท่าเรือสองฝั่งทะเลนี้ การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม การสร้างเขื่อน และการเปิดพื้นที่การลงทุนแบบใหม่ ที่เรียกว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดสงขลา
นอกจากนั้น ยังมีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ในหลายจังหวัด โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และโรงไฟฟ้าเทพา จังหวัดสงขลา ที่มีการเร่งรัดดำเนินโครงการอย่างเร่งรีบ ในช่วงปีที่ผ่านมา โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ และโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่เกิดขึ้นอย่างกระจัดกระจายทั่วทุกจังหวัดในภาคใต้ ซึ่งพยายามหลบเลี่ยงข้อระเบียบ หรือขั้นตอนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จนนำไปสู่ความขัดแย้งในหลายพื้นที่
นายเอกชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายการทวงคืนผืนป่าที่ได้มีการตรวจยึดพื้นที่ทำกินดั้งเดิมของชุมชนอย่างไม่แยกแยะ ยังได้ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงในการดำรงชีวิตของเกษตรกรชาวไร่ ชาวสวนยาง ในหลายพื้นที่ และรัฐบาล ยังละเลย ไม่คุ้มครองสิทธิของชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ภาคใต้ ได้แก่ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล กลุ่มมันนิ (ซาไก) จนนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ เช่น การถูกรุกจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การสูญเสียที่ดินซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวเล หรือการรับรองสิทธิพลเมืองของกลุ่มมันนิ
สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังไม่มีแนวทางหรือทางออกในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบ และยังมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นรายวัน
“เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิชุมชนภาคใต้ มีความเห็นว่านโยบาย และหลายโครงการที่ได้กล่าวไปแล้วนั้นไม่เหมาะสมที่จะได้รับการตัดสินใจผลักดันเดินหน้าในรัฐบาลเฉพาะกิจ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการออกแบบหรือสร้างกติกาทางสังคมแบบใหม่ ภายใต้เจตนารมณ์ของรัฐบาลเองที่ต้องการปฏิรูปประเทศนี้ให้ดีกว่าเดิม” นายเอกชัย กล่าว
“สำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องป้องกันการละเมิดสิทธิที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต จึงเสนอให้รัฐบาลยุติ หรือทบทวนการดำเนินนโยบาย โครงการ หรือกิจการที่เล่ามา ให้หันมาสร้างบรรยากาศของประเทศไปสู่ความสมานฉันท์ปรองดอง และสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง” นายเอกชัยกล่าวเพิ่มเติม
ทางด้านนายสมบูรณ์ คำแหง ผู้ประสาน เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิชุมชนภาคใต้ กล่าวว่า โดยหลักการแล้วการดำเนินนโยบาย โครงการ หรือกิจการต่าง ๆ เหล่านี้ จะต้องอาศัยความละเอียดอ่อนที่รัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องพึงระวังถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้น และระยะยาว อีกทั้งต้องอาศัยกระบวนการทางกฏหมาย หรือข้อระเบียบต่าง ๆ ในการกลั่นกรองอย่างรอบด้าน ก่อนการดำเนินโครงการ