อนาคตใหม่เตรียมเสนอยกเลิกเกณฑ์ทหารภายใน 6 ปี

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2019.08.23
กรุงเทพฯ
190823-TH-army-draft-1000.jpg สามเณรรูปหนึ่ง หลังจากจับได้ใบแดง ในระหว่างการเกณฑ์ทหารประจำปี ในกรุงเทพฯ ภาพเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560
เอเอฟพี

ในวันศุกร์นี้ พลโท พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะฝ่ายค้าน มีแผนที่จะเสนอให้ประเทศไทยยกเลิกการเกณฑ์ทหารภายใน 6 ปีนี้ โดยเสนอให้เปลี่ยนเป็นใช้การสมัครใจแทน ด้าน พลโท คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกระทรวงกลาโหม ยืนยันว่า กองทัพพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง แต่การเกณฑ์ทหารยังจำเป็นสำหรับประเทศไทย

พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า พร้อมที่จะเสนอให้กระทรวงกลาโหมยกเลิกการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ โดยตั้งเป้าจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจ และหวังให้สำเร็จภายใน 6 ปี โดยหากอยู่ในภาวะสงครามสามารถกลับมาใช้ระบบเกณฑ์ทหารได้

“ขณะนี้มีการร่างกฎหมายตามนโยบายพรรคเรียบร้อยแล้ว แต่ยังต้องการรับฟังเสียงจากประชาชน โดยให้เอ็นจีโอ และกลุ่มองค์กรต่างๆที่เคยวิจารณ์การเกณฑ์ทหารมาเสนอความเห็น พอรับฟังเสร็จก็จะนำความคิดเห็นมาเป็นแนวทางเพื่อทำเป็น พ.ร.บ.ฉบับใหม่ฯ หลักเกณฑ์ทั่วไปคือแก้ไขเท่าที่จำเป็นโดยคงนโยบายพรรคให้มากที่สุด คาดว่าจะเสนอต่อสภาภายในกลางเดือนกันยายนนี้” พล.ท.พงศกร กล่าว

“รายละเอียดส่วนหนึ่งในกฎหมายนี้ คือ การย้ายทหารเกณฑ์ไปอยู่ในหมวดใช้เมื่อมีสงคราม และเป็นในส่วนสมัครใจเพียงระบบเดียว ใครอยากเป็นทหารก็เข้ามาสมัครได้ทั้งหญิง ชาย และต่อไปอาจเป็น​ LGBT(ผู้มีความหลากหลายทางเพศ) ด้วย โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้มีระยะเวลาพอสมควรในการเป็นทหารเพื่อให้มีความชำนาญสูง เพื่อลดจำนวนทหาร และนอกจากนี้ยังจะให้มีการยกเลิกการเรียน รด.(นักศึกษาวิชาทหาร) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” พล.ท.พงศกร กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงข้อเสนอที่พรรคการเมืองต้องการจะยกเลิกการเกณฑ์ทหารว่า กองทัพยังเชื่อว่า การเกณฑ์ทหารจำเป็นสำหรับประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตามกองทัพพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย

“ตัวกองทัพเองก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยน และปฏิรูปอยู่แล้ว ปัจจุบัน ทหารมีการใช้กำลัง 1 ใน 3 ไปปฎิบัติภารกิจป้องกันชายแดน รวมถึงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และในส่วน 2 ใน 3 ต้องฝึกตามวงรอบ และปฏิบัติภารกิจ ดูแลความมั่นคงภายในประเทศ ดูแลปกป้องภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ช่น ภัยยาเสพติด ภัยคุกคามทางไซเบอร์ และภัยพิบัติ ที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ ภัยก่อการร้ายอาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ การแก่งแย่งชิงทรัพยากร รวมถึงโรคระบาดต่างๆ ที่เป็นภัยซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจากสงคราม” พล.ท.คงชีพ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“ความต้องการทางทหารกองประจำการนั้นใน 1 ปี มีชายไทย ลงทะเบียนเป็นทหารกองเกินไว้ประมาณ 6-7 แสนคน แต่เข้ารับการตรวจเลือกประมาณ 4-5 แสนคน ส่วนที่หายไป เพราะร่างกายไม่ผ่านการคัดเลือกและอีกส่วนหนึ่งก็มีการขอผ่อนผัน ซึ่งในส่วนความต้องการของกองทัพมีประมาณ 1 แสนคน หรือเป็น 1 ใน 5 ของยอดที่เข้ารับการตรวจเลือก ที่ผ่านมาในแต่ละปี มีคนสมัครใจเป็นทหารกองประจำการประมาณ 20% แต่ในปีพ.ศ. 2557-2558 มียอดสมัครใจ 45%” พล.ท.คงชีพ ระบุ

พล.ท.คงชีพ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตามระบบการเกณฑ์ทหารกำลังมีการพิจารณาควบคู่ไปกับระบบกำลังสำรอง เช่น นักศึกษาวิชาทหาร ที่มีการเปิดรับนักศึกษาวิชาทหาร สามารถใช้สิทธิ์ในการเรียนหลักสูตรวิชาทหาร เพื่อลดเวลา หรือได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเข้ารับการตรวจเลือก หรือสามารถไปบรรจุอยู่ในบัญชีกำลังพลสำรอง ในชั้นยศต่างๆ เพื่อเรียกระดม ในสถานการณ์วิกฤติ วันนี้เราเปิดโอกาสให้ชายไทยได้มีหลายช่องทาง ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารทั้งหมด

ต่อกรณีการเสนอยกเลิกการเกณฑ์ทหาร นายกฤติน ลิขิตปริญญา นักเขียนอิสระวัย 23 ปี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ถ้าเปลี่ยนการเกณฑ์ทหารเป็นระบบสมัครใจ เชื่อว่าจะทำให้กองทัพสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม

“การเกณฑ์ทหารทำให้รู้สึกอึดอัดใจมาก เพื่อนผมทั้งชั้นไปเรียน รด. ด้วยกัน ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่อยากเกณฑ์ทหาร เรียน รด. จะค่อนข้างโอเค แต่ก็ต้องฝึกตามที่เขาบอก ผมเคยเห็นทหารเกณฑ์โดนเรียกมาตบหัว จนล้มลงไปนอนกับพื้น เพราะว่าเขาสูบบุหรี่หรือกินเหล้า ผิดวินัยทหารแน่ๆ แต่นั่นก็สะท้อนเพียงพอแล้วว่า คนที่มาเป็นทหารเกณฑ์เขาก็ไม่พร้อมจะเป็นทหารเหมือนกัน” นายกฤติน กล่าว

“ถ้าเราเปลี่ยนเป็นกองทัพแบบอาสา หรือสมัครเข้ามา ผมว่าปัญหาไม่พร้อมเป็นทหารจะไม่เกิดขึ้นเลย สำหรับผมการเกณฑ์ทหารทำให้ศักยภาพของกองทัพไม่เข้มแข็งเต็มที่ นอกจากนั้นยังชวนให้เด็กผู้ชาย ม.ปลาย รู้สึกอึดอัดใจด้วย ถ้าเปลี่ยนเป็นทหารอาสา หรือทหารรับจ้างแล้ว ผมว่าจะไม่เกิดปัญหาพวกนี้เลย” นายกฤติน กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน นายมะแซ สะอิ ชาวยะลา อายุ 20 ปี ระบุว่า มองว่า การเป็นทหารโดยสมัครใจจะดีกว่าบังคับ เพราะเชื่อว่า หากจะทำอาชีพใด จำเป็นต้องมีความชอบ และมีความต้องการที่จะทำ เชื่อว่าจะทำได้ดีกว่า

“การคัดเลือกทหาร สงสารคนที่ไม่อยากเป็น คนมีลูกมีเมียก็ไม่เต็มใจที่จะเป็นอยู่แล้ว ซึ่งในพื้นที่มีบางครอบครัวเวลาลูก หรือสมาชิกในครอบครัวครบอายุต้องเข้ารับการคัดเลือกทหาร ก็ต้องไปหาหมอบ้านลงพิธี เพื่อให้ช่วยไม่ให้ได้ใบแดง” นายมะแซ กล่าว

ขณะเดียวกัน นายสุชาติ แดงกล่ำ ชาวปัตตานี อายุ 21 ปี เปิดเผยว่า เชื่อว่าการเป็นทหารโดยสมัครใจเป็นเรื่องที่ดีกว่า เพราะเชื่อว่า มีผู้ที่ต้องการอยากเป็นทหารมากพอสำหรับความต้องการของกองทัพ

“ปี 2563 ที่จะถึงนี้ ผมเองต้องเข้ารับการคัดเลือกทหาร ซึ่งผมเป็นคนที่สมัครใจเป็นทหาร เพราะคิดว่าจะได้รับใช้ชาติ และที่สำคัญคือจะได้ฝึกร่างกายให้แข็งแรง ยิ่งไปกว่านั้น การอยู่บ้านเฉยๆก็ไม่ได้ทำอะไร ผมคิดว่า การสมัครใจเป็นทหารดีกว่าการบังคับ เพราะจะเห็นได้ชัดว่า ทุกปีมีการคัดเลือกทหารเกือบทุกอำเภอ จะมีผู้สมัครเกือบครบตามที่กองทัพต้องการ” นายสุชาติ

ปัจจุบัน ชายไทยที่มีอายุครบ 20 ปี ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร โดยนักเรียนโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 หรือเทียบเท่า จะได้รับการผ่อนผันจนสำเร็จระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่า แต่อายุไม่เกิน 22 ปีบริบูรณ์ ขณะที่นิสิตหรือนักศึกษามหาวิทยาลัยของรัฐ สถาบันการศึกษาของรัฐหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชน จะผ่อนผันให้ศึกษาที่ไม่สูงกว่าระดับปริญญาโท และจนถึงอายุครบ 26 ปีบริบูรณ์

โดยสำหรับผู้ที่จะเป็นทหารตามหลักเกณฑ์ คือ ผู้ที่มีคุณวุฒิ ม.6 หรือเทียบเท่าขึ้นไป ต้องนำหลักฐานการศึกษาหรือประกาศนียบัตรหรือหนังสือรับรองวิทยฐานะที่จบ รด. ปี 1 หรือปี  2 แสดงต่อคณะกรรมการตรวจเลือก ภายในวันตรวจเลือก ซึ่งจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า ถ้าสมัครเป็นทหาร 1 ปี ถ้าจับได้สลากแดงเป็นทหาร 2 ปี หากจบประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรืออนุปริญญาขึ้นไป ถ้าสมัครเป็นทหาร 6 เดือน จับสลากได้สลากแดงเป็นทหาร 1 ปี  หรือจบ รด. ปี 1 ถ้าสมัครเป็นทหาร 1 ปี ถ้าจับได้สลากแดงเป็นทหาร 1 ปี 6 เดือน หากจบ รด. ปี 2 ถ้าสมัครเป็นทหาร 6 เดือน และจับได้สลากแดงเป็นทหาร 6 เดือนเช่นกัน

มารียัม อัฮหมัด ในปัตตานี มีส่วนในรายงานนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง