ประชาชนในเอเชียอาคเนย์-เอเชียใต้: คอร์รัปชันคือปัญหาใหญ่
2020.11.24
กรุงเทพฯ

ประชาชนในกลุ่มเอเชียอาคเนย์และเอเชียใต้ จำนวนสามในสี่ เห็นว่าการคอร์รัปชันในระดับรัฐบาลเป็นปัญหาที่สำคัญ แม้ว่าประชาชนหลาย ๆ คนยังเชื่อว่าพอมีทางปรับปรุงสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้ หากพยายามต่อสู้เพื่อที่จะแก้ไขปัญหา องค์กร Transparency International กล่าวในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันอังคารนี้
องค์กร Transparency International ซึ่งเป็นเอ็นจีโอที่ตั้งอยู่ในประเทศเยอรมนี ซึ่งติดตามเรื่องความโปร่งใสทั่วโลก กล่าวในรายงาน ดัชนีการคอร์รัปชันทั่วโลก (Global Corruption Barometer) ฉบับปี 2020 ว่า มีรายงานว่าประชาชนในบังกลาเทศ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ได้รับเงินซื้อเสียงในการลงคะแนนเลือกตั้ง จ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ในการขอใช้บริการสาธารณะ รวมทั้งประสบกับการกรรโชกทางเพศในการใช้บริการสาธารณะ
ทั้งนี้ การทำรายงาน ดัชนีการคอร์รัปชันทั่วโลก เป็นการสำรวจข้อมูล-ความคิดเห็น ในเรื่องการคอร์รัปชัน ใน 17 ประเทศในทวีปเอเชีย โดยเป็นการสำรวจที่มีขนาดใหญ่ มีกลุ่มตัวอย่างมากถึง 20,000 คน ล่าสุด ทำการสำรวจในช่วงเดือนมีนาคมถึงกันยายนปีนี้ ซึ่งการสอบถามความคิดเห็น โดยส่วนใหญ่เป็นการติดต่อทางโทรศัพท์
ผลสำรวจประชาชนในประเทศไทย
นับตั้งแต่มีการประท้วงเป็นเวลาหลายเดือนในปี 2547 รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามามีอำนาจ และรับปากว่าจะกำจัดการคอร์รัปชัน แต่จริง ๆ แล้ว ประชาชนชาวไทยกลับรู้สึกในทางตรงกันข้าม กลุ่มเยาวชน นักเรียนนักศึกษา และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้ประท้วงรัฐบาล มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 หลังจากศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านที่มีปากเสียงคัดค้านกับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ที่เดิมเคยเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ในบรรดาประเทศกลุ่มอาเซียนทั้งหลาย รายงานระบุว่า สถาบันต่าง ๆ ของประเทศไทยได้รับความไว้วางใจจากประชาชนน้อยที่สุด นับตั้งแต่รัฐบาล ศาลยุติธรรม และตำรวจ
ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 71 ไม่มีความไว้วางใจในรัฐบาลเลย หรือมีแต่น้อยมาก ร้อยละ 59 ไม่ไว้วางใจตำรวจ และ ร้อยละ 40 ไม่มีความไว้วางใจในศาลยุติธรรมเลย หรือมีแต่น้อยมาก
เมื่อพูดถึงตำรวจ ประชาชนร้อยละ 37 คิดว่าตำรวจเกือบทั้งหมดหรือตำรวจทั้งหมดคอร์รัปชัน นับว่าสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ประชาชนร้อยละ 47 จ่ายค่าสินบนให้ตำรวจในห้วง 12 เดือนที่ผ่านมา ตัวเลขที่เลวร้ายเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความไม่ไว้วางใจรัฐบาลเป็นอย่างมาก และสะท้อนความตกต่ำของระบบระดับชาติที่ไม่ควรถูกแทรกแซง เช่น สถาบันตำรวจ ศาลยุติธรรม ที่ควรเป็นแนวหน้าในการป้องกันการเกิดคอร์รัปชัน
ในเรื่องนี้ พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ยังไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ในขณะนี้
“ผมแสดงความคิดเห็นไม่ได้ เพราะผมเป็นโฆษกที่ต้องเอาข้อมูลที่เอาข้อเท็จจริงมาพูด คงพูดทันทีไม่ได้ คงจะต้องให้เวลาตรวจสอบก่อนว่าความเป็นมาเป็นไปคืออะไร และประเด็นใดเป็นความไม่โปร่งใส และผมไม่อยู่ในบทบาทที่จะกำหนดนโยบาย จึงแสดงความคิดเห็นตรงนี้ไม่ได้” พล.ต.ต.ยิ่งยศ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ในวันอังคารนี้
ส่วนโฆษกรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี กล่าวว่า ตนยังไม่สามารถแสดงความคิดเห็นในทันที่ได้เช่นกัน
“ก็ต้องขอตรวจสอบก่อนว่า องค์กรนี้เป็นใคร จัดแรงกิงค์ยังไง และใครเป็นผู้เก็บข้อมูล แล้วจึงจะสามารถชี้แจงในอนาคตได้อย่างถูกต้อง” นายอนุชา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันอังคารนี้
ผู้ตอบการสำรวจเชื่อ ยังสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้
องค์กร Transparency International กล่าวในรายงานว่า ผู้ตอบการสำรวจยังมีความเชื่อว่ายังจะสามารถแก้ไขสถานการณ์ที่ไม่ถูกต้องนี้ได้
“มีความสำคัญอย่างยิ่งที่ประชาชนในทั่วทั้งภูมิภาคต้องต่อต้านและปฏิเสธการคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบ ซึ่งต้องเริ่มต้นด้วยแต่การที่แต่ละบุคคลออกมาพูดปฏิเสธการคอร์รัปชั่น ซึ่งผู้ตอบการสำรวจคิดว่าจะกลายเป็นเป้าหมายการแก้แค้นได้” เนื้อหาส่วนในหนึ่งในรายงานระบุ
“แม้ว่าจะต้องเผชิญการท้าทาย ความกลัวในการถูกคุกคาม การจำกัดเสรีภาพในการพูด แต่ประชาชนจำนวนมากเชื่อว่าพวกเขาจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ในการต่อสู้กับการคอร์รัปชัน” รายงานดังกล่าวระบุเพิ่มเติม
ประชาชนไทยร้อยละ 65 เห็นว่าการคอร์รัปชันในรัฐบาลของตนเป็นปัญหาใหญ่ เช่นเดียวกันกับประชาชนส่วนใหญ่ในมาเลเซีย อินโดนีเซีย ที่มีความคิดเห็นเดียวกันต่อรัฐบาลของตน ขณะที่ประชาชนไทยร้อยละ 65 เชื่อว่ายังสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงความเลวร้ายนี้ได้ ซึ่งประชาชนในมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปินส์ และบังกลาเทศ มีความคิดเห็นเช่นเดียวกัน
“ความสามารถในการปรับตัวสู้กับปัญหาและความคิดในเชิงบวก เป็นกุญแจสำคัญของความพยายามในการต่อต้านการคอร์รัปชันในอนาคต ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในมือของรัฐบาลที่เปิดใจรับการปฏิรูป รวมทั้งต่อภาคธุรกิจ และประชาสังคม” รายงานดังกล่าวระบุ
การกรรโชกทางเพศ
ประเทศไทย ติดอันดับหนึ่งในสามประเทศย่านนี้ ที่มีการกรรโชกทางเพศมากที่สุด ร่วมกับอินโดนีเซีย และมาเลเซีย เมื่อรับการใช้บริการของรัฐ โดยที่ผู้รับบริการถูกบังคับให้มีเซ็กซ์ หรือแลกการมีเซ็กซ์กับขอรับบริการจากรัฐ
ประชาชนไทยที่ตอบการสำรวจร้อยละ 15 ทราบถึงเรื่องราวการกรรโชกทางเพศเช่นนี้ ในขณะที่ผู้ตอบคำถามร้อยละ 18 ในอินโดนีเซีย และร้อยละ 12 ในมาเลเซีย บอกว่าเกิดเหตุเช่นนี้ขึ้นในประเทศของตน ส่วนผู้ตอบคำถามร้อยละ 9 ในฟิลิปินส์และบังกลาเทศ บอกว่าเกิดเหตุเช่นนี้เช่นกัน
Transparency International เสนอคำแนะนำในการต่อสู้กับการกรรโชกทางเพศว่า ให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ “มีมาตรการในการลดการกล่าวประณาม หรือทำให้เหยื่อได้รับความอับอาย จนไม่กล้าที่จะเปิดเผยเรื่องราวที่ไม่ถูกต้องนั้น ให้เครื่องมือที่เหมาะสมแก่หน่วยงานปราบปราบการคอร์รัปชัน และกระบวนการยุติธรรมในการปราบปราบการกรรโชกทางเพศ สร้างระบบกลไกการแจ้งเหตุที่มีความปลอดภัย เชื่อถือได้ เข้าถึงได้ง่าย และเหมาะสมกับความละเอียดอ่อนทางเพศ”
สินบน
ผู้ตอบคำถามจำนวนมากบอกว่า การติดสินบน-รับสินบน เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
กลุ่มตัวอย่างในประเทศไทยและฟิลิปปินส์ ร้อยละ 28 ตอบว่าใช่ ต่อคำถามที่ว่ามีคนเสนอเงินสินบนในการเลือกตั้งหรือไม่ ส่วนในอินโดนีเซีย มีร้อยละ 26 ตามมาด้วยบังกลาเทศ ร้อยละ 8 และ มาเลเซียร้อยละ 7
ในทางกลับกัน กลุ่มตัวอย่างกับต้องจ่ายเงินสินบนในการขอใช้บริการสาธารณะ โดยเป็นกลุ่มตัวอย่างในอินโดนีเซีย ร้อยละ 30 ในไทยและบังกลาเทศ ร้อยละ 24 ในฟิลิปปินส์ ร้อยละ 19 และในมาเลเซีย ร้อยละ 13 นอกจากนั้นยังต้องมีการใช้เส้นสายในการขอรับบริการ ตามคำตอบของกลุ่มตัวอย่างในมาเลเซีย ร้อยละ 15 และในอินโดนีเซีย ร้อยละ 36
ผู้ตอบคำถามในประเทศไทยเพียงหนึ่งในสาม ตอบคำถามว่า ตนมีความรู้สึกในทางบวกต่อองค์กรปราบปรามการคอร์รัปชัน ในขณะที่ผู้ตอบคำถามชาติอื่น ๆ เช่น อินโดนีเซีย ร้อยละ 67 และบังกลาเทศ ร้อยละ 86 เชื่อมั่นในองค์กรในประเทศของตน