ญาติเสื้อแดงร้องอัยการสูงสุด แจ้งให้ปปช. เอาผิดอภิสิทธิ์และสุเทพ

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2017.09.18
กรุงเทพฯ
170918-TH-families-1000.jpg นางหนูชิต คำกอง (คนที่สามจากขวามือ) ยื่นหนังสือแก่โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อขอดำเนินให้แจ้ง ปปช. ชี้มูลความผิดอดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ วันที่ 18 กันยายน 2560
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช/เบนาร์นิวส์

ในวันจันทร์ (18 กันยายน 2560) นี้ ญาติผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม ปี 2553 พร้อมด้วยทนายความ เข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมพร้อมหลักฐานใหม่ให้กับอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อให้ส่งต่อให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ดำเนินการเอาผิดต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ด้วยมาตรา 157 และ 288 หลังจากเป็นผู้สั่งสลายการชุมนุมจนทำให้มีผู้เสียชีวิต 99 คน ไม่นับรวมฝ่ายเจ้าหน้าที่ และบาดเจ็บกว่า 1.2 พันราย

นายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ทนายความและญาติ ได้นำหลักฐานใหม่ 3 ชิ้น ประกอบด้วย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ระบุว่า ป.ป.ช. เป็นผู้มีอำนาจไต่สวนข้อกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สำนวนการสั่งฟ้องของ อสส. ต่อบุคคลทั้งสองในฐานความผิดข้อหาเจตนาฆ่า (กฎหมายอาญามาตรา 288) และหลักฐานการไต่สวนการตายของเหยื่อที่ประกอบด้วยสำนวนการสอบสวนการตาย คำเบิกความ พยาน ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ การตรวจสถานที่เกิดเหตุ รวมถึงคำสั่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ เมื่อปลายเดือน สิงหาคม 2560 ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุธรณ์และศาลชั้นต้น ไม่รับคำฟ้องของคดีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นโจทก์ฟ้องนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ในคดีสั่งสลายการชุมนุมฯ เนื่องจากเห็นว่าการสั่งสลายการชุมนุมเป็นการกระทำโดยใช้อำนาจในการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จึงไม่อยู่ในขอบเขตอำนาจของศาลอาญา

“เราเชื่อมั่นว่า ป.ป.ช. เอง ที่ยกคำร้องไปในอดีต ไม่ได้นำหลักฐานสำนวนการไต่สวนชิ้นนี้มาพิจารณา และเรายืนยันว่าอัยการสูงสุด ยังสามารถดำเนินการสั่งฟ้อง ม.288 ได้อยู่ แต่เมื่อศาลฎีกาชี้ว่าเป็นอำนาจของ ป.ป.ช. เราจึงขอให้อัยการสูงสุดส่งสำนวนที่เกี่ยวข้องไปยัง ป.ป.ช. เพื่อไต่สวนความผิดตาม ม.157” นายวิญญัติ กล่าว

“ทั้งหมด มิใช่สำนวนเดิม หรือ พยานหลักฐานเดิม และถึงแม้ว่าผลการไต่สวนจะไม่พบความผิดตามมาตรา 157 แต่อัยการสูงสุดจะยังคงดำเนินการตามมาตรา 288 ต่อศาลต่อไป แต่หากพบว่ามีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ ก็ต้องนำสำนวนความผิดฐานเจตนาฆ่า รวมกันเพื่อฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไปด้วย” นายวิญญัติ กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน ร.ท.สมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้กล่าวต่อญาติผู้เสียชีวิต หลังรับหนังสือว่า จะรีบนำเรื่องส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาโดยเร็ว และยืนยันว่า อสส. จะพิจารณาเรื่องนี้โดยอาศัยหลักกฎหมาย ประกอบกับเอกสาร ความเป็นมาเพื่อให้รอบคอบ และให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

ด้านนางสุนันทา ปรีชาเวทย์ พี่สาวของนายทศชัย เมฆนางฟ้า ผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม ที่หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า รู้สึกรู้สึกเจ็บปวด และทรมานจิตใจตลอดเจ็ดปีที่ผ่านมา เมื่อเห็นรูปน้องชายบนหิ้ง ในการยื่นหนังสือวันนี้ เพียงเพราะหวังความยุติธรรม และต้องการให้คนกระทำผิดถูกลงโทษ

“ต้องการให้อภิสิทธิ์เข้าคุก เพราะเขาสั่งฆ่าประชาชน ควรต้องได้รับโทษ เรารอมาเจ็ดปีแล้วยังไม่ได้รับความยุติธรรมเลย วันนี้เราไม่มีอะไรจะเสียอีกแล้ว... เวลาเราไปศาลเจออภิสิทธิ์ เขาถามเราว่าใครเสีย เราบอกว่าน้องชาย เขาบอกว่า เสียใจด้วยนะ แล้วเดินไป เราไม่เคยได้ยินคำว่าขอโทษจากปากเขา” นางสุนันทากล่าว

เมื่อเร็วๆ นี้ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องควบคุมสถานการณ์ที่มีความซับซ้อนในขณะนั้น

ในปี 2555 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับคดีสั่งสลายการชุมนุม ปี 2553 เป็นคดีพิเศษ โดยได้ทำการสอบสวน และส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดสั่งฟ้องจำเลยทั้ง 2 ต่อศาลอาญาในข้อหา “ร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล” ตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) มาตรา 288 ซึ่งมีโทษสูงสุดคือ จำคุกตลอดชีวิต

แต่ศาลอาญา พิจารณาว่าการสั่งสลายการชุมนุมเป็นการกระทำโดยใช้อำนาจในการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จึงไม่อยู่ในขอบเขตอำนาจของศาลอาญา และ ป.ป.ช. เป็นผู้มีอำนาจไต่สวนข้อกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังกล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง