ชาวบ้านรำลึก 17 ปีเหตุการณ์ตากใบ
2021.10.25
ปัตตานี

ชาวบ้าน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส และฝ่ายความมั่นคง จัดกิจกรรมทำบุญในวันจันทร์นี้ เพื่อรำลึกเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ อ. ตากใบ เมื่อ 25 ตุลาคม 2547 ที่มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 85 คน และถูกจับกุมตัวราว 1,300 คน ด้าน คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และกระทำให้บุคคลสูญหาย ระบุ เสียใจกับเหตุที่ตากใบ และจะทำกฎหมายเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก
กิจกรรมรำลึก 17 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมตากใบ จัดขึ้นที่โรงเรียนตาดีกา บ.จาเราะ ต.ไพรวัน อ.ตากใบ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมราว 50 คน โดยมีตัวแทนเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงร่วมกิจกรรม และร่วมทำบุญด้วย ภายในกิจกรรมมีการละหมาดฮายัต อ่านอาราวะห์ (อ่านอัลกุรอ่านแก่ผู้สูญเสีย) และเลี้ยงอาหารแก่ผู้เข้าร่วม
“เราจัดกิจกรรมวันนี้เพื่อเป็นสัญลักษณ์การรำลึก ไม่ใช่เพื่อการต่อสู้ ไม่ได้คิดจะฟ้องร้องอะไรใคร เป็นการจัดงานเล็ก ๆ มีชาวบ้านในพื้นที่มาร่วมละหมาดฮายัดขอพรให้เกิดความสงบสุข ในการขอจัดกิจกรรมทุกคนก็เข้าใจ ไม่มีใครห้าม แม่ทัพภาคที่ 4 ยังได้สั่งให้เจ้าหน้าที่นำเงินมาสนับสนุนด้วย นายอำเภอก็ไม่ได้ว่าอะไร ทำให้ชาวบ้านรู้สึกดี” นางแยนะ สะแลแม หนึ่งในผู้จัดกิจกรรมรำลึก เปิดเผย
ขณะเดียวกัน นางอามีเนาะ (สงวนนามสกุลเพื่อความปลอดภัย) ชาวบ้านในพื้นที่กล่าวว่า “ส่วนตัวรู้สึกเฉย ๆ กับเหตุการณ์แล้ว แต่ชาวบ้านบางคนก็ยังกลัวเจ้าหน้าที่ ไม่กล้าพูดถึงเหตุการณ์เมื่อ 17 ปีก่อน”
ด้าน พล.ท. เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ระบุว่า “ชาวบ้านไม่ได้ขอเงินเพื่อจัดงาน แต่เราช่วยสนับสนุนงบประมาณ เพราะมองว่า เป็นสิ่งที่ควรช่วยเหลือ และเหตุการณ์ตากใบไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น การรำลึกก็จะช่วยให้เราจดจำเหตุการณ์นั้น และต่อไปก็ไม่ควรจะให้เกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้นอีก” พล.ท. เกรียงไกร กล่าว
ในวันเดียวกัน นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เขียนบนเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า “การจัดงานรำลึกเหตุการณ์ตากใบในปีที่ 17 มีความหมายอย่างยิ่งทั้งต่อเหยื่อและครอบครัว เพราะจะเป็นการส่งสาส์นไปถึงบรรดาผู้มีอำนาจว่า ชาวตากใบยังคงเก็บรักษาความทรงจำที่ขมขื่น และรอคอยความยุติธรรม โดยย้ำเตือนบรรดาผู้มีอำนาจที่ใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมในการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงโดยไม่ตระหนักถึงคุณค่า และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งความยุติธรรมก็เป็นหนึ่งในคุณค่าและศักดิ์ศรีนั้น”
กมธ. กฎหมาย : พ.ร.บ. ป้องกันอุ้มหายฯ จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเช่นที่ตากใบอีก
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส. จังหวัดนครพนม พรรคเพื่อไทย ในฐานะ ประธาน กมธ. พิจารณา พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า คณะกรรมการกำลังเร่งพิจารณากฎหมายฉบับนี้ เพื่อป้องกันการซ้อมทรมานในอนาคต
“พยายามเร่งให้กฎหมายเสร็จในเดือนนี้ แต่ยังกำหนดแน่ชัดไม่ได้ว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ วันนี้ครบรอบ 17 ปีเหตุการณ์ที่ตากใบ เรารู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เราจะพยายามทำกฎหมายฉบับนี้มาอุดช่องว่างในอดีตที่เคยมีการทรมาน และทำให้กฎหมายสอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยได้ไปลงนามไว้” นายชวลิต กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเอกฉันท์รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย วาระแรก โดยได้มีการตั้ง กมธ. พิจารณาปรับปรุงร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 2 ในอนาคต
ด้าน น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม หนึ่งใน กมธ. พิจารณากฎหมายดังกล่าว ระบุว่า กมธ. หวังว่าจะสามารถทำให้ พ.ร.บ. ป้องกันการอุ้มหายฯ บังคับใช้ได้ก่อนที่คดีเหตุการณ์ที่ตากใบจะหมดอายุความในปี 2567 หรือก่อนครบรอบ 20 ปี
“เราเห็นว่า เหตุตากใบเป็นความไร้มนุษยธรรม และลดทอนศักดิ์ศรีของคน แต่ในตอนที่เกิดเหตุยังไม่มีกฎหมายเอาผิดผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เราจึงหวังให้ พ.ร.บ. ป้องกันการอุ้มหายฯ บังคับใช้ก่อนหมดอายุความ 20 ปี เพื่อจะทำให้กระบวนการยุติธรรมสามารถกลับมาพิจารณารายละเอียดในคดีนี้ได้” น.ส. พรเพ็ญ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
“อุปสรรคในทำกฎหมาย คือ กมธ. ที่เป็นข้าราชการ ไม่กล้าทำกฎหมายเพื่อเอาผิดข้าราชการด้วยกัน เพราะเห็นอกเห็นใจ และเห็นว่า อาจเป็นการจำกัดการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เอง ซึ่งฝ่ายนักสิทธิฯ ก็ยืนยันว่า กฎหมายต้องการเอาผิดเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่จงใจละเมิดกฎหมาย” น.ส. พรเพ็ญ กล่าว
17 ปีเหตุการณ์ตากใบ
ในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ประชาชนจำนวนหนึ่งรวมตัวที่หน้าโรงพักตากใบ เพื่อเรียกร้องให้ตำรวจปล่อยตัว เจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) บ้านโคกกูแว หมู่ 5 ต.พร่อน อ.ตากใบ 6 นาย ซึ่งถูกควบคุมตัวจากคดียักยอกทรัพย์สินราชการ และแจ้งความเท็จ หลังปืนลูกซองยาวของราชการในความรับผิดชอบของ ชรบ. กลุ่มดังกล่าวสูญหาย
ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้เข้าสลายการชุมนุมดังกล่าวด้วยกำลัง ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที 7 ราย มีการควบคุมผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งห่างจาก อ.ตากใบกว่า 150 กิโลเมตร โดยการควบคุมตัวผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ได้ให้ทั้งหมดถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง แล้วเรียงซ้อนทับกันในรถบรรทุกจีเอ็มซี ทำให้มีผู้เสียชีวิตอีก 78 ราย มีผู้สูญหาย บาดเจ็บ และจำนวนหนึ่งกลายเป็นผู้พิการ
เดือนพฤษภาคม 2552 ศาลจังหวัดสงขลาได้อ่านคำสั่งไต่สวนการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ดังกล่าว ระบุว่า ผู้ชุมนุมเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ ระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าพนักงานที่ซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2555 ญาติของผู้เสียชีวิตได้อุทธรณ์ต่อศาลให้เพิกถอนคำสั่งไต่สวนการเสียชีวิตดังกล่าว แต่ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง ทำให้ถึงปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้น ไม่มีใครต้องรับโทษจากการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม
ต่อมาปี 2556 รัฐบาลได้อนุมัติจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ตากใบ ซึ่งเป็น ญาติของผู้เสียชีวิต 85 ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บ 49 ราย รวมเป็นเงิน 641.45 ล้านบาท