ศาลยกฟ้อง พานทองแท้ คดีฟอกเงินธนาคารกรุงไทย-กฤษดามหานคร
2019.11.25
กรุงเทพฯ

ในวันจันทร์ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษายกฟ้อง นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในความผิดข้อหาฟอกเงิน และร่วมกันฟอกเงิน ในคดีซึ่งเกี่ยวข้องกับคดีที่ธนาคารกรุงไทยทุจริตปล่อยกู้ให้กับ บริษัท กฤษดานคร จำกัด ในปี 2546 เพราะพยานหลักฐานไม่มีน้ำหนักเพียงพอ
นายพานทองแท้ ชินวัตร หรือโอ๊ค เดินทางมาถึงศาลฯ ในเวลาประมาณ 09.45 น. พร้อมกับครอบครัว และอดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทยหลายคน เพื่อมาฟังคำพิพากษาคดีที่ตนเองตกเป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5, 9, 60 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2558 มาตรา 10 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 จากกรณีรับโอนเงินเป็นเช็คจำนวน 10 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่า เงินจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดกรณีการทุจริตปล่อยกู้สินเชื่อของธนาคารกรุงไทยให้แก่ กลุ่มบริษัท กฤษดามหานคร ในช่วงปี 2546 ซึ่งเป็นขณะที่ นายทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
“พิพากษา ยกฟ้อง… พยานหลักฐานฟังไม่ได้ว่า จำเลยรู้ว่าเงินที่ได้มาเป็นเงินที่ได้มาจากการทำความผิด เมื่อจำเลยไม่รู้ จึงยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยสมคบกับ นายวิชัย กฤษดาธานนท์ ฟอกเงิน ... คดีนี้โจทก์มีพยานหลักฐานเกี่ยวกับบุตรชายของนายวิชัย กฤษดาธานนท์ ที่ได้เงินกู้จากธนาคารกรุงไทยและจำเลยเป็นเพื่อนของบุตรชายนายวิชัย โดยไม่ได้มีหลักฐานว่า มีความสัมพันธ์กันเป็นพิเศษแต่อย่างใด” คำพิพากษา ระบุ
คำพิพากษา ระบุด้วยว่า ขณะที่นายพานทองแท้รับโอนเงินจำนวนดังกล่าว มีอายุเพียง 26 ปี ซึ่งมีเงินอยู่แล้วมากกว่า 4,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเงินจำนวน 10 ล้านบาทที่ได้รับ คิดเป็นเพียง 0.0025% เท่านั้น และคิดเป็นเพียง 0.001% ของเงินกู้ที่กฤษดามหานครได้รับ คือ สูงกว่า 10,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ฝ่ายโจทก์ยังให้การว่า เจ้าหน้าที่ยังไม่แน่ใจว่าเป็นเงินที่ได้จากการกระทำความผิดจริงหรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่เองยังต้องรอคำพิพากษาจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก่อนว่า มีการทุจริตเกิดขึ้นจึงนำมาฟ้อง
หลังฟังคำพิพากษา นายพานทองแท้ ได้ก้มคารวะแสดงความขอบคุณต่อหน้าศาล ขณะที่คุณหญิงพจมาน ณ ป้องเพชร มารดา นางพิณทองทา และนางแพรทองธาร ชินวัตร น้องสาวต่างยิ้มแสดงความดีใจ
อย่างไรก็ดี ผู้พิพากษาท่านหนึ่งซึ่งนั่งอยู่บนบัลลังก์ กล่าวต่อนายพานทองแท้ และทีมทนายความว่า คำพิพากษานี้ไม่ได้มีเสียงเป็นเอกฉันท์ และไม่มีเสียงข้างมาก เนื่องจากมีความเห็นแย้งซึ่งได้พิพากษาให้ลงโทษจำเลยเป็นเวลา 4 ปี พร้อมปรับจำเลยจำนวนหนึ่ง จึงขอให้จำเลยไปศึกษาความเห็นแย้งที่จะได้ระบุไว้หลังคำพิพากษาด้วย ทั้งนี้ ผู้พิพากษาย้ำต่อจำเลยและผู้ร่วมฟังการพิจารณาว่า การพิจารณาครั้งนี้ เป็นการพิจารณาไปตามหลักกฎหมายอย่างแท้จริง
หลังเสร็จสิ้นการฟังคำพิพากษา นายพานทองแท้ ได้เข้าสวมกอดทนาย ขณะที่น้องสาวได้แสดงความขอบคุณต่อทีมทนาย และก่อนเดินทางออกจากศาลด้วยรถตู้ส่วนตัว นายพานทองแท้ ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน แต่กล่าวสั้นๆว่า “โล่งอก… ขอบคุณทุกกำลังใจ” ขณะที่ คุณหญิงพจมาน ระบุว่า “สบายใจขึ้น”
อย่างไรก็ดี อัยการในคดีนี้ กล่าวกับผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์สั้นๆว่า หลังจากนี้ จะได้ทำรายงานคำพิพากษาในวันนี้เสนอต่อคณะทำงาน เพื่อประชุมพิจารณาว่าจะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลสูงหรือไม่ ซึ่งหากที่ประชุมอัยการมีความเห็นเป็นอย่างไร จะได้แจ้งไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) ในฐานะพนักงานสอบสวนว่าเห็นด้วยหรือไม่ โดยอัยการสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลได้ภายใน 30 วัน
ประวัติคดีฟอกเงินกรุงไทย-กฤษดามหานคร
คดีของนายพานทองแท้คดีนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2558 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านพิพากษาในคดีที่ สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร และพวก ซึ่งเป็นผู้บริหารธนาคารกรุงไทย พนักงานธนาคารกรุงไทย และพนักงานบริษัทเอกชนหลายแห่งรวมถึงบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด รวม 27 คนเป็นจำเลย ในความผิดตามพระราชบัญญติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502, พระราชบัญญัติ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และประมวลกฎหมายอาญา จากการที่ธนาคารกรุงไทยอนุมัติเงินกู้ 9.9 พันล้านบาท ให้กับบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด ซึ่งขณะนั้น มียอดขาดทุนสะสมสูง และอาจไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้ และเชื่อว่า นายทักษิณอยู่เบื้องหลังการกระทำครั้งนี้ และมีจำเลยรายอื่นให้การสนับสนุน
ศาลได้พิพากษาสั่งให้ จำเลย 24 คนจากทั้งหมดมีความผิด และถูกจำคุก 12 ราย จำเลย 2 รายได้รับการยกฟ้อง ขณะที่คดีส่วนของนายทักษิณถูกจำหน่ายเนื่องจาก ไม่ได้มารายงานตัวต่อศาล เพราะหลบหนีอยู่ในต่างประเทศ โดยในนั้น นายวิชัย กฤษดาธานนท์ อดีตผู้บริหารเครือกฤษดามหานคร ถูกพิพากษาให้จำคุก 12 ปี
ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2561 คดีทุจริตปล่อยกู้กฤษดานครฯ ดังกล่าว ถูกกลับมาทำใหม่อีกครั้งในส่วนของนายทักษิณ โดยอ้างคำให้การในชั้นศาลของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีที่ระบุว่า “บิ๊กบอส” เป็นคนสั่งให้ธนาคารกรุงไทย ปล่อยกู้ให้กับกฤษดามหานคร และพบหลักฐานว่า นายพานทองแท้ และคนใกล้ชิดของนายทักษิณ ได้รับการโอนเงินจากนายวิชัย กฤษดาธานนท์ อดีตผู้บริหารบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ตัดสินยกฟ้องนายทักษิณ ในคดีทุจริตปล่อยกู้กฤษดามหานคร หลังคำให้การของพยานไม่มีน้ำหนักพอที่จะระบุได้ว่า นายทักษิณ เป็นบิ๊กบอสที่สั่งการในคดีนี้จริง
ขณะที่คดีในส่วนของ นายพานทองแท้ ซึ่งรับเช็ค 10 ล้านบาท จากนายรัชฎา กฤษดาธานนท์ บุตรชายของนายวิชัย ในปี 2546 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เห็นว่า การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายการฟอกเงิน จึงส่งสำนวนให้กับสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็น สั่งฟ้องนายพานทองแท้ในวันที่ 10 ตุลาคม 2561 กระทั่งคดีมีคำพิพากษาในวันจันทร์นี้