ศาลอาญายกฟ้อง “ทอม ดันดี” คดี ม.112
2018.03.29
กรุงเทพฯ

ในวันพฤหัสบดีนี้ ศาลอาญา กรุงเทพฯ พิพากษายกฟ้องคดีความผิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ม.112 ต่อนายธานัท ธนวัชรนนท์ หรือ “ทอม ดันดี” อดีตนักร้องเพลงเพื่อชีวิต จากการปราศรัยพาดพิง ในหลวง ร.9 ที่ จ.ลำพูน ในปี 2554 โดยศาลตัดสินว่า คำฟ้องของโจทก์ไม่ชัดเพียงพอเอาผิด แม้จำเลยรับสารภาพก็ตาม
ในตอนบ่ายวันนี้ ผู้พิพากษาขึ้นบัลลังก์อ่านคำพิพากษาในห้องพิจารณาคดี 803 ศาลอาญา รัชดาภิเษก คดีหมายเลข ดำ อ.47/61 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 6 เป็นโจทก์ฟ้อง นายธานัท ธนวัชรนนท์ หรือ ทอม ดันดี อายุ 59 ปี อดีตนักร้องเพลงเพื่อชีวิต เป็นจำเลยในความผิดฐานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการปราศรัยในงาน “แรงงานสร้างบ้านแป๋งเมือง” ที่ ต.ป่าสัก อ.เมือง จ.ลำพูน เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2554 ซึ่งมีการพูดพาดพิงถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
“ศาลพิเคราะห์คำฟ้องของอัยการโจทก์แล้วเห็นว่า ข้อความที่โจทก์บรรยายฟ้อง ยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอว่า จำเลยหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185 (1) พิพากษายกฟ้อง” คำพิพากษาระบุ
นายธานัท ได้แสดงอาการดีใจด้วยรอยยิ้มเพียงเล็กน้อย ในขณะที่ญาติ และเพื่อนของนายธานัทกว่า 10 คน ที่ได้ร่วมฟังการพิจารณาคดีในวันนี้ ทุกคนมีใบหน้าที่ยิ้มแย้ม บางคนถึงกับหลั่งน้ำตาด้วยความดีใจ ที่ผลคำตัดสินออกมาในทิศทางที่ดี
ด้าน น.ส.นัน (สงวนนามสกุล) ภรรยาของนายธานัท ซึ่งมาร่วมฟังคำพิพากษา เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า รู้สึกดีใจกับคำพิพากษายกฟ้อง
“ที่ผ่านมาไม่ว่าสถานการณ์ไหนเราและพี่ทอมก็ไม่เคยร้องไห้ วันนี้เป็นครั้งแรกที่ร้องไห้ดีใจกับคำตัดสินยกฟ้อง ตั้งแต่เขาถูกควบคุมตัวก็พยายามไปเยี่ยมทุกวันที่เรือนจำอนุญาต พยายามให้กำลังใจกัน คิดในด้านบวก ตัวพี่ทอมเองก็ไม่เคยเครียด พยายามสร้างกำลังใจซึ่งกันและกัน” น.ส.นันกล่าว
“ตั้งแต่ถูกคุมตัวมา พี่ทอมไม่เคยเรียกร้อง ไม่เคยกดดัน ไม่เคยต้องการอะไร เราเองก็ไม่เรียกร้อง ไม่อยากทำให้ไม่สบายใจ เดี๋ยวมีขึ้นศาลที่ราชบุรีอีก วันที่ 23 เมษายน คุยกับพี่ทอมแล้ว เขาตั้งใจจะสารภาพอีก” น.ส.นันกล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ นายธานัท โดนฟ้องคดีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวน 4 คดี คือ คดีของศาลทหาร หมายเลขแดง อ.1607/59 ซึ่งศาลทหารพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี 4 เดือน ส่วนคดีที่ 2 เป็นคดีที่ศาลอาญา หมายเลขแดงที่ 58ก/59 พิพากษาจำคุก 7 ปี 6 เดือน คดีที่ 3 คือคดีที่ได้รับการยกฟ้องในวันพฤหัสบดีนี้ และคดีที่ 4 ที่ศาลจังหวัดราชบุรี ศาลนัดตรวจหลักฐาน และสอบคำให้การวันที่ 23 เมษายน 2561 รวมนายธานัท ถูกตัดสินให้จำคุกเป็นเวลา 10 ปี 10 เดือน ซึ่งนายธานัทถูกควบคุมตัวตั้งแต่ชั้นสอบสวนในเดือนมิถุนายน 2557 ทำให้ปัจจุบัน เหลือโทษจำคุกประมาณ 7 ปี และถูกควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ แดน 1 ต่อไป
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) สรุปสถิติทางเสรีภาพหลังจากการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2560 มีผู้ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 หมิ่นเบื้องสูง อย่างน้อย 82 คน โดยเจ้าหน้าที่ไอลอว์ระบุว่า คดีของนายธานัทนับเป็นคดีแรกที่มีการบันทึกว่า คดีความผิด ม.112 ได้รับการตัดสินยกฟ้อง แม้จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลภูเขียวยกฟ้องไผ่ ดาวดิน คดีประชามติฯ
ในวันเดียวกัน ศาลจังหวัดภูเขียว อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ อ่านคำพิพากษายกฟ้องไผ่ ดาวดิน คดีขัด พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 ซึ่งอัยการจังหวัดภูเขียวเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน และนายวศิน พรหมณี นักศึกษาซึ่งจัดรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ในปี 2559 ในข้อหาฝ่าฝืนพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ (พ.ร.บ.ประชามติฯ) มาตรา 61 วรรค 2 จากการร่วมกันสวมเสื้อ ซึ่งมีข้อความ “โหวตโน ไม่รับอนาคตที่ไม่ได้เลือก” และเดินแจกเอกสารความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ เอกสาร 7 เหตุผลที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และเอกสารแถลงการณ์ของคณะนิติราษฎร์ ให้กับประชาชนในตลาดที่ตลาดสดภูเขียว เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2559 ก่อนการทำประชามติฯหนึ่งวัน
ซึ่งอัยการเห็นว่าเป็นการก่อความวุ่นวายไม่ให้การออกเสียงประชามติเป็นได้ด้วยความเรียบร้อย มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานที่ให้พิมพ์ลายนิ้วมือ ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 พ.ศ. 2549 มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท
ศาลพิพากษาว่า ข้อหาขัด พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 นั้น จำเลยทั้งสองได้ทำการแจกเอกสาร 7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจริง
“เห็นว่า การแจกเอกสารดังกล่าวเป็นไปโดยการใช้สิทธิเสรีภาพตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 7 พ.ร.บ.ประชามติฯ อีกทั้งการกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เข้าข่ายการปลุกระดมให้ประชาชนเกิดการลุกฮือ เป็นแต่เพียงการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพที่สามารถทำได้ และเนื้อหาใน เอกสาร 7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ถือเป็นการบิดเบือน เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น ศาลจึงสั่งให้ยกฟ้อง และคืนของกลางทั้งหมดให้จำเลย” คำพิพากษาตอนหนึ่งระบุ
ขณะเดียวกันศาลพิพากษาให้ลงโทษจำเลยในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ ให้ปรับ 1,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ปรับเหลือ 500 บาท
สำหรับ นายจตุภัทร์ ถูกตัดสินให้ลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2560 จากความผิด ม.112 หมิ่นเบื้องสูง และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์รายงานข่าวของสำนักข่าวบีบีซีไทย (BBC Thai) เรื่อง“พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” บนหน้าเฟซบุ๊คของตนเอง ซึ่งถือเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊ครายเดียวที่ถูกดำเนินคดีจากทั้งหมดกว่า 2 พันคนที่แชร์ข่าวดังกล่าวต่อ ปัจจุบัน นายจตุภัทร์จึงถูกควบคุมตัวในเรือนจำจังหวัดขอนแก่น