หน่วยงานสังกัดกลาโหมตัดงบ 18,000 ล้านบาท คืนคลังสู้โควิด

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2020.04.22
กรุงเทพฯ
200422-TH-COVID-military-budget-1000.jpg ทหารไทยและทหารอเมริกัน กองกำลังทางบกประจำภาคพื้นแปซิฟิก กองทัพสหรัฐอเมริกา ขับเคลื่อนรถยานเกราะสไตรเกอร์ ระหว่างพิธีส่งมอบที่ กองบัญชาการกองทัพบก กรุงเทพฯ วันที่ 12 กันยายน 2562
ภิมุข รักขนาม/เบนาร์นิวส์

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ชี้แจงในวันนี้ว่า หน่วยงานสังกัดกระทรวงกลาโหม ได้ตัดงบประมาณหรือเลื่อนโครงการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ในปีงบประมาณ 2563 เป็นยอดเงินจำนวน 18,000 ล้านบาท เพื่อส่งคืนให้รัฐบาลได้นำมาใช้ในการดำเนินการต่อสู้กับโรคระบาดโควิด

ทั้งนี้ สังคมได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์ทหารว่า ไม่ควรซื้ออาวุธ ในขณะที่ประชาชนกำลังเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งสภาหอการค้าไทยคาดว่า อาจจะมีคนตกงานมากถึงสิบล้านคน

“ในภาพรวมของกระทรวงกลาโหม มีการปรับลดไปจากหน่วยงานในสังกัดประมาณ 7 หน่วยงาน รวมทั้งเหล่าทัพด้วย ซึ่งยอดงบประมาณรวมประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะต้องถูกนำผ่านไปในรูปแบบของพระราชบัญญัติการโอนงบประมาณของกระทรวงกลาโหม ซึ่งตัวเลข 1.8 หมื่นล้านบาท เป็นตัวเลขที่สูง เมื่อเทียบกับในกระทรวงอื่นๆ” พ.อ.วินธัย กล่าวในการแถลงข่าวในวันนี้

พ.อ.วินธัย ได้กล่าวอธิบายว่า โครงการใดที่ไม่ได้ผูกพันการชำระข้ามปีงบประมาณนั้น ทางหน่วยงานต่างๆ ได้ตัดโครงการออกไปก่อนได้ทั้งหมด แต่ในส่วนของโครงการที่มีงบประมาณผูกพันนั้น ให้จ่ายเงินได้กึ่งหนึ่งของยอดในแต่ละปีงบประมาณนั้น

“ตามหลักเกณฑ์ และนโยบายของกระทรวงกลาโหมนั้น ถ้าเป็นโครงการที่ยังไม่มีการผูกพันก็จะตัดทั้งหมด แต่สำหรับโครงการไหนที่มีการผูกพันแล้วก็คงไว้ จะต้องตัดอย่างน้อยต้องครึ่งหนึ่ง สรุปแล้วเหลือครึ่งเดียว เพราะฉะนั้นในงบปี 63 ทำให้โครงการขนาดใหญ่ ๆ มีทั้งรถถัง ปืนใหญ่ หรือเรดาร์ก็ตาม โครงการพวกนี้ก็จะถูกตัดทั้งหมดอยู่แล้ว” พ.อ.วินธัย กล่าวเพิ่มเติม

พ.อ.วินธัย ระบุอีกว่า กองทัพบกได้ชะลอโครงการใหญ่ สำหรับโครงการระดับกลาง หรือโครงการย่อย ๆ ในงบประมาณปี 63 ไปประมาณ 26 โครงการ

อย่างไรก็ตาม กองทัพบก ยังได้คงไว้ซึ่งโครงการจัดซื้อยานเกราะสไตรเกอร์ล็อตใหม่ จำนวน 50 คัน มูลค่า 4.5 พันล้านบาท

“ส่วนกรณีของยานเกราะล้อยางสไตรเกอร์นั้น ซึ่งอยู่ในกลุ่มของโครงการที่มีการผูกพันแล้ว ซึ่งในการผูกพันนั้น มันเป็นตามขั้นตอนเบิกจ่ายในเกณฑ์ของกรมบัญชีกลาง คือ ในปีแรกจะใช้ได้แค่ 10 เปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว ก่อนปรับลด ก็คือมีแผนจะใช้งบของปี 63 ประมาณ 900 ล้านบาท แต่เนื่องจากตามหลักเกณฑ์ที่เรียนไปแล้ว เดิมจะใช้ 900 ก็ต้องเหลือ 450 สไตรเกอร์มีอยู่ แต่จะใช้จ่ายงบปี 63 ได้แค่ 450 ล้านเท่านั้น” พ.อ.วินธัย กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ในล็อตแรก กองทัพบก ได้สั่งซื้อยานเกราะสไตรเกอร์มือสองที่ซ่อมทำใหม่หมด (รวมกับที่สหรัฐให้เปล่าอีกจำนวนหนึ่ง) โครงการตามความช่วยเหลือของไทย-สหรัฐ หรือ FMS ซึ่งกองทัพสหรัฐได้ทำพิธีส่งมอบล็อตแรก โดยได้ทำพิธีส่งมอบสิบคันแรก เมื่อเดือนกันยายน ปีที่แล้ว

พ.อ.วินธัย กล่าวว่า โครงการนี้ อาจจะมีลักษณะพิเศษ เนื่องจากกองทัพบกไทยกับสหรัฐมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน โดยสหรัฐได้จัดชุดครูฝึกมาสอนการขับรถ หรือรูปแบบของการใช้รถนี้ทางยุทธวิธี และเทคนิคต่าง ๆ การสนับสนุนชิ้นส่วนอะไหล่ การซ่อมบำรุง รวมถึง ที่นั่งสำหรับที่จะไปศึกษาในต่างประเทศ รวมถึงการสร้างโรงซ่อมที่ได้มาตรฐานสูงในการดูแลรักษายานพาหนะ นอกจากนั้น ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สหรัฐยังได้รับการช่วยเหลือเรื่องกระสุน มูลค่าถึง 6 แสนเหรียญ อีกด้วย

กองทัพเรือเลื่อนการซื้อเรือดำน้ำอีกสองลำ

ในส่วนของกองทัพเรือนั้น ได้ตัดงบประมาณ 4,100 กว่าล้านบาท หรือคิดเป็น 33 เปอร์เซ็นต์

“จะชะลอการดำเนินการโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ลำที่ 2 และ 3 ที่แม้จะเป็นการใช้งบประมาณในส่วนของกองทัพเรือเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงบประมาณของกระทรวง ทบวง กรมอื่น แต่ประการใด... ในการนี้ จึงส่งผลให้โครงการดังกล่าว จำเป็นต้องชะลอออกไป ในปีงบประมาณ 64 รวมถึง การชะลอโครงการก่อสร้างท่าจอดเรือดำน้ำฯ และ โครงการซ่อมบำรุงเรือดำน้ำฯ ที่ต้องปรับลดวงเงินปีแรกลง ทำให้การเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวก รองรับเรือดำน้ำลำแรก ต้องล่าช้าออกไปด้วย” พล.ร.ท.ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ โฆษกกองทัพเรือ ชี้แจงแก่ผู้สื่อข่าวเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

พล.ร.ท.ประชาชาติ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการชะลอโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ที่สำคัญ อาทิ โครงการซ่อมปรับปรุงเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ โครงการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูล Network Centric โครงการจัดหาเครื่องฝึกจำลองยุทธ์ โครงการจัดหาระบบอาวุธปืนรองฯ ตลอดจนโครงการก่อสร้างอาคารพัก 64 ครอบครัวฯ ทุกโครงการก็จะต้องชะลอการดำเนินการไปตามความจำเป็น หรือจะต้องปรับลดวงเงินปีแรกลงไปก่อน

กองทัพอากาศยุติแผนจัดซื้อเครื่องบินฝึก T-50 TH สองลำ

ในส่วนของกองทัพอากาศ พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าว ทางกองทัพอากาศได้ตัดงบประมาณลงกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ โดยได้ระงับการจัดซื้อเครื่องฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น T-50 (ระยะที่ 4 ) จำนวน 2 เครื่อง วงเงิน 2,450 ล้านบาท (ผูกพันงบประมาณ 2563-2565) จากประเทศเกาหลีใต้ไว้ก่อน

ทั้งนี้ กองทัพอากาศไทยต้องการจัดหาเครื่องบินฝึก T-50 TH รวม 16 ลำ เพื่อทดแทนเครื่องบินฝึกแบบ L-39 ที่ใช้งานมานาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง