ศาลสงขลา นัดเริ่มไต่สวนสาเหตุการตายของ 'อับดุลเลาะ อีซอมูซอ' เดือนพฤศจิกายน

มารียัม อัฮหมัด
2020.06.29
ปัตตานี
200629-TH-custody-death-1000.jpg นายโมฮำหมัดรอฮมัด มามุ ลูกพี่ลูกน้องของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ (ขวามือสุด) พูดคุยกับนางสาวพรรณิการ์ วานิช (ซ้ายมือสุด) อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ ที่บ้านพักในหมู่บ้านเจาะกีแย ตำบลตะบิ้ง อำเภอสายบุรี ปัตตานี วันที่ 28 มิถุนายน 2563
ภาพโดย โมฮำหมัดรอฮมัด มามุ

ในวันจันทร์นี้ ศาลจังหวัดสงขลา ได้ตรวจพยานหลักฐานเพื่อการไต่สวน เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตของ นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นสมาชิกขบวนการก่อความไม่สงบ ซึ่งเสียชีวิตขณะถูกซักถามในค่ายทหาร จังหวัดปัตตานี เมื่อเดือนสิงหาคม ปีที่แล้ว โดยศาลได้นัดสืบพยานครั้งต่อไป ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 และจะมีพยานทั้งสิ้น 30 ปากขึ้นให้การ

นางซูไมยะห์ มิงกะ ภรรยาของนายอับดุลเลาะ พร้อมด้วย นายโมฮำหมัดรอฮมัด มามุ ลูกพี่ลูกน้องของนายอับดุลเลาะ รวมทั้งชาวบ้านกว่า 10 คน ได้เดินทางไปขึ้นศาลจังหวัดสงขลา พร้อมด้วยนายปรีดา นาคผิว ทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม นายสากีมัน เบญจเดชา ทนายความมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดปัตตานี และคณะทนายความ โดยคดีของนายอับดุลเลาะ หมายเลขดำที่ ช.1/2563 ของศาลจังหวัดสงขลา เป็นการร้องขอของพนักงานอัยการให้ศาลไต่สวนการตายของนายอับดุลเลาะ ตามที่นางซูไมยะห์ได้ยื่นคำร้อง

“ฉันตื่นเต้นและกลัวมากวันนี้ เพราะเป็นการขึ้นศาลครั้งแรก ทำตัวไม่ถูก วันนี้ไม่ได้ทำอะไร ศาลนัดพร้อมและตรวจเอกสาร และนัดครั้งหน้าในช่วงพฤศจิกายน และธันวาคม 63” นางซูไมยะห์ กล่าวแก่สื่อมวลชน

นายปรีดา นาคผิว ทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า คดีไต่สวนการตายของนายอับดุลเลาะนั้น นางซูไมยะห์ ได้มอบหมายให้ทนายค้นหาความจริงร่วมกับพนักงานอัยการ โดยจะนำสืบพยานบุคคล และหลักฐาน

“คดีนี้ ตามหลักการถือว่าทั้งพนักงานอัยการและฝ่ายญาติของผู้ตาย โดยทนายความของนางซูไมยะห์ ร่วมกันค้นหาความจริง โดยการนำสืบพยานบุคคลและหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ทหารได้กระทำต่อนายอับดุลเลาะ ตั้งแต่การควบคุมตัวจากบ้านไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร วิธีการซักถาม ซึ่งฝ่ายทหารเรียกว่า ดำเนินกรรมวิธี การควบคุมดูแลภายในค่าย ตลอดจนการรักษาพยาบาล เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงถึงที่มาของการหมดสติของนายอับดุลเลาะ ภายในห้องควบคุมในค่ายอิงคยุทธบริหาร และต่อมาเสียชีวิตที่โรงพยาบาล” นายปรีดา กล่าว

“ทนายความของญาติผู้ตาย จะนำสืบถึงพยานหลักฐานที่คณะกรรมการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งแต่งตั้งโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ได้สอบข้อเท็จจริงกรณีนายอับดุลเลาะด้วย โดยวันนี้ ศาลจังหวัดสงขลานัดตรวจพยานหลักฐานของพนักงานอัยการ และนางซูไมยะห์ โดยพนักงานอัยการมีความประสงค์นำพยานสืบ 20 ปาก และฝ่ายภรรยานายอับดุลเลาะมีความประสงค์สืบพยาน 10 ปาก ได้กำหนดวันนัดไต่สวนพยานในวันที่ 24-26 พฤศจิกายน 2563 และวันที่ 15-18 ธันวาคม 2563” นายปรีดา กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ในส่วนของสาเหตุเสียชีวิตนั้น คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทราบว่า มาจากรายงานแพทย์ อาการปอดอักเสบติดเชื้ออย่างรุนแรง severe pneumonia และมีภาวะพิษเหตุติดเชื้อ septic shock สาเหตุนำมาจาก ภาวะสมองขาดเลือด และขาดออกซิเจน hypoxic ischemic encephalopathy

ด้าน นายโมฮำหมัดรอฮมัด มามุ ลูกพี่ลูกน้องของนายอับดุลเลาะ ที่เดินทางไปที่ศาลจังหวัดสงขลาด้วย เปิดเผยว่า ความครัวจะต่อสู้เพื่อให้รู้ความจริงในเรื่องนี้ แม้จะมีความหวังเพียงน้อยนิดก็ตาม

“เราอยากให้หาตัวคนทำผิดมาลงโทษ แต่ในความเป็นจริง คดีนี้ถึงแม้จะเข้าสู่กระบวนการศาล มันเป็นไปได้ยากที่รัฐจะกลายเป็นคนทำผิด” นายโมฮำหมัดรอฮมัด กล่าว

เมื่อเดือนสิงหาคม ปีที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวตอบคำถามผู้สื่อข่าว “ก็พร้อมที่จะให้ข้อมูลต่างๆ เพิ่มเติม ในส่วนนี้จริงๆ แล้ว ผมจำได้ว่าเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ก็ได้มีการชี้แจงโดยโรงพยาบาลสามแห่ง ทั้งโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร โรงพยาบาลปัตตานี โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ ก็ได้รายงานตรงกันว่า ร่างกายของอับดุลเลาะ เป็นปกติ ไม่มีร่องรอยการถูกทำร้ายร่างกายทั้งจากภายในภายนอก อันนี้ ก็มาจากแพทย์

ในวันนี้ ทนายความปรีดา กล่าวว่า ศาลอนุญาตให้เพียงนางซูไมยะห์ และพี่สาวอีก 2 คนของนายอับดุลเลาะ เข้าฟังการไต่สวนของศาล ขณะที่ญาติ และประชาชนที่สนใจคดี ไม่อนุญาตให้เข้าฟัง โดยศาลให้เหตุผลว่า เป็นมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ทางทีมทนายความ ได้ร้องขอต่อศาลให้การสืบพยานครั้งต่อไปใช้ห้องพิจารณาคดีที่มีขนาดกว้างมากขึ้น เนื่องจากเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่สังคมสนใจ มาก แต่ด้วยขนาดห้องที่เล็กทำให้หลายคนไม่สามารถเข้าไปฟังได้ อย่างไรก็ตาม ศาลยังไม่ได้ระบุว่า จะมีการเปลี่ยนห้องพิจารณาหรือไม่

ย้อนเหตุการณ์เสียชีวิต

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2562 นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ อายุ 34 ปี ถูกควบคุมตัวภายใต้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในหน่วยซักถาม หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 43 ค่ายอิงยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ในฐานะผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง หลังจากที่ถูกซัดทอดโดย นายอิบรอเฮงระ มะเซ็ง ผู้ก่อการร้ายระดับแกนนำ ที่ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2562 ซึ่งอ้างว่า นายอับดุลเลาะช่วยเหลือสนับสนุนการก่อเหตุในพื้นที่ อ.สายบุรี ปัตตานีหลายครั้ง โดยเจ้าหน้าที่ ได้เชิญตัวนายอัลดุลเลาะจากบ้านพักใน ต.ตะบิ้ง อ.สายบุรี มาซักถาม โดยผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และภรรยาอยู่ในเหตุการณ์

ต่อมาเมื่อเวลาตีสาม ของวันที่ 21 กรกฎาคม 2562 นายอับดุลเลาะ หมดสติหลังจากเข้ากระบวนการซักถามยาวนาน 10 ชั่วโมง ณ หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 43 ค่ายอิงยุทธบริหาร นายอับดุลเลาะจึงถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร และโรงพยาบาลจังหวัดปัตตานี ก่อนส่งตัวต่อไปยังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ในอำเภอหาดใหญ่ สงขลา เขาไม่ได้สติอีกเลยกระทั่งเสียชีวิตที่นั่นในวันที่ 25 สิงหาคม 2562 ซึ่งแพทย์ระบุว่า สาเหตุการเสียชีวิต มาจากอาการปอดอักเสบ ติดเชื้อ และมีภาวะเป็นพิษจากการติดเชื้อ

ปลายเดือนสิงหาคม 2562 นายอับดุลอซิซ ตาเดอินทร์ กรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แถลงผลการตรวจของแพทย์ระบุว่า ไม่พบร่องรอยการถูกซ้อมทรมาน บนร่ายกายของนายอับดุลเลาะ

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ครอบครัวของนายอับดุลเลาะได้เข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรหนองจิก ปัตตานี ซึ่ง พ.ต.ท.จักรกฤติ แสงจันทร์ รองผู้กำกับการ สถานีตำรวจภูธรหนองจิก ได้รับเรื่องร้องทุกข์จากญาติและทนายความแล้ว หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ และเรื่องเข้าสู่กระบวนการของศาลในวันนี้

องค์กรสิทธิฯ จี้รัฐสอบสวนทันที

ส่วน องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ (HRW) ก็ได้ออกแถลงการณ์ ทันที หลังจากการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ เมื่อปีที่แล้ว

“ฝ่ายทหารไม่สามารถแม้แต่จะให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อนายอับดุลเลาะ ที่หน่วยซักถาม สาเหตุของการขาดออกซิเจน และวิธีการที่ทหารใช้ในการซักถามเขา” องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในแถลงการณ์ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ในเดือนสิงหาคม 2562

“นอกจากนี้ กอ.รมน. ภาค 4 ได้อ้างว่า กล้องวงจรปิดที่ติดตั้งที่หน่วยควบคุมตัวนั้นไม่ได้ออนไลน์ในเวลานั้น จึงไม่มีเทปบันทึก หรือหลักฐานอื่นใดที่ใช้ประกอบการสอบสวนได้” ฮิวแมนไรท์วอทช์ยังเรียกร้องให้มีการดำเนินการสอบสวนคดีให้เสร็จสิ้น

“การเสียชีวิตของ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ เป็นคดีทดสอบสำคัญว่า รัฐบาลไทยจะดำเนินการกับคดีการละเมิดสิทธิในระหว่างการควบคุมตัวของทหารหรือไม่” นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการประจำภาคพื้นเอเชีย องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าว “ทางการไทยต้องแสดงให้เห็นว่า พวกเขาจริงจังที่จะให้มีการดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นอิสระ และดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดหรือ การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทหารที่เสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมายอีกคดีหนึ่ง”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง