ผู้ร่วมเสวนามองร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2016.12.23
กรุงเทพฯ
TH-cyber-protest-1000 กลุ่มนักศึกษารวมตัวประท้วงคัดค้านร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2559
เอเอฟพี

ในวันศุกร์ (23 ธันวาคม 2559) นี้ ที่งานเสวนา “ก้าวต่อไปของผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต หลัง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2559” ผู้ใช้และผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตจากหลายสาขาอาชีพได้วิพากษ์-วิจารณ์ถึงร่างกฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เมื่อ 16 ธันวาคมที่ผ่านมาโดยผู้ร่วมเสวนามองว่า ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่...) พ.ศ. ...(ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กล่าวถึงข้อดีของร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯฉบับใหม่ เช่น มาตรา 14 โดยระบุว่าได้ถูกปรับแก้ไขให้ดีขึ้นแล้ว

“มาตรา 14(1) เดิมกฎหมายต้องการจะฟ้องเกี่ยวกับเรื่องปลอมตัวตนในเว็บไซต์ หรือเอาเว็บไซต์ไปหลอกเงินที่ผ่านมา 9-10 ปีถูกใช้ในการฟ้องแบบหมิ่นประมาท หลังจากนี้ไป ผลบังคับใช้ที่เกิดขึ้น คือ คดีที่ฟ้องหมิ่นประมาทร่วมกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯในเรื่องการใส่ความ ศาลจะยกฟ้องหมดเลย หลังจากนี้ถ้ามีการตัดต่อภาพ บิดเบือน แล้วไปฟ้องหมิ่นประมาทด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯจะไม่มีแล้ว” นายไพบูลย์กล่าว

นายไพบูลย์เชื่อว่า คดีหมิ่นประมาทที่ฟ้องด้วย มาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จะลดลงกว่า 5 หมื่นคดี ซึ่งจะช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ด้านยุติธรรมด้วย

ในประเด็นเดียวกันนี้ นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา ในฐานะผู้ให้บริการข้อมูลข่าวผ่านเว็บไซต์มองว่า ตัวบทกฎหมายในมาตรา 14 ของร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไม่น่ากลัวเท่ากับการดุลยพินิจของเจ้าหน้ารัฐที่ใช้อำนาจตามกฎหมาย

“พอดูตัวบทบัญญัติตามกฎหมายทั้งหมดไม่ได้น่ากลัว แต่น่ากลัวที่กระบวนการใช้ดุลพินิจ ใช้อำนาจในบรรยากาศแบบนี้ และบรรยากาศแบบนี้จะอยู่นานแค่ไหนก็ไม่รู้ เพราะวันหนึ่งผู้มีอำนาจอาจบอกไม่พอใจขึ้นมา ..ไปแจ้งความตามมาตรา 14(1) บรรยากาศนี้ทำให้ผู้ให้บริการกลัวมาก” นายประสงค์กล่าว

นายประสงค์ยังได้กล่าวถึงมาตรา 20 ของร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองคำสั่งปิดบล็อคเว็บไซต์ โดยระบุว่า ไม่ไว้วางใจระบบดังกล่าว

“เราอย่าไปไว้ใจว่า คนนั้นเป็นนักกฎหมายแล้วไว้ใจได้ ไม่เกี่ยว ผมว่าอยู่ที่ภูมิหลัง ทัศนคติ และวิธีคิด ผมไม่ไว้ใจคณะกรรมการกลั่นกรอง” นายประสงค์เพิ่มเติม

ต่อมาตรา 20 ที่เกี่ยวกับการปิดบล็อคเว็บไซต์นี้ นายไพบูลย์ชี้แจงว่า มาตรานี้ถูกปรับปรุงให้มีความเหมาะสมและรับฟังเหตุผลของเจ้าของเว็บไซต์ที่ถูกสั่งปิดด้วยเช่นกัน

“มาตรา 20 แต่เดิมเป็นเรื่องปิดเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมาย กับไม่ผิดกฎหมาย แต่ขัดต่อศีลธรรมอันดี ในส่วนนี้กรรมาธิการฯแก้ คือ 1.แต่ก่อนภาครัฐปิดบล็อคฝ่ายเดียว เปลี่ยนเป็นการไต่สวน 2 ฝั่ง คือผู้ถูกปิดบล็อคสามารถตั้งทนายความ และเข้ามาชี้แจงได้ 2.ในกรณีที่ไม่ผิดกฎหมาย(แต่ขัดต่อศีลธรรมอันดี) มีกรรมการ 9 คน มีความเห็นและส่งกลับมา ส่งให้รัฐมนตรี(กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) กรองขั้นที่ 2 และส่งไปที่ศาล แล้วศาลจะมีคำสั่งสุดท้าย” นายไพบูลย์ระบุ

ขณะเดียวกัน ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่ามาตรา 20 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อาจสร้างความกังวลเรื่องสิทธิส่วนบุคคลของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต

“มาตรา 20 เป็นการใช้อำนาจของศาลในการที่จะระงับการแพร่หลาย และเอาข้อมูลออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลที่เป็นความผิดตามกฎหมาย และกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร และสิ่งที่เพิ่มเข้ามา คือ ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา แต่เราจะมั่นใจได้แค่ไหนว่าพนักงานที่แอคเซสเข้าไปเขาไม่ไปเอาข้อมูลของเราออกมาด้วย” ผศ.ดร.ปารีณากล่าว

ผศ.ดร.ปารีณา จึงเสนอแนะแนวทางปรับแก้ไขมาตรา 20 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในส่วนของอำนาจการลบข้อมูลบนเว็บไซต์

“เป็นไปได้ไหมว่าในมาตรา 20 เราจะทำเป็น 2 สเต็ป(ขั้นตอน) โดยให้ผู้บริการ(เป็นผู้ลบข้อมูล)ทำก่อน ถ้าผู้ให้บริการไม่ทำ ให้เจ้าหน้าที่เป็นสเต็ปที่ 2 หลักการแม้มันไม่ได้กระทบต่อเสรีภาพเท่าไหร่ แต่ขอให้คำนึงถึงผู้ที่เกี่ยวข้องให้มากๆ อย่ามองแค่ผู้ให้บริการกับทางภาครัฐ มองตัวผู้ใช้บริการ โดยทำให้ถูกกระทบน้อยที่สุด” ผศ.ดร.ปารีณาเพิ่มเติม

ด้านนายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล เลขานุการมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง (กลุ่มพลเมืองเน็ต) เห็นว่ามาตรา 15 ของ ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแจ้งเตือนและปิดบล็อคเว็บไซต์นั้น ..ถือว่าเป็นวิธีคิดที่ไม่ทันสมัยแล้วในปัจจุบัน

“การแจ้งเตือนและลบ ถูกใช้ครั้งแรกในกฎหมายของอเมริกา ปี 1998 ในตอนนั้นยังไม่มีเฟซบุ๊ค ไม่มียูทูป อินเตอร์เน็ต ...เจ้าของเว็บไซต์กับเจ้าของเนื้อหาเป็นคนคนเดียวกัน ดังนั้นมันจึงสมเหตุสมผลถ้ามีเนื้อหาอะไรที่มีปัญหา ก็แจ้งไปที่เจ้าของเว็บไซต์ให้นำเนื้อหาออก แต่เวลาผ่านไป ปัจจุบัน เนื้อหาไม่ใช่ของผู้ให้บริการ เนื้อหาเป็นของคนอื่น ทำไมจึงไม่ถามเจ้าของเนื้อหา ผู้ให้บริการจะทำอย่างไรกับเนื้อหา ทั้งที่เป็นเนื้อหาของคนอื่น” นายอาทิตย์กล่าว

วิทยากรและผู้ดำเนินรายการ ในงานเสวนา “ก้าวต่อไปของผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต หลัง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2559” วันที่ 23 ธ.ค. 2559 ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เบนาร์นิวส์)

ด้านตัวแทนภาคธุรกิจ นายศรัทธา หุ่นพยนต์ หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย บริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทขายให้บริการพื้นที่ขายสินค้าออนไลน์ระบุว่า รู้สึกสบายใจที่ ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ แก้ไขมาตรา 15 ให้ยกเว้นให้ผู้ให้บริการไม่ต้องรับผิดชอบความผิดที่ผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตสร้างขึ้น หากเป็นการนำเข้าข้อมูลด้วยระบบอัตโนมัติ

แต่อย่างไรก็ตาม นายศรัทธามองว่า ความไม่ชัดเจนของร่างประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทําให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนําข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ร่วมกับมาตรา 15 ของร่าง พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับใหม่

“มันมีปัญหาในถ้อยคำ ที่ร่างฯ(ประกาศกระทรวงดิจิทัลฯ)ใช้คำว่าผู้ให้บริการต้องไม่ได้รับค่าตอบแทนหรือประโยชน์ใดๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมจากการกระทำผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.นี้ ซึ่งต้องบอกว่า เราประกอบธุรกิจ ไม่ว่ามันจะมีการกระทำผิดกฎหมายเกิดขึ้นหรือไม่ ทางลาซาด้าได้ผลประโยชน์ในแง่ใดแง่หนึ่งอยู่แล้ว (ดังนั้น)เรียกว่า อีคอมเมิร์สทุกรายไม่ได้รับการยกเว้นการสันนิษฐานความผิดเหล่านี้ ผมเป็นห่วงตรงนี้ ควรจะมีการกระทำให้ชัดเจน” นายศรัทธากล่าว

อย่างไรก็ตาม นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ในฐานะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ได้กล่าวว่า สำหรับข้อกังวลทุกเรื่องที่ได้รับฟังวันนี้จะได้นำไปเสนอต่อ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯเพื่อให้เกิดการปรับปรุงแก้ไข รวมถึงเป็นแนวทางในการเขียนกฎหมายอื่นๆ ซึ่งต้องใช้ร่วมกับ ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯฉบับนี้ด้วยเช่นกัน โดยระบุอีกว่า ผู้ที่มีข้อกังวลหรือข้อเสนอแนะยังสามารถส่งข้อกังวลต่างๆไป คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯได้

ในวันที่ 16 ธันวาคม 2559 ที่ประชุมสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบ 168 ต่อ 0 เสียง ผ่านร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา(กมธ.วิสามัญฯ)ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระที่ 2 และ 3 โดยมีผู้งดออกเสียง 5 คน หลังจากนี้เป็นการเตรียมให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย โดยมติเห็นชอบโดยเอกฉันท์นี้เกิดขึ้น แม้ก่อนหน้านั้นหนึ่งวันประชาชนกว่า 3.6 แสนรายยื่นหนังสือคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ต่อตัวแทน สนช.ก็ตาม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง