ยืนหยุดขัง 112 : ถ้าคนในเรือนจำสู้ คนข้างนอกก็จะสู้ แม้เหลือคนเดียว
2021.04.21
กรุงเทพฯ และเชียงใหม่

หลังจากที่นักกิจกรรมหลายคน ซึ่งถูกตั้งข้อหา ม.112 จากการชุมนุมในนาม กลุ่มราษฎร และถูกควบคุมตัวในเรือนจำ โดยไม่ได้สิทธิในการประกันตัว ทำให้เกิดกิจกรรมยืนหยุดขัง 112 โดยพ่อแม่ญาติและเพื่อน ๆ รวมทั้งนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ที่จัดขึ้นในหลายจังหวัดทั่วประเทศ เป็นเวลา 1 เดือนแล้ว จนถึงปัจจุบัน เพื่อเรียกร้องให้ศาลอนุญาตปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง ให้สามารถออกมาหาหลักฐานต่อสู้คดีได้ ด้านนักวิชาการชี้ว่า รัฐกำลังลิดรอนสิทธิประกันตัว ที่เป็นสิทธิพลเมืองไทยขั้นพื้นฐาน
นักกิจกรรมใน กรุงเทพฯ, นนทบุรี, นครปฐม, เชียงใหม่, ลำปาง, ขอนแก่น และ อุบลราชธานี ใช้เวลาช่วงประมาณ 17.00 น. ของทุกวัน ยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 1 ชั่วโมง 12 นาที เพื่อประท้วงต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับนักเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยกิจกรรมนี้เริ่มขึ้นครั้งแรกในวันที่ 22 มีนาคม 2564 โดยกลุ่มพลเมืองโต้กลับที่หน้าศาลฎีกา ถนนราชดำเนิน ก่อนขยายตัวไปสู่สถานที่อื่นและจังหวัดอื่น โดยในครั้งแรกใช้เวลาทำกิจกรรมนี้ 112 นาที ก่อนปรับลดในภายหลัง
ในทุกวันเสาร์ กลุ่ม “ราษมัม” ซึ่งเป็นการรวมตัวของมารดาและญาติของผู้ถูกคุมขัง เข้ามาร่วมกิจกรรมยืนหยุดขัง เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนในครอบครัวเช่นกัน
“หวังว่าอย่างน้อย ๆ พ่อควรได้รับสิทธิการประกันตัวออกมาสู้คดีข้างนอก เพราะว่าเท่าที่ดูมันเหมือนเราจะหาหลักฐานพยานมาเพื่อต่อสู้คล้ายกับว่า ทำจากในคุกไม่น่าจะได้” น.ส.ประกายดาว พฤกษาเกษมสุข บุตรสาวของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข หนึ่งในผู้ถูกคุมขัง กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ส่วนนักศึกษาและประชาชนที่มาเข้าร่วม เพราะต้องการให้กำลังใจเพื่อนที่ยังถูกควบคุมตัว
“เพื่อน ๆ ข้างในไม่ต้องห่วงข้างนอก ถ้าข้างในสู้ ข้างนอกก็ยังสู้ ต่อให้ข้างนอกจะเหลือแค่คนเดียว ก็ยังสู้เหมือนเดิม อยากฝากถึงคนที่อยู่เหนือกฎหมายหรือควบคุมกฎหมายอยู่ว่า ถ้าจะเล่นเกมก็ขอให้เล่นตามเกม อย่าเล่นนอกเกม แล้วใช้กฎหมายที่ตัวเองคุมอยู่มากดขี่ ปิดปากผู้ที่ออกมาพูดความจริง มาแลกกันด้วยความจริงดีกว่า” นายนวพล ต้นงาม นักกิจกรรมจากหมู่บ้านทะลุฟ้า กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ที่เชียงใหม่ น.ส.อรุษา ปัญญากดแก้ว และประชาชนคนอื่น เข้าร่วมกิจกรรมยืนหยุดขังที่ลานหน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เพื่อสร้างการรับรู้ต่อสังคมวงกว้างว่ามีนักเรียน นักกิจกรรม กำลังถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานโดยการไม่ให้ประกันตัว
“แม้จะมีผู้คนจำนวนหนึ่งเห็นว่า กิจกรรมนี้ไม่ได้สร้างผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงอย่างทันที แต่ก็เป็นสิ่งที่เราต้องทำ และเชื่อว่า มีกิจกรรมดีกว่าไม่ทำอะไรเลย เราคาดหวังให้ผู้คนมีความรับรู้ และใส่ใจกับปัญหาของกระบวนการยุติธรรม ทุกวันที่เราไป เราเห็นคนที่จอดถ่ายรูป เพราะสนใจ บางคนชูสามนิ้วให้กำลังใจ หรือแม้แต่คนที่ขับรถผ่านไปเลย ไม่สนใจ ทั้งหมดนี้ เราหวังจะเห็นความเปลี่ยนแปลง ถึงจะใช้ระยะเวลานานก็ตาม” น.ส.อรุษา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ขณะเดียวกัน หน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กิจกรรมยืนหยุดขัง 112 ก็ถูกจัดขึ้นเช่นกัน แม้จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาแจ้งให้ยุติกิจกรรม แต่นักศึกษาก็ยังยืนยันที่จะดำเนินกิจกรรมต่อไป
“ตอนนี้ผู้ใหญ่ที่ไม่ดีในสังคมใช้กฎหมายกลั่นแกล้งเพื่อนที่มีอุดมการณ์ทางการเมือง ซึ่งไม่ควรมีใครถูกกระทำแบบนี้ เลยออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้เพื่อน เราเป็นแค่กลุ่มนักศึกษา แต่ถ้ามันทำให้เพื่อนเราที่โดนขังอยู่มีกำลังใจขึ้นมา เราก็พร้อมจะทำ และต้องการเป็นกำลังใจให้พ่อแม่ของเยาวชนที่โดนจับไป เพราะเขาต้องทุกข์ทรมานกับสิ่งที่ลูก ๆ ของตัวเองโดนกระทำ” นักศึกษาหญิงรายหนึ่ง (สงวนชื่อและนามสกุล) กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ที่จังหวัดขอนแก่น นายสมานฉันท์ พุทธจักร หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมที่หน้ามหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า เขาร่วมยืนหยุดขัง เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ และมันคือกิจกรรมสันติวิธี
“ไผ่ (หนึ่งในผู้ถูกคุมขัง) เป็นเพื่อนผม ไม่มีทางอื่นที่จะช่วยได้มากกว่านี้ เราไม่ถนัดปราศรัย กิจกรรมนี้ถือเป็นสันติวิธี คิดว่าเรื่องคนติดคุกเงียบกว่าปกติ อยากให้สังคมช่วยกระจายข่าว และตำรวจควรให้ความเห็นกับศาลว่าควรให้ประกันจำเลย เพราะเขาไม่มีพฤติกรรมหลบหนี ศาลเองก็ควรมีสามัญสำนึกว่า เขายังไม่เป็นผู้กระทำผิดควรได้ออกมาปรึกษาทนาย... และในอนาคตก็อยากให้ยกเลิก ม.112” นายสมานฉันท์ กล่าว
นอกจากการยืนหยุดขังจะเป็นกิจกรรมเพื่อเรียกร้องสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวของจำเลยคดีการเมืองแล้ว ยังเป็นการรณรงค์ให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งกลุ่มราษฎรมองว่า เป็นกฎหมายที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล และมักถูกใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการกับผู้เห็นต่างทางการเมือง
“ม.112 ปัจจุบัน ถูกใช้แบบกวาดไปหมด รัฐก็กลับมาใช้ ม.112 เพราะคิดว่าเป็นยาแรง จะทำให้การเคลื่อนไหวเบาลง แต่ในความเป็นจริงปฏิกริยาตอบโต้กลับหนักขึ้นอย่างที่เห็นบนอินเทอร์เน็ต ถ้าตีความกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา การฟ้องในหลายกรณีที่ผ่านมา ไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาท เพราะการหมิ่นประมาทต้องเป็นการใส่ร้ายทำให้คนบุคคลที่ 3 ได้ยินแล้วรู้สึกไม่ดี รู้สึกเกลียดชังผู้ที่ถูกหมิ่น” ผศ.สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
การชุมนุมของกลุ่ม “ราษฎร” เริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม 2563 ที่กรุงเทพฯ ก่อนเกิดการชุมนุมในลักษณะนี้หลายครั้งในหลายจังหวัด โดยมี 3 ข้อเรียกร้องหลัก ประกอบด้วย 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต้องลาออกจากตำแหน่ง 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง ส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ 3. ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อมาการชุมนุมดังกล่าว นำมาซึ่งการถูกดำเนินคดีของนักกิจกรรม โดยเฉพาะแกนนำปราศรัย
เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 นักกิจกรรมกลุ่มราษฎร 4 คนประกอบด้วย นายพริษฐ์ ชิวารักษ์, นายอานนท์ นำภา, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ถูกควบคุมตัวที่เรือนจำหลังจากพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง ในคดีการชุมนุมที่ท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563 และต่อมาในวันที่ 8 มีนาคม 2564 จำเลยในคดีเดียวกันอีก 3 คน คือ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และนายภานุพงษ์ จาดนอก ถูกส่งฟ้องและไม่ได้รับการประกันตัวเช่นกัน เนื่องจากเกรงว่าจะหลบหนี สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ นายพริษฐ์ และน.ส.ปนัสยา เลือกอดอาหารประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้ทุกคน
อย่างไรก็ตาม แม้ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจะยื่นคำร้องขอประกันตัวให้แก่จำเลยทั้งหมด แต่ศาลได้ปฏิเสธคำร้องดังกล่าวโดยตลอดด้วยเหตุผลว่า “ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนคำวินิจฉัย” กระทั่ง 9 เมษายน 2564 ศาลให้นายปติวัฒน์ได้ประกันตัว หลังจากเจ้าตัวยอมรับเงื่อนไขว่า จะไม่ร่วมชุมนุมทางการเมืองและพูดพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์อีก
รัฐกำลังลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐาน การประกันตัวถือเป็นสิทธิของพลเมืองไทย
“ศาลไม่ควรอ้างว่า ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนคำวินิจฉัย เพราะเหมือนเป็นการมีธงสำหรับคดี ม.112 หลักสากลเหตุผลที่จะไม่ให้ประกันต้องเกี่ยวข้องกับการไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน หรือหลบหนี ซึ่งคนเหล่านี้ไม่มีพฤติกรรม และมารายงานตัวทุกครั้ง การไม่ให้ประกันตัวเท่ากับได้สรุปล่วงหน้าแล้วว่า เขาทำผิดตามนั้นจริง ทั้งที่ยังไม่ตัดสิน” นายสุณัย ผาสุข ฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ด้าน ศ.ดร. อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า สิ่งที่น่ากลัวในห้วงเวลานี้คือ การที่รัฐทำให้ผู้คนละเลยหรือลืมในการคิดถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างการประกันตัว ซึ่งมันทำให้คนส่วนใหญ่สยบยอมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และยอมรับว่ารัฐใช้อำนาจอย่างชอบธรรมในท้ายที่สุด
“การประกันตัวถือเป็นสิทธิของพลเมืองไทย เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในรัฐประชาธิปไตย หากไม่มีสิทธิในการออกมาต่อสู้คดี ก็นับว่ารัฐกำลังลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานนี้ ซึ่งสังคมควรร่วมกันกดดัน และส่งเสียงเพื่อสนับสนุนสิทธิการประกันตัวให้กับเพื่อน ๆ ของเรา” ศ.ดร. อรรถจักร กล่าว
ถึงปัจจุบัน มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 87 ราย ใน 80 คดี และมีผู้ที่ถูกควบคุมตัวจากคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมอย่างน้อย 20 ราย ตามการเก็บข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
“เมื่อวาน (20 เมษายน 2564) ตอนหกโมงเย็น ผมกับเพื่อนยืนเฉย ๆ ในห้องขังเป็นเพื่อนพี่น้องข้างนอก ยอมรับว่าขาตึงเลยครับ มันไม่ง่ายอย่างที่คิด แต่ยืนยันจะทำทุกวัน อย่างน้อยก็เพื่อสำนึกในน้ำใจของเพื่อนข้างนอกและเปลี่ยนตัวเองในเรือนจำว่า เราไม่ได้สู้เพียงลำพัง” เฟซบุ๊กของนายอานนท์ เผยแพร่ข้อความหนึ่งในวันพุธนี้
รัฐบาล : ไม่เคยปิดกั้นเสรีภาพ
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่การกลั่นแกล้ง หรือเลือกปฏิบัติ แต่เป็นการดำเนินการตามกฎหมาย
“ในการดำเนินการกับผู้ชุมนุมบางรายเป็นการดำเนินไปตามกฎหมาย และตามพฤติการณ์ของผู้ที่ละเมิดกฎหมาย ไม่เลือกปฏิบัติ ผู้ที่ถูกกล่าวหาที่ละเมิดกฎหมายสามารถต่อสู้คดีได้ปกติ รัฐบาลสนับสนุนการแสดงออกที่สร้างสรรค์ ไม่เหยียดหยามผู้อื่น ไม่สร้างความเกลียดชัง หรือกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดความขัดแย้ง รัฐบาลก็ต้องดำเนินการทางกฎหมาย ถ้าผู้ชุมนุมกระทำผิด” นายอนุชา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ผ่านโทรศัพท์
โดยที่วานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวแก่สื่อมวลชนว่า “เรื่องการที่คุณเพนกวินปฏิเสธกระบวนการชั้นศาล ผมก็ไปก้าวล่วงไม่ได้นะครับ เป็นเรื่องของอำนาจศาล มีเหตุมีผลและเป็นไปตามกฎหมาย… ขอให้ต้องแยกแยะออกจากกันว่า อะไรมันผิด อะไรมันถูก เพราะฉะนั้นการอดข้าวจะมีผลต่อกระบวนการยุติธรรม ก็คงไม่ใช่ มันเป็นเรื่องกระบวนการของศาลนะครับ”
นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน