ศาลสั่งจำคุก 4 ปี ทนายอานนท์ คดี ม. 112 รวมโทษ 14 ปี 20 วัน
2024.07.25
กรุงเทพฯ

ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก พิพากษาจำคุก นายอานนท์ นำภา ทนายความและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นเวลา 4 ปี ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากคดีการโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวสองข้อความในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 พาดพิงสถาบันกษัตริย์ ซึ่งคดีนี้นับเป็นคดีที่ 4 จากคดี ม. 112 ทั้งหมด 14 คดี ที่นายอานนท์ตกเป็นผู้ต้องหาและจำเลย
นายอานนท์ ถูกพาตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มายังห้องพิจารณาคดีในช่วงบ่ายด้วยชุดนักโทษสีน้ำตาล โดยมีครอบครัว เพื่อน และประชาชน รวมถึงสื่อมวลชนกว่า 50 คน เข้ามาให้กำลังใจและสังเกตการณ์คดีในห้องพิจารณา
“จำเลยใช้สื่อโซเชียลเฟซบุ๊กเขียนข้อความลงในระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อความเท็จ มีเจตนาให้ผู้พบเห็นหลงเชื่อ ทำนองว่า การที่ในหลวงลงมาบริหารประเทศด้วยตนเอง ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย และข้อความอื่น ๆ ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้วสถาบันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะล่วงละเมิดไม่ได้ อันเป็นความผิดต่อความมั่นคงและฝ่าฝืนกฎหมาย” ตอนหนึ่งในคำฟ้องของอัยการ
คำฟ้องของอัยการกล่าวถึงการเขียนข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวของนายอานนท์ เมื่อวันที่ 11 มกราคม และ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เป็นผู้ฟ้อง
“จำเลยกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, พรบ. คอมพิวเตอร์ฯ ให้ลงโทษจำคุก 2 กระทง กระทงละ 3 ปี รวมจำคุก 6 ปี แต่คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์ให้ลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุก 4 ปี และให้นับโทษต่อจากคดีก่อนหน้า” คำพิพากษาของศาล ระบุ
นายอานนท์ ถูกคุมขังในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2566 ถูกพิพากษาจำคุกด้วยคดีมาตรา 112 มาแล้ว 3 คดี ได้แก่ คดีปราศรัยวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ศาลตัดสินจำคุก 4 ปี คดีโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว 3 ข้อความ ในเดือนมกราคม 2564 ตัดสินให้จำคุก 4 ปี
และคดีที่เกี่ยวข้องกับการปราศรัยใน #ม็อบแฮรี่พอตเตอร์2 เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ตัดสินจำคุก 2 ปี 20 วัน ทำให้รวมคำพิพากษาในวันพฤหัสบดีนี้ นายอานนท์ถูกตัดสินจำคุกรวม 14 ปี 20 วัน
“การวิพากษ์วิจารณ์และการให้คำปราศรัยเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพื่อการสนับสนุนทางด้านสิทธิมนุษยชน ควรได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมในสังคมประชาธิปไตย เราขอเรียกร้องให้ทางการไทยกลับคำพิพากษา และยุติการดำเนินคดีที่เหลือทั้งหมดของอานนท์ นำภา” สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เปิดเผยความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเมื่อเดือนมีนาคม 2567
นายอานนท์ เป็นหนึ่งในแกนนำชุมนุมทางการเมืองที่เริ่มต้นในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งมีข้อเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขณะนั้นลาออกจากตำแหน่ง แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยกระแสการชุมนุมดังกล่าว ทำให้เกิดการชุมนุมขึ้นกว่าพันครั้งต่อเนื่องยาวนานร่วม 3 ปี ทั่วประเทศ
หลังจากนั้น รัฐบาลเริ่มดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม โดยศูนย์ทนายฯ ระบุว่าตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2567 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไปแล้วอย่างน้อย 1,954 คน จาก 1,297 คดี ในนั้นเป็นคดี ม. 112 อย่างน้อย 272 คน จาก 303 คดี
การดำเนินคดีการเมืองจำนวนมาก ทำให้เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน และประชาชนกว่า 3.5 หมื่นคน รวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอ ร่าง พรบ. นิรโทษกรรมเข้าสู่สภา โดยจะให้ยกเว้นโทษให้กับประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบันทุกข้อหา รวมถึงมาตรา 112
ปัจจุบัน ร่าง พรบ. นิรโทษกรรมฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาของ กมธ. วิสามัญ ตรา พรบ. นิรโทษกรรมฯ โดย มีร่าง พรบ. นิรโทษกรรม ที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว 4 ฉบับ ประกอบด้วย ร่าง พรบ. นิรโทษกรรม ที่ถูกเสนอโดยเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน
อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร. ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย สมาคมนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ชี้ว่า การนิรโทษกรรมแบบรวม ผู้ต้องหา-จำเลยคดี ม. 112 น่าจะเกิดได้ยาก
“การตัดสินใจหนีของนักกิจกรรม เช่น คุณไมค์ (ภานุพงศ์ จาดนอก) คุณเพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) แสดงให้เห็นแล้วว่า พวกเขามองไม่เห็นทางที่จะต่อสู้ หรือไม่ไว้ใจกระบวนการยุติธรรม ซึ่งผิดกับคุณจักรภพ (เพ็ญแข) ซึ่งตัดสินใจกลับประเทศ เพราะเชื่อว่า พรรคเพื่อไทยจะอำนวยความสะดวกในการต่อสู้คดีให้ เพราะไม่ใช่ คดี ม. 112” ผศ.ดร. ธนพร กล่าว
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 น.ส. เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง ทะลุวัง ผู้ต้องหาคดี ม. 112 จากการทำสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับขบวนเสด็จฯ ที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งถูกถอนประกันตัว ทำให้ถูกคุมขัง และอดอาหารเพื่อประท้วงสิทธิการประกันตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 ได้เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัว ทำให้การนิรโทษกรรมผู้ต้องหาคดี ม. 112 ถูกพูดถึงอีกครั้งในสังคม
“การนิรโทษกรรม ม. 112 แทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะรัฐบาลที่นำโดยพรรคสีแดง (เพื่อไทย) ในปัจจุบัน ได้กลายเป็นหัวขบวนของกลุ่มอนุรักษ์นิยมในประเทศไทยแล้ว และขั้วตรงข้ามของสีส้ม (พรรคก้าวไกล)” ผศ.ดร. ธนพร กล่าวเพิ่มเติม
รุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน