บุ้งตายในเรือนจำสู้คดี ม. 112 นักสิทธิ-ทนายร้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
2024.05.14
กรุงเทพฯ

นักสิทธิมนุษยชน และทนายความเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมหลังจาก น.ส. เนติพร เสน่ห์สังคม หรือผักบุ้ง นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง เสียชีวิตจากอาการหัวใจล้มเหลว ระหว่างต้องถูกควบคุมตัวอยู่ในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เพราะไม่ได้รับสิทธิประกันตัวระหว่างสู้คดี ม. 112
ด้าน นายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยืนยันว่า กระบวนการสอบสวนหาสาเหตุการเสียชีวิตของบุ้งจะเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา
“บุ้งถูกดำเนินคดี ม. 112 จากการเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยเสรีภาพ ซึ่งในประเทศประชาธิปไตยควรสามารถเคลื่อนไหวได้ แต่เขากลับโดนดำเนินคดี และไม่ได้รับการประกันตัว ทั้งที่ในสามัญสำนึกของบุ้ง สิ่งที่เขาทำไม่ใช่การละเมิดใด ๆ ความไม่เป็นธรรมนี้เกิดจากอคติของสังคมที่ปล่อยให้ผู้พิพากษาสามารถสั่งขังเขาได้ โดยไม่มีกระบวนการตรวจสอบกันเอง ทำให้เกิดตุลาการตายด้าน” น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวกับเบนาร์นิวส์
บุ้งเสียชีวิตในเวลา 11.22 น. ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ หลังจากบุ้งถูกพาตัวมาจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เพราะหมดสติ ไม่มีสัญญาณชีพ ตั้งแต่เวลา 06.23 น. โดย รพ. ธรรมศาสตร์ พยายามฟื้นสัญญาณชีพตั้งแต่เวลา 09.30 แต่ไม่มีการตอบสนอง รพ. ธรรมศาสตร์เปิดเผย
“ทนายความจากศูนย์ทนายความฯ ก็เข้าเยี่ยมทุกวัน เขาก็มีอาการบวม ปวดท้อง แล้วก็บอกว่า เขาป่วย คุณหมอบอกว่า เป็นอาการของคนที่อดอาหารมาแล้ว และกำลังฟื้นร่างกาย ครอบครัวบุ้งขอร้องให้ทานอาหาร แต่ก็ทานไม่ได้อยู่ดี เพราะอดอาหารมา 3-4 เดือน เขาก็มีร่างกายอ่อนเพลีย” นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าว
บุ้ง ถูกดำเนินคดี ม. 112 จากการทำสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับขบวนเสด็จฯ ที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ถูกควบคุมตัวในวันที่ 26 มกราคม 2567 หลังจากศาลอาญาให้เพิกถอนการประกันตัว โดยอ้างว่า บุ้งทำผิดเงื่อนไขการประกัน เพราะชุมนุมที่หน้ากระทรวงวัฒนธรรมเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2566 เรียกร้องให้ถอดนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สว. ออกจากการเป็นศิลปินแห่งชาติ หลังจากนั้น บุ้งได้ตัดสินใจอดอาหารเพื่อประท้วงกระบวนการยุติธรรม
“ความจริงเขาก็ยังยืนหยัดอยู่ว่า สิ่งที่เขาทำ สิ่งที่เขาพูด ก็เป็นสิ่งที่เขาเห็นสมควรเรียกร้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม แก้ไขหรือยกเลิก ม. 112 เขาก็ยังเชื่อแบบนั้นอยู่ ความเป็นมาตรฐานในระบบราชทัณฑ์ไทยมันมีหรือเปล่า เด็กที่โดนคดีการเมืองมันได้รับการรักษาได้ดีเท่าผู้หลักผู้ใหญ่บางคนหรือเปล่า พูดไปมันขมขื่น ผมยืนยันหลายครั้งแล้วให้ส่ง (บุ้ง) ออกมา (รักษา) ข้างนอก” นายกฤษฎางค์ กล่าวกับสื่อมวลชน
ที่ผ่านมา ทนายความได้ยื่นขอประกันตัว น.ส. เนติพร ออกมาต่อสู้คดี แต่ศาลอาญากรุงเทพใต้ปฏิเสธคำขอดังกล่าว ทำให้บุ้งอดอาหารต่อไปเพื่อประท้วงกระบวนการดังกล่าว และถูกพาตัวไปรักษาที่ รพ. ราชทัณฑ์ สลับกับ รพ. ธรรมศาสตร์
ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2567 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,954 คน จาก 1,295 คดี
ในนั้นเป็นคดี ม. 112 อย่างน้อย 272 คน จาก 303 คดี และปัจจุบัน มีผู้ถูกคุมขังจากคดีการเมืองอย่างน้อย 45 คน ในนั้นมีบางคนที่ประท้วงกระบวนการยุติธรรมด้วยการอดอาหาร เช่น น.ส. ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน ผู้ต้องหาคดีเดียวกันกับบุ้ง เป็นต้น
“เมื่อระบบมองไม่เห็นความบกพร่องของตัวเอง ก็ไม่มีการแก้ไขปรับปรุง บุ้งจึงใช้ร่างกายของตัวเองเรียกร้องต่อระบบที่มีปัญหานี้ สิ่งที่รัฐควรจะทำ คือ ให้สิทธิการประกันตัวแก่นักกิจกรรม ปล่อยตัวเขาโดยไม่มีเงื่อนไข เพราะมันมีตัวอย่างแล้วว่า มีคนที่ตายเพราะใช้ร่างกายผลักดันให้มีการแก้ไข สังคมไม่ควรจะปล่อยให้มีคนที่สอง คนที่สาม คนที่สี่ที่ต้องตายอีก” น.ส. พรเพ็ญ กล่าว

ทะลุวัง เริ่มเคลื่อนไหวในปี 2565 เป็นกลุ่มการเคลื่อนไหวที่มุ่งเน้นการตั้งคำถามถึงสถาบันกษัตริย์ และอยู่ในกระแสการชุมนุมทางการเมืองในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563-2565 ซึ่งมีข้อเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ลาออกจากตำแหน่ง แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
“ไอเดียที่ได้มาทำโพลตั้งคำถามก็มาจากน้อง ๆ นักกิจกรรม เรามองว่ามันประสบผลสำเร็จไปขั้นหนึ่งแล้ว และยังมีการต่อสู้อีกไกลมากที่ยังต้องเดินต่อ ยังมีหลาย ๆ อย่างในประเทศที่ต้องการเปลี่ยนแปลง เราตั้งใจไว้แล้วว่าต่อให้ต้องแลกทั้งชีวิต เราก็จะไม่หยุดเคลื่อนไหว เราต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมให้ทุกชีวิตที่ต้องสูญเสียไปให้กับเผด็จการ” จดหมายจากบุ้ง ที่เผยแพร่ผ่านเพจ ทะลุแก๊ซ - Thalugaz
ช่วงที่ผ่านมา สมาชิกกลุ่มทะลุวัง เช่น ตะวัน หรือบุ้งถูกดำเนิน คดี ม. 112 จากการทำกิจกรรมทางการเมืองหลายคดี เช่น คดีการทำโพล “ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่” ที่สยามพารากอน, การโพสต์ของเพจทะลุวัง เรื่องงบประมาณสถาบันกษัตริย์ ปี 2565 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 และการทำโพล “เห็นด้วยหรือไม่ที่รัฐบาลอนุญาตให้กษัตริย์ใช้อำนาจตามอัธยาศัย” ที่จตุจักร เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565
ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า รูปแบบการเคลื่อนไหวของบุ้งในช่วงที่ผ่านมาอาจทำให้มีคนในสังคมจำนวนมากไม่เข้าใจจุดประสงค์ที่แท้จริงของบุ้ง ทั้งที่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ม. 112 ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนและเด็กจริง ๆ
“ไทยมีวัฒนธรรมความรุนแรงในสังคมค่อนข้างสูง ทำให้การต่อสู้ด้วยวิธีของบุ้ง ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ หรือการอดอาหาร ถูกลดทอนคุณค่า และอุดมการณ์ลงไป การบังคับใช้ ม. 112 จะส่งผลอย่างแน่นอนต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย การประมวลความคิดเรื่องการพิจารณาตัวกฎหมายกับข้อเท็จจริงในแต่ละเคสจึงสำคัญมาก ๆ ว่า ในความเป็นจริงแล้วแต่ละกรณีนั้นเข้าข่ายผิดมาตรานี้หรือไม่" ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ กล่าว
สำหรับการสอบสวนหาสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมยืนยันว่า กระบวนการจะเป็นไปอย่างโปร่งใส
“หลักการก็คือ ต้องมีการชันสูตรพลิกศพ ด้วยหมอนิติเวช แล้วก็พนักงานสอบสวน ก็ต้องมีพนักงานอัยการ และฝ่ายปกครอง และผู้เกี่ยวข้องมาร่วมชันสูตรพลิกศพ ให้เสร็จใน 7 วัน ในฐานะรัฐบาลและรัฐมนตรีก็มีความเสียใจ อยากจะให้กระบวนการพิสูจน์เป็นไปอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้เกิดความสบายใจกับทุกฝ่าย” นายทวี กล่าว
รุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน