ศาลสั่งคุกไมค์ ระยอง 3 ปี ผิด ม. 112 จากโพสต์จดหมายถึงในหลวง

ศาลออกหมายจับไมค์หลังไม่มาศาล และปรับแม่ไมค์ 9.5 หมื่นบาท ในฐานะนายประกัน
รุจน์ ชื่นบาน
2024.05.08
กรุงเทพฯ
ศาลสั่งคุกไมค์ ระยอง 3 ปี ผิด ม. 112 จากโพสต์จดหมายถึงในหลวง นายภานุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง ขณะนำผู้ประท้วงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา ในกรุงเทพฯ วันที่ 24 กันยายน 2563
รอยเตอร์

ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาลับหลังจำคุก นายภานุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นเวลา 3 ปี จากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการโพสต์จดหมายถึงในหลวง ร.10 ในกิจกรรม “ราษฎรสาส์น” เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 เจ้าตัวไม่เดินทางมาฟังคำพิพากษาตามนัด ศาลจึงได้ออกหมายจับ และปรับแม่ของไมค์ซึ่งเป็นนายประกัน 9.5 หมื่นบาท 

“ข้อความที่ว่า ร.10 ยืนบนซากปรักหักพังของประชาธิปไตยหรือศพของประชาชน วิญญูชนทั่วไปที่เข้ามาอ่านข้อความที่จำเลยโพสต์ อาจจะเข้าใจได้ว่า ร.10 ทรงเป็นผู้ที่มีส่วนรู้เห็นทำให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยชำรุดทรุดโทรมลง และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของประชาชนในช่วงโควิด-19 ระบาดอันเป็นการประทุษร้ายต่อเกียรติของพระมหากษัตริย์” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา ระบุ

ในห้องพิจารณาคดีมีผู้สังเกตการณ์ และนางยุพิน มณีวงศ์ มารดาของไมค์ในฐานะผู้รับมอบฉันทะนายประกัน ที่เดินทางมาศาล ขณะที่ไมค์ไม่ได้เดินทางมาศาล แต่ศาลได้มีคำพิพากษาลับหลังจำเลย 

“จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จำคุก 4 ปี ทางนำสืบของจำเลยมีประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษ 1 ใน 4 คงจำคุกจำเลย 3 ปี” คำพิพากษาตอนหนึ่ง

ด้วยเหตุที่จำเลยไม่เดินทางมาศาล ศาลจึงได้ออกหมายจับนายภานุพงศ์ เพื่อให้นำตัวมารับโทษตามคำพิพากษา และสั่งปรับนายประกันเป็นเงิน 9.5 หมื่นบาท 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า คดีนี้สืบเนื่องจาก วันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ไมค์ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัวโดยเป็นข้อความ ราษฎรสาส์นถึงกษัตริย์ ตอนหนึ่งระบุว่า “#คุณคิดว่า คุณยืนบนซากปรักหักพังของประชาธิปไตย หรือศพของประชาชนแล้วคุณจะสง่างามหรอ” และ “#ประชาสาส์น #ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” โดยพาดพิงถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 

ต่อมา นางแน่งน้อย อัศวกิตติกร ประธานศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) จึงได้เดินทางไปแจ้งความเอาผิดไมค์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ กระทั่งวันที่ 23 กันยายน 2564 นายวิวัฒน์ ศิริชัยสุทธิกร พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาให้เอาผิดไมค์ ตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ และไมค์ต้องถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลา 62 วัน ก่อนจะได้รับการประกันตัวเพื่อออกมาต่อสู้คดี 

นายภานุพงศ์ เป็นหนึ่งในแกนนำชุมนุมทางการเมืองที่เริ่มต้นในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งมีข้อเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีขณะนั้นลาออกจากตำแหน่ง แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยกระแสการชุมนุมดังกล่าว ทำให้เกิดการชุมนุมขึ้นกว่าพันครั้งต่อเนื่องยาวนานร่วม 3 ปี ทั่วประเทศ

หลังจากนั้น รัฐบาลเริ่มดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม โดยศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2567 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,954 คน จาก 1,295 คดี ในนั้นเป็นคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 272 คน ในจำนวน 303 คดี และทำให้มีผู้ถูกคุมขังจากคดีการเมืองอย่างน้อย 46 คน 

การดำเนินคดีการเมืองจำนวนมาก ทำให้เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน รวมถึงประชาชนกว่า 3.5 หมื่นคน รวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอ ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมเข้าสู่สภา โดยจะให้ยกเว้นโทษให้กับประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบันทุกข้อหา รวมถึงมาตรา 112 

เดือนกุมภาพันธ์ 2567 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนได้ยื่นหนังสือต่อรัฐบาลเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมการเมือง รวมทั้งแก้กฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุม 

“4 ปีที่ผ่านมาพบว่าเกิดการดำเนินคดีความกับนักกิจกรรมและผู้ที่ออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นว่าการออกมาใช้สิทธิมนุษยชนในประเทศของตัวเองกลายเป็นเรื่องน่าเศร้า” นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ฯ กล่าว

แอมเนสตี้เรียกร้อง 3 ข้อโดยสรุปคือ 1. นักกิจกรรมที่ถูกคุมขังโดยไม่มีเงื่อนไข และยกเลิกคำตัดสินให้แก่ผู้ที่ถูกลงโทษเพียงเพราะใช้สิทธิมนุษยชนของตัวเอง 2. ให้สิทธิการประกันตัว ระหว่างที่ยังไม่มีการยกเลิกคำตัดสิน และ 3. แก้ไข หรือยกเลิก กฎหมายที่มีการจำกัดสิทธิและละเมิดสิทธิเสรีภาพการชุมนุม

รศ.ดร. ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ หัวหน้าสำนักวิชานิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่า รัฐบาลไม่ควรดำเนินคดีกับการชุมนุมทางการเมืองอีกเพราะเป็นเสรีภาพที่ประชาชนพึงกระทำได้ 

“คดีการเมืองไม่ควรรับแจ้งความแล้ว เพราะการชุมนุมเป็นเสรีภาพ อัยการก็ไม่ควรส่งฟ้องคดี การเมืองอีกรัฐบาลควรออก พ.ร.บ. นิรโทษกรรม เพราะการนิรโทษกรรมจะช่วยดึงผู้ต้องหาที่ต้องหลบหนีกลับมาสู่การสลายความขัดแย้ง เพราะทำให้เขาแน่ใจว่ากลับมาแล้วเขาจะไม่โดนคดี หรือถูกกระทำ ทำให้เขากล้าที่จะเสนอความต้องการแท้จริง ซึ่งนำไปสู่การแก้ปัญหาที่มีอยู่ในประเทศนี้” รศ.ดร. ทศพล กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง