ตำรวจจับแฮกเกอร์เจาะเว็บรัฐแล้ว

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2016.12.27
กรุงเทพฯ
TH-hacked-620 หน้าเฟซบุ๊คของกลุ่มพลเมืองต่อต้าน Single Gateway:Thailand Internet Firewall ที่รัฐบาลกล่าวว่าอยู่เบื้องหลังการโจมตีและแฮ็คเว็บไซต์ของรัฐ
เครดิต: เฟซบุ๊ค พลเมืองต่อต้าน Single Gateway: Thailand Internet Firewall

ในวันอังคาร (27 ธันวาคม 2559) นี้ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการสืบสวนขยายผลหาผู้กระทำความผิดเรื่องการเจาะระบบเว็บไซต์ส่วนราชการเพิ่ม หลังจากที่สามารถจับกุมนักเจาะระบบคอมพิวเตอร์หรือแฮกเกอร์ที่เชื่อว่าเป็นผู้เจาะระบบเว็บไซต์ส่วนราชการหลายแห่งได้แล้ว 1 ราย และควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยอีกรวมทั้งสิ้น 9 ราย โดยระบุว่า หากพบผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรายอื่นจะดำเนินคดีตามกฎหมายแน่นอน ในขณะเดียวกันรองนายกรัฐมนตรี ได้ปฎิเสธข่าวที่รัฐได้สั่งซื้อเครื่องมือเจาะระบบอินเตอร์เน็ตตามที่เป็นข่าว

พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ผ่านโทรศัพท์ว่า ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังดำเนินการขยายผลการจับกุมแฮกเกอร์ 1 ราย และกำลังอยู่ในขั้นตอนการสืบสวนเพื่อหาผู้กระทำผิดเพิ่มเติม

“กำลังขยายผลอยู่ ปอท. (กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี) กำลังดำเนินการอยู่ เขาแฮกของหน่วยรายการหลายอัน ตอนนี้ อยู่ระหว่างการสอบสวนดำเนินการอยู่ว่าใครเกี่ยวข้องแค่ไหนยังไง ถ้าเกี่ยวก็เอาหมด ถ้าเกิดว่าไม่เกี่ยว อันไหนที่ไม่ใช่ก็ไม่เอา” พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ กล่าว

และในวันจันทร์ที่ผ่านมา พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า มีผู้ต้องสงสัย 9 คน ที่ถูกนำตัวไปเพื่อสอบปากคำ นับตั้งแต่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติเห็นชอบผ่านร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ในวันที่ 16 ธ.ค. 2559

โดยในเช้าวันรุ่งขึ้น มีการเจาะระบบเว็บไซต์หน่วยราชการต่างๆเกือบ 30 เว็บไซต์

พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปฎิเสธที่จะให้รายละเอียดเกี่ยวกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรายอื่น เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนขยายผล และยังไม่ยืนยันว่า ผู้ต้องสงสัยที่เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวได้นั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับเยาวชนอีกจำนวนหนึ่งที่ตำรวจควบคุมตัวและนำไปปรับทัศนคติแล้วตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค. 2559 หรือไม่

การเจาะระบบเว็บไซต์หน่วยราชการต่างๆ โดยกลุ่มแฮกเกอร์ เกิดขึ้นหลังจากการที่ประชุมสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบ 168 ต่อ 0 เสียง ผ่านร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในวันที่ 16 ธ.ค. 2559  แม้จะมีการรวบรวมราบชื่อประชาชนกว่า 3.6 แสนราย ยื่นหนังสือคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวก่อนหน้าก็ตาม

โดยตั้งแต่วันที่ 16-23 ธ.ค. 2559 มีเว็บไซต์ส่วนราชการถูกเจาะระบบเกือบ 30 เว็บไซต์ เช่น เว็บไซต์กระทรวงกลาโหม เว็บไซต์กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ และเว็บไซต์รัฐบาลไทย เป็นต้น และยังมีเว็บไซต์อีกหลายแห่งที่ระบบถูกรบกวนจากการที่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเข้าโจมตีด้วยการระดมกดปุ่ม F5

จนกระทั่งในวันที่  22 ธ.ค. 2559 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการจับกุมเยาวชนจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีส่วนรู้เห็นกับการโจมตีครั้งนี้ โดยได้นำตัวไปปรับทัศนคติแล้ว

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และคณะได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนในการแถลงข่าวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมผู้ที่เจาะระบบเว็บไซต์ส่วนราชการหลายแห่งได้แล้ว 1 คน คือนายณัฐดนัย คงดี อายุ 19 ปี พร้อมของกลางประกอบด้วย คอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง อาวุธปืน 5 กระบอก และกัญชาอัดแท่งจำนวนหนึ่งโดยระบุว่า ผู้ต้องหารายนี้ เป็นผู้ที่ถูกกลุ่มพลเมืองต่อต้าน Single Gateway หลอกให้กระทำผิด

“นายณัฐดนัย เป็นผู้กระทำความผิดจริง นอกจากเขาจะเจาะข้อมูลแล้วเขายังซื้อ-ขายปืนทางอินเตอร์เน็ตด้วย กลุ่มต่อต้านซิงเกิ้ลเกตเวย์จะใช้พวกนี้ คนที่มีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์เป็นเหยื่อ หลอกให้ส่งข้อมูลให้เขา ซึ่งกลุ่มต่อต้านซิงเกิ้ลเกตเวย์ ก็จะเอาข้อมูลเหล่านี้ไปไอโอ(Information Operation-ปฎิบัติการทางข่าวสาร) ทำให้คนหลงเชื่อต่อไปอีกว่าจะมีการทำอันนี้อันนั้นเป็นระบบ” พล.ต.อ.จักรทิพย์กล่าว

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า นายณัฐดนัย จะถูกต้องข้อหาอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.อาวุธปืน และพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ โดยเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมอีกว่า ปัจจุบัน มีผู้ต้องหาอีกจำนวนหนึ่งที่กำลังถูกฝ่ายความมั่นคงควบคุมตัวเพื่อสอบสวน โดยหากพบหลักฐานว่า เป็นผู้ร่วมกระทำผิดก็จะได้ดำเนินคดีในอนาคต และเชื่อว่า ยังมีผู้ร่วมขบวนการอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งบางส่วนอาศัยอยู่ในต่างประเทศด้วย

รองนายกฯ และ ผบ.ทบ. ยืนยันไม่มีการซื้อเครื่องมือเจาะระบบ

ในวันเดียวกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพล.อ.เฉลิมชัย สิทธิวาท ผู้บัญชาการกองทัพบกได้ยืนยันต่อสื่อมวลชนว่า กองทัพบกไม่ได้ทำการจัดซื้อเครื่องมือเจาะระบบคอมพิวเตอร์ตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยต่อสื่อมวลชน ยืนยันว่า ไม่มีการจัดซื้อเครื่องมือตามที่เป็นข่าว และชี้ว่าข้อมูลตามเอกสารที่ถูกเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ตไม่เป็นความจริง

“ไม่ซื้อ ไม่มีซื้อ ผมคุมอยู่ ไม่มีซื้อ รับรอง” พล.อ.ประวิตร กล่าวสั้นๆ

ด้าน พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิวาท ผบ.ทบ. ชี้แจงเกี่ยวกับข่าวดังกล่าวเช่นกันโดยยืนยันว่า ไม่มีการจัดซื้อเครื่องมือเจาะระบบนั้นแต่อย่างใด

“ในปี 59 เราจัดตั้งศูนย์ไซเบอร์ช่วงต้นปี เราก็มีการจัดซื้ออุปกรณ์มาส่วนหนึ่ง แต่ว่าไม่มีเครื่องมือเอสเอสแอล ส่วนใหญ่อุปกรณ์ที่ซื้อมาก็เป็นเรื่องของการป้องกัน เอสเอสแอลเป็นระบบของการเจาะข้อมูลคอมพิวเตอร์ไม่มีหน้าที่ที่กองทัพบกจะต้องไปจัดหามา ในปีงบประมาณ 60 ก็ไม่มีเช่นกัน ในตัวข้อมูลที่ออกมาเป็นการตบแต่งข้อมูล” พล.อ.เฉลิมชัยกล่าว

ข้อมูลที่อ้างว่า กองทัพบกได้ทำการสั่งซื้อเครื่องถอดรหัส 4 เครื่อง ประกอบด้วย เครื่องถอดรหัส รุ่น SSLX-GEO  2 เครื่องและ รุ่น SSLX-T200 2 เครื่อง โดยใช้เงินงบประมาณปี 2559 ถูกเผยแพร่โดยเฟซบุ๊คแฟนเพจ พลเมืองต่อต้าน Single Gateway: Thailand Internet Firewall #opsinglegateway โดยระบุว่า เป็นข้อมูลที่ได้จากการเจาะระบบเว็บไซต์ของกองทัพบก

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง