บิ๊กโจ๊กร้อง ป.ป.ช. เอาผิด นายกฯ กรณีแต่งตั้ง ต่อศักดิ์ เป็น ผบ.ตร.
2024.07.03
กรุงเทพฯ

พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในวันพุธนี้ให้เอาผิด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้ง พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็น ผบ.ตร. เนื่องจากเชื่อว่า ขัดต่อกฎหมายตำรวจ ด้านนักวิชาการเชื่อ รัฐบาลควรเร่งปฏิรูปตำรวจเพื่อเรียกศรัทธาจากประชาชน
“นายกรัฐมนตรีแถลงต่อสื่อ ได้ให้เหตุผลในการแต่งตั้ง พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็น ผบ.ตร. เพราะสามารถตอบสนองนโยบายรัฐบาลได้ และเป็นที่ไว้วางใจของรัฐบาล ซึ่งสิ่งนี้ไม่ได้เป็นไปตามหลักกฎหมายของ พรบ.ตำรวจฯ” พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กล่าว
พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ เดินทางไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. ในเวลาประมาณ 10.30 น. พร้อมกับเอกสาร 4 แฟ้ม เพื่อร้องให้ ป.ป.ช. เอาผิด นายกรัฐมนตรีฐานใช้อำนาจโดยมิชอบแต่งตั้ง ผบ.ตร. ในเดือนกันยายน 2566
“พล.ต.อ. รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. ซึ่งในขณะนั้น เป็นผู้อาวุโสลำดับที่หนึ่ง หากพิจารณาตาม พรบ.ตำรวจฯ การพิจารณาตำแหน่ง ผบ.ตร. ต้องยึดตามหลักการสอบประเด็นคือเรื่องของความอาวุโส และความรู้ประสบการณ์ด้านการสืบสวนสอบสวน และด้านงานการป้องกันและปราบปราม” พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กล่าวเพิ่มเติม
รอง ผบ.ตร. ระบุว่า การมายื่นกล่าวหานายกรัฐมนตรี ไม่ได้มีการโกรธเคืองเป็นการส่วนตัว แต่เป็นการดำเนินการตามกฎหมายในฐานะพยาน
ด้าน นายเศรษฐา ยังไม่ได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าว แต่ก่อนหน้านี้เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงกรณีความขัดแย้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ว่า ตำรวจควรทำหน้าที่เพื่อประชาชน
“แต่ละคนจะรักใคร ชอบใคร ก็แตกต่างกันไป บางคนรักคนนี้ บางคนชอบคนนี้ แต่ว่าเราอยู่ตรงนี้เพื่อพี่น้องประชาชน เพราะฉะนั้นเรื่องรักเก็บไว้ในใจดีกว่า รวมถึงการก้าวก่าย หรือให้ข่าวไม่อยากให้มีอีกแล้ว เราไม่มีหน้าที่ให้ข่าวเพื่อสนับสนุนคนใดคนหนึ่ง เรามีหน้าที่ที่จะดูแลพี่น้องประชาชน”นายกรัฐมนตรี ระบุ
การร้องเอาผิดนายกรัฐมนตรี ครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากกรณีความขัดแย้งใน สตช. ที่เริ่มต้นจากการที่ บ้านพักของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ถูกบุกตรวจค้น เมื่อเดือนกันยายน 2566 และจับกุมตำรวจคนสนิทของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ 2 คน โดยอ้างว่า เป็นการขยายผลการจับกุมเครือข่ายพนันผิดกฎหมาย
การจับกุมครั้งนั้นเกิดขึ้นก่อนจะมีการแต่งตั้ง ผบ.ตร. คนใหม่ไม่ถึงหนึ่งเดือน ซึ่ง พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ เป็นแคนดิเดตโดยมีความอาวุโสลำดับที่สอง ขณะที่ พล.ต.อ. รอย มีความอาวุโสลำดับที่หนึ่ง แต่ท้ายที่สุด พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ กลายเป็นผู้ได้รับตำแหน่ง ผบ.ตร. ไป แม้มีอาวุโสด้านงานตำรวจเป็นลำดับที่สี่ จึงมีเสียงวิจารณ์ว่า การบุกค้นบ้านนั้นอาจเป็นการเมืองภายใน สตช.
ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ตำรวจสอบสวนกลางได้ดำเนินคดีต่อ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กรณีเกี่ยวข้องกับเครือข่ายพนันฯ โดยคดีของ รอง ผบ.ตร. ถูกส่งฟ้องต่อ ป.ป.ช. กรณีที่เกิดขึ้นทำให้มีข่าวลือว่า พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ขัดแย้งกับ พล.ต.อ. ต่อศักดิ์
“ส่วนตัวไม่ได้มีความขัดแย้งกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ไม่เคยคิด อยู่กันแบบพี่น้อง อย่าให้เป็นประเด็นดีกว่า” พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ ปฏิเสธข่าวความขัดแย้งอีกครั้งในวันพุธนี้
ความขัดแย้งใน สตช. ที่เกิดขึ้นตลอดหลายเดือนทำให้เดือนมีนาคม 2567 นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้ย้าย พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ และ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ เข้าไปช่วยราชการที่สํานักนายกรัฐมนตรี และตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ทั้งพล.ต.อ. ต่อศักดิ์ และ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ถูกให้กลับมาปฏิบัติราชการที่ สตช. แล้ว โดยคณะกรรมการฯ ที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้นระบุว่า ใน สตช. มีความขัดแย้งจริง แต่ไม่ได้มีคำสั่งลงโทษใด อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ยังต้องอยู่ระหว่างการให้ออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อเข้ากระบวนการสอบสวนทางวินัยของ สตช. กรณีที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเครือข่ายพนันฯ
ต่อกรณีที่เกิดขึ้น นายวรชาติ อาวิพันธ์ นักวิชาการสถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ ชี้ว่า รัฐบาลควรเร่งจัดการปัญหานี้
“รัฐบาลต้องผลักดันการปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเร่งหาแนวทางปรองดอง เพื่อเรียกศรัทธาจากประชาชน สิ่งที่รัฐบาลควรทำอย่างยิ่งคือ ยกระดับมาตรฐานทางจริยธรรมและวินัยเพื่อเรียกความน่าเชื่อถือของวงการตำรวจ” นายวรชาติ กล่าว
ก่อนหน้านี้เมื่อมีชื่อเป็นผู้ต้องหา พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ เปิดเผยกับสื่อว่า มีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่อยู่เบื้องหลังการดำเนินคดีกับตนเอง และตนเองได้ให้ทนายความยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. ให้สอบสวนการทุจริตของตำรวจกว่า 200 คน
และในเดือนเมษายน 2567 นายษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ ได้แจ้งความดำเนินคดีกับ พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และภรรยา ในข้อหาฟอกเงินด้วย
รุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน