นักปั่นไทยเสร็จสิ้นการปั่น เพื่อความสามัคคีจากเหนือลงใต้
2015.10.07

สัปดาห์นี้ คณะนักปั่นไทยได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นในจังหวัดชายแดนใต้สุดของไทย ขณะสิ้นสุดการปั่นทรหดที่มีระยะทางถึง 2,674 กิโลเมตร เพื่อหาทุนสร้างโรงเรียนฝึกวิชาชีพแห่งหนึ่งในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่กำลังประสบปัญหา และเพื่อส่งเสริมความสามัคคีของคนในประเทศ
นักปั่นจำนวนสามสิบสี่คนในโครงการ ปั่นรวมใจไทย เดินทางถึงอำเภอเบตง จังหวัดยะลา พื้นที่ชายแดนใต้สุดของไทย เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม นับเป็นการปั่นที่ใช้เวลา 38 วัน หลังจากออกเดินทางจากอำเภอแม่สาย พื้นที่เหนือสุดของไทยในจังหวัดเชียงราย
การปั่นจักรยานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลายอย่าง รวมทั้งเพื่อช่วยให้คนไทยทั่วประเทศทราบมากขึ้นเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนใต้สุดของไทย ซึ่งราษฎรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และเป็นพื้นที่ซึ่งเหตุรุนแรง อันเนื่องมาจากผู้ก่อความไม่สงบที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วจำนวนกว่า 6,000 ราย ในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา
“คนในส่วนอื่นของประเทศมักจะได้ยินข่าวที่ไม่ดีจากสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้สุด” พ.อ. ชาติชาย เกื้อกิจ บอกแก่เบนาร์นิวส์ไม่กี่วันก่อนหน้านี้ ในอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
พ.อ. ชาติชาย นักปั่นคนหนึ่งในโครงการนี้ และผู้จัดงานการปั่นครั้งนี้ ยังเป็นโฆษกของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ในจังหวัดยะลา ซึ่งเป็นกองบัญชาการทหารของไทยที่รับผิดชอบพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้สุดของไทย
“เราอยากให้ความจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ที่แท้จริงที่นั่น เป็นที่ประจักษ์แก่คนภายนอก จากคนไทยคนหนึ่งถึงคนไทยคนอื่นโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านบรรดาสื่อต่าง ๆ" เขาอธิบาย
คัดเลือกอย่างระมัดระวัง
เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์นี้ การคัดเลือกผู้เข้าร่วมในการปั่นครั้งนี้ไม่ได้พิจารณาที่ความสามารถในการปั่นจักรยาน แต่จากทักษะอื่น ๆ เช่น การพูดต่อหน้าชุมชน และยังคัดเลือกคนจากแต่ละภาค เพื่อให้แน่ใจว่ามีตัวแทนจากแต่ละภาคของประเทศจำนวนเท่า ๆ กัน
หลังสิ้นสุดการปั่นในแต่ละวัน คณะนักปั่นผู้เหนื่อยล้าจะขึ้นไปบนเวทีเป็นเวลาสองหรือสามชั่วโมง เพื่อพูดให้คนท้องถิ่นฟังถึงประสบการณ์การปั่น ก่อนที่จะพักค้างแรมในค่ายกลางแจ้ง โดยปกติแล้วในฐานทัพทหารหรือสถานที่ตั้งอื่นของรัฐบาล
พ.อ. ชาติชาย เกื้อกิจ (เสื้อสีม่วง) และ มหามาซุลกิฟลี สนี (เสื้อเหลือง) สองนักปั่น ยืนอยู่หน้าศูนย์ศิลปวัฒนธรรมบูรพาจารย์ ในอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา [เบนาร์นิวส์]
มหามาซุลกิฟลี สนี วัย 21 ปี คนพื้นที่อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เป็นหนึ่งในสี่คนที่ร่วมในการปั่นครั้งนี้ ซึ่งจบโครงการอบรมวิชาชีพมูลนิธิพระดาบสในอำเภอเมือง จังหวัดยะลา มูลนิธิดังกล่าวเป็นโครงการในพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
“ในตอนแรก มูลนิธิพระดาบสได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อ 40 ปีที่แล้ว แต่เมื่อหกปีก่อน ได้มีการเปิดศูนย์แห่งหนึ่งขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อช่วยเยาวชนชายเช่นตัวผม ผู้ที่ไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างเป็นทางการ ให้มีทักษะวิชาชีพและหางานทำได้” เขากล่าว
มูลนิธิดังกล่าวเสนอทุนการศึกษาจำนวน 100,000 บาท แก่เยาวชนชายอายุ 18-25 ปี ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เพื่อให้เข้ารับการอบรมวิชาชีพเป็นระยะเวลาหนึ่งปี ด้านการซ่อมรถ จักรยาน และอุปกรณ์การเกษตร
“หลังจากที่ผมทราบเกี่ยวกับโครงการนี้ ผมรู้สึกมีแรงบันดาลใจที่จะเข้าร่วม ถึงแม้ว่าผมจะขี่จักรยานไม่เป็นก็ตาม” มหามาซุลกิฟลี
มูลนิธิดังกล่าวเป็นผู้ดำเนินการหาทุนสำหรับโครงการปั่นจักรยานครั้งนี้ "เราหาเงินได้ประมาณ 200,000 บาท จากกิจกรรมระดมทุนต่างๆในระหว่างทาง แต่ทางมูลนิธิเอง ก็สามารถหาทุนจากการขายสายรัดข้อมือสีเหลืองและสีม่วงในโครงการปั่นจักรยานครั้งนี้ด้วย" พ.อ. ชาติชาย บอกแก่เบนาร์นิวส์ และกล่าวต่อว่า เขาไม่ทราบจำนวนเงินของรายได้ หลังจากโครงการนี้เสร็จสิ้นแล้ว
ตรากตรำ
ในระหว่างการปั่นครั้งนี้ คณะนักปั่นได้เก็บตัวอย่างดินจากบริเวณหน้าเสาธงของโรงเรียนทางผ่านแต่ละแห่งจำนวน 27 แห่ง เพื่อนำไปใช้ในการปลูกต้นราชพฤกษ์ จำนวนเก้าต้น ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในอำเภอเบตง
คณะนักปั่นยังเก็บรวบรวมไปรษณียบัตรตามแต่ละจุด เพื่อพยายามสร้างความสัมพันธ์เพื่อนทางจดหมายระหว่างคนไทยที่อาศัยในส่วนอื่นของประเทศ กับคนไทยที่อาศัยในสามจังหวัดชายแดนใต้สุดด้วย
นักปั่นจำนวนหกคนจากทั้งหมด 40 คนในตอนต้น ได้ถอนตัวกลางคันในจังหวัดสงขลา นี่รวมถึงนักปั่นห้าคนที่ถอนตัวในอำเภอหาดใหญ่ พื้นที่ที่เปรียบเสมือนประตูสู่สามจังหวัดชายแดนใต้สุดของไทย
“เราเริ่มรู้สึกเครียดมาก หลังจากถึงระยะ 2,000 กิโลเมตร เราถูกเข้มงวดขึ้นกว่าเดิมมาก” สุนี ไชยกุล ผู้แทนจากภาคเหนือของไทย ซึ่งทำธุรกิจมัคคุเทศก์อิสระในอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย กล่าว
พ.อ. ชาติชาย ยืนยันทางโทรศัพท์ว่า เฉพาะนักปั่นที่ “ปฏิบัติตามกฎ” เท่านั้นจึงจะสามารถปั่นจนถึงจุดหมายปลายทางสุดท้ายได้ ซึ่งเป็นจุดตรวจที่ชายแดนติดกับมาเลเซีย และอยู่นอกอำเภอเบตง
นักปั่นจำนวนที่เหลือ 34 คน ถึงจุดหมายปลายทางที่อำเภอเบตงตามกำหนดการ โดยมีคนไทยทั้งชาวมุสลิมและพุทธจำนวนมากยืนถือธงโบกรอทักทายอยู่
ช่วงสุดท้ายของการปั่นครั้งนี้ยังเป็นช่วงที่ตรากตรำที่สุดด้วย เนื่องจากเส้นทางจากอำเภอเมืองยะลาไปยังอำเภอเบตง มีระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร เป็นเส้นทางที่คดเคี้ยวและเป็นภูเขา และเต็มไปด้วยด่านตรวจจำนวนมากมายในอำเภอ เช่น อำเภอบันนังสตา ซึ่งในปี 2557 มีเหตุรุนแรงจากผู้ก่อความไม่สงบเกิดขึ้นจำนวนมากที่สุด
หลังเสร็จสิ้นการปั่นในครั้งนี้ อูมาน เจห์ซู คนพื้นที่อำเภอเบตง ผู้เข้าร่วมในการปั่นครั้งนี้ด้วย บอกแก่เบนาร์นิวส์ว่า “ผมภูมิใจที่ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของคนอำเภอเบตง และของคนในสามจังหวัดชายแดนใต้สุด ในการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนงานของมูลนิธิพระดาบสในสามจังหวัดชายแดนใต้สุด
ตลอดระยะทาง 2,674 กิโลเมตร เรารู้สึกซาบซึ้งในมิตรภาพ การดูแล และกำลังใจที่ได้รับ อันเห็นได้จากไปรษณียบัตรและจดหมายที่ผู้จัดงานเก็บรวบรวมจากผู้คนตลอดเส้นทางการปั่น” เขากล่าว