โคลนและขยะ บททดสอบการฟื้นฟูหลังน้ำท่วมใหญ่ของคนเหนือ
2024.10.29
เชียงราย

โคลนที่ท่วมสูงกว่า 2 เมตร ทำให้การฟื้นฟูและทำความสะอาดเป็นเรื่องท้าทายและต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในอำเภอแม่สาย
หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อวันที่ 10 กันยายน ที่ผ่านมา ชุมชนหลายแห่งในอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ต้องเผชิญกับดินโคลนและขยะที่มวลน้ำป่าพัดพาเข้ามาอย่างหนัก สร้างความเสียหายต่อบ้านเรือน ร้านค้า และพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะในชุมชนเกาะทราย ถ้ำผาจม และตลาดสายลมจอย
แม้ว่าชาวบ้านและผู้ประกอบการ ได้เริ่มต้นทำความสะอาดบ้านและร้านค้าของตนเองแล้ว แต่การจัดการกับโคลนที่ท่วมสูงและขยะจำนวนมากยังคงเป็นปัญหาหลัก หลายคนพยายามกวาดล้างและนำขยะมากองไว้หน้าบ้าน เพื่อรอการขนย้าย
นายยูดะ จะโจ หนึ่งในชาวบ้านห้วยทรายขาว เล่าว่า พวกเขาโชคดีที่รอดชีวิต
“น้ำไหลเข้ามาเร็วมาก ขณะนั้นผมกำลังเอากิ่งไม้ออกจากลำธารที่อยู่หน้าบ้าน ได้ยินเสียงดังมาจากข้างหลัง พอดูเห็นดินโคลนจากหุบเขาไหลลงมาอย่างรวดเร็ว ผมต้องรีบกระโดดขึ้นไปอยู่บนเนินและตะโกนบอกภรรยาให้รีบออกมาจากบ้าน"
"โชคดีที่เราเอาลูกคนโตไปอยู่หอพัก ไม่งั้นเราอาจเสียเขาไป”
นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ประเมินว่า “อำเภอแม่สาย มีขยะที่เกิดจากน้ำท่วมกว่า 18,000 ตัน”
โดยที่ผ่านมามีการใช้อาสาสมัครร่วม 1,000 คน ในการแก้ไขสถานการณ์เบื้องต้น คาดว่าอาจต้องใช้เวลาถึง 6 เดือน ในการฟื้นฟูให้เมืองกลับมาอยู่ในสภาพปกติ
ปัญหาหลักในการจัดการดินโคลนที่ไหลมาท่วมหมู่บ้านคือ การอุดตันของรางน้ำและท่อระบายน้ำ ซึ่งทำให้น้ำขังอยู่ในหลายจุด ไม่สามารถระบายออกได้ ส่วนราชการได้วางแผนการฟื้นฟูโดยเริ่มจากการขจัดขยะและดินโคลนออกจากถนนก่อน เพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างราบรื่น
แต่เนื่องจากชาวบ้านเร่งทำความสะอาดบ้านของตนก่อน ทำให้การล้างขยะและโคลนบนถนนทำได้ล่าช้ากว่าที่ควร
ปัญหาการฟื้นฟูและการจัดการขยะหลังน้ำท่วมในแม่สาย เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายที่ประเทศไทยต้องเผชิญในการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พื้นที่ที่เคยปลอดภัยจากน้ำท่วมกลับกลายเป็นจุดเสี่ยงในปัจจุบัน โดยประเทศไทยจัดเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงเป็นอันดับที่ 9 ของโลก ต่อการได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“มันเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับเราทุกคน” นายยูดะกล่าว
“เราพยายามรักษาป่าและสิ่งแวดล้อมให้ดีที่สุด แต่เหตุการณ์แบบนี้ทำให้เราเห็นความจริงว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่เราต้องเผชิญในทุกวัน”

อาสาสมัครจากคริสตจักรสานสัมพันธ์เชียงราย เข้าขุดลอกโคลนที่แข็งตัวไปแล้ว หลังผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมมา 2 สัปดาห์ อ.แม่สาย จ.เชียงราย วันที่ 26 ตุลาคม 2567 (นาวา สังข์ทอง/เบนาร์นิวส์)
ดินโคลนที่พัดเข้าสู่บ้านเรือนที่เคยสูงถึง 2 เมตร ขณะถูกทยอยขนออกมาเรื่อย ๆ โดยกลุ่มอาสาสมัครภาคประชาชน อ.แม่สาย จ.เชียงราย วันที่ 25 ตุลาคม 2567 (สาโรช เมฆโสภาวรรณกุล-ไทยนิวส์พิกซ์/เบนาร์นิวส์)
กลุ่มอาสาสมัครภาคประชาชน เข้าจัดการดินโคลนจำนวนมหาศาลที่พัดพาเข้าสู่บ้านเรือน อ.แม่สาย จ.เชียงราย วันที่ 25 ตุลาคม 2567 (สาโรช เมฆโสภาวรรณกุล-ไทยนิวส์พิกซ์/เบนาร์นิวส์)
สภาพของรถยนต์และรถจักรยานยนต์แช่อยู่ในโคลนที่แข็งตัวแล้ว หลังผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมราว 2 สัปดาห์ อ.แม่สาย จ.เชียงราย วันที่ 25 ตุลาคม 2567 (สาโรช เมฆโสภาวรรณกุล-ไทยนิวส์พิกซ์/เบนาร์นิวส์)
ชาวบ้านในชุมชนเกาะทราย อ.แม่สาย จ.เชียงราย รอรถตักโคลนจากเทศบาลตำบลแม่สาย เข้ามาจัดการโคลนที่แข็งตัวตามลำดับคิวแต่ละวัน วันที่ 26 ตุลาคม 2567 (นาวา สังข์ทอง/เบนาร์นิวส์)
นายยูดะ จะโจ ชาวแม่สาย ขนสิ่งของที่จมอยู่ในโคลนเป็นเวลานานออกจากบ้านของญาติในละแวกเดียวกัน อ.แม่สาย จ.เชียงราย วันที่ 26 ตุลาคม 2567 (นาวา สังข์ทอง/เบนาร์นิวส์)
แมวน้อยในชุมชนเกาะทราย พยายามจะกลับเข้าไปในบ้านของตัวเอง แต่ตัวเลอะไปด้วยโคลนเสียก่อน อ.แม่สาย จ.เชียงราย วันที่ 26 ตุลาคม 2567 (นาวา สังข์ทอง/เบนาร์นิวส์)