ศาลอนุมัติหมายจับผู้ต้องหา 2 ราย คดียิง 15 ชรบ. ยะลา แล้ว
2019.11.11
ปัตตานี

ในวันจันทร์นี้ ศาลจังหวัดยะลาได้อนุมัติหมายจับ นายซะอุดี ติงอูเซ็ง และนายนัสรูเลาะห์ สะมะ ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีที่คนร้ายที่ก่อเหตุบุกยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจ อาสาสมัคร และชาวบ้าน ในจังหวัดยะลา เสียชีวิต 15 คน เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2562 โดยเป็นการออกหมายจับ หลังจากเจ้าหน้าที่ตรวจพบดีเอ็นเอของทั้งคู่ในที่เกิดเหตุ
พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 9 เปิดเผยแก่สื่อมวลชนระบุว่า สามารถยืนยันตัวคนที่เชื่อว่า เกี่ยวข้องกับเหตุดังกล่าวได้แล้ว จากการตรวจสอบดีเอ็นเอ จึงนำไปสู่การร้องต่อศาลให้ออกหมายจับ
“วันนี้ เราสามารถยืนยันตัวคนร้ายในคดี ได้แล้ว 2 คน ออกหมายจับแล้ว จากผลการตรวจดีเอ็นเอ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทำไมมีดีเอ็นเอในที่เกิดเหตุ ทั้งคู่ เป็นผู้ต้องหาที่เคยถูกออกหมายจับแล้ว รอยเลือดเยอะมาก เราตัดเลือดที่เป็นของคนตายออกไป 15 คน และคนเจ็บ 5 คน ก็เหลือรอยเลือดอีก 5 คนที่ระบุตัวยังไม่ได้ ถ้าไม่ใช่คนเจ็บ ไม่ใช่คนตาย ก็คือคนร้าย” พล.ต.ท.รณศิลป์ กล่าว
“5 คนที่เราเจอเลือดในที่เกิดเหตุพิสูจน์ทราบได้คือ นายซะอุดี ติงอูเซ็ง และนายนัสรูเลาะห์ สะมะ ทั้งสองคนมีหมายจับอยู่แล้ว เป็นคดีความมั่นคง เช่น คดีเผารถทัวร์บริษัทชินวร อ.เมือง จ.ยะลา ปี 2560” พล.ต.ท.รณศิลป์ กล่าวเพิ่มเติม
พล.ต.ท.รณศิลป์ ระบุว่า มีผู้ต้องสงสัย 6 คน ซึ่งคุมตัวได้จากการค้นเป้าหมาย เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ปัจจุบัน อยู่ในกระบวนการซักถาม ยังไม่มีการออกหมายจับหรือตั้งข้อหาแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ตำรวจยังเชื่อว่า การก่อเหตุเป็นคนร้ายจาก 2 กลุ่มคือ กลุ่มจากจังหวัดปัตตานี ของ นายบูคอรี-ซอบรี-รอซาลี สามพี่น้องตระกูลหลำโซ๊ะ และกลุ่มยะลา ซึ่งมี นายอับดุลเลาะ โต๊ะเต้ นายรอกิ ดอเลาะ นายฮูไบดีละห์ รอมือลี และ นายอหมัด ตืองะ เป็นแกนนำกลุ่ม เพราะมีลักษณะการก่อเหตุคล้ายกับเหตุในอดีต
นายอาบู ฮาฟิซ อัล-ฮาคิม โฆษกของกลุ่มมาราปาตานี ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการเจรจาสันติสุขกับรัฐบาลไทยในกรุงเทพฯ ได้โพสต์บล็อกเมื่อวันอาทิตย์ ส่วนหนึ่งของบล็อกกล่าวว่า เขาเชื่อว่า บีอาร์เอ็น กลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนติดอาวุธที่มีกำลังมากที่สุด ในพื้นที่ชายแดนใต้ อาจอยู่เบื้องหลังการโจมตีเมื่อวันที่ 5 พ.ย.
กลุ่มมาราปาตานี อยู่ในระหว่างการพูดคุยกับรัฐบาลไทย ในฐานะตัวแทนกลุ่มที่นำการเจรจาสันติภาพในห้วงสี่ปีที่ผ่านมา โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ในการพบปะเพื่อพูดคุยสันติสุข โดยกลุ่มบีอาร์เอ็นได้หลีกเลี่ยงการเข้าร่วมมีบทบาทในการพูดคุยมาโดยตลอด
ขณะเดียวกัน อดีตแกนนำบีอาร์เอ็น (สงวนชื่อและนามสกุล) รายหนึ่ง ซึ่งเคยเคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อว่า นายบูคอรี หล่ำโสะ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการก่อเหตุเมื่อสัปดาห์ก่อน ตามที่ตำรวจเชื่อ
“บูคอรี หล่ำโสะ อดีตเขาเป็นเด็กวัยรุ่นทั่วไป ไม่ได้เก่งกาจสามารถ ทำอะไรได้มากตามที่เป็นข่าว แรกๆเจ้าหน้าที่แค่สงสัยในตัวเขาแล้วมีหมายเชิญตัวเขาให้ไปมอบตัว ก็มีบางคนเชียร์ให้ออกไป และก็มีบางคนบอกให้ถอย เขาเลือกถอย เพราะเห็นมาเยอะแล้ว ไม่ได้ทำอะไร แต่สุดท้ายต้องรับในสิ่งที่ไม่ได้ทำ” อดีตแกนนำบีอาร์เอ็น กล่าว
“เมื่อเขาหนี เขาเลยกลายเป็นผู้ต้องหา ทีนี้ในช่วงหลังมา ไม่ว่าเหตุการณ์ไหน บูคอรี คือพระเอกของเรื่องทุกครั้ง ทั้งๆที่มนุษย์คนหนึ่งไม่มีทางที่จะมีความสามารถขนาดนั้นได้ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน เขาก็เลยหนี อยู่ที่ไหนก็ไม่มีใครรู้เลย” แหล่งข่าวรายดังกล่าวระบุ
แกนนำบีอาร์เอ็นรายเดิมระบุว่า การโจมตีแต่ละครั้งในปัจจุบัน ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเป็นฝีมือของใคร เนื่องจากรูปแบบการปฏิบัติการคล้ายกัน และเป็นการโจมตีที่ไม่แบ่งแยกเป้าหมาย
นายสุรียา บอซู ผู้ใหญ่บ้านควนหรัน ม.2 ต.เปียน อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา กล่าวว่า พี่น้องตระกูลหล่ำโสะ เคยเป็นลูกบ้านควนหรัน ม.2 ต.เปียน แต่หลังจากที่ถูกฝ่ายความมั่นคงออกหมายจับ ก็ได้ย้ายไปอยู่ที่อื่น ขณะที่บิดาและมารดาของทั้ง 3 คนก็ย้ายไปที่อื่นโดยอ้างว่า ย้ายไปเพื่อทำเกษตร ทำให้ปัจจุบันไม่ทราบว่า ตระกูลหล่ำโสะอยู่ที่ใด