ญาติผู้เสียชีวิตเพราะจนท.17 ราย ชายแดนใต้ รับเงินชดเชย

มารียัม อัฮหมัด
2018.01.11
ปัตตานี
180111-TH-compensation-620.jpg นายกิตติ สุระคำแหง รองเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คนซ้าย) เป็นประธาน มอบเงินชดเชยแก่ญาติผู้เสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ หรือกระสุนลูกหลง วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2561
มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์

นายกิตติ สุระคำแหง รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เป็นประธานในการมอบเงินช่วยเหลือเยียวยา ให้กับตัวแทนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ สืบเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 17 ราย ในวันพฤหัสบดี (11 มกราคม พ.ศ. 2561) นี้

ในพิธีดังกล่าวที่จัดขึ้นที่ห้องประชุมน้อมเกล้า อาคารเอนกประสงค์ ศอ.บต. โดยมี นายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานยุติธรรม ศอ.บต. นางน้ำทิพย์ จันทรสกุล ผู้อำนวยการสำนักการให้ความช่วยเหลือเยียวยา ศอ.บต. ตัวแทนแต่ละอำเภอในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และตัวแทนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ 17 ราย เข้าร่วมประชุมด้วย

นายกิตติ สุระคำแหง รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า สืบเนื่องจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) มีมติอนุมัติเงินช่วยเหลือเยียวยาตามระเบียบ กพต. ซึ่งเป็นเงินช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติมเพื่อการอำนวยความเป็นธรรม ตามสภาพปัญหาและความจำเป็นเร่งด่วน จำนวน 17 รายๆ ละ 1,000,000 บาท เป็นเงิน 17,000,000 บาท พร้อมมอบเงินการศึกษารายปีและเงินยังชีพรายเดือนสำหรับทายาทผู้เสียชีวิต เป็นเงิน 4,609,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 21,609,000 บาท เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2550

“อย่างที่เข้าใจกันดีว่าการเยียวยาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการเยียวยาเฉพาะกรณีหรือมติของ ครม. เป็นการเยียวยาจำเพาะเหตุการณ์ความไม่สงบ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่อื่นไม่มี และมีระเบียบมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับด้วยกัน ที่สำคัญอีกอย่าง คือ การเยียวยาตามระเบียบ กพต. ซึ่งเป็นการเยียวยาที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เป็นเหตุสืบเนื่องความไม่สงบ 17 กรณี” นายกิตติ กล่าว

“ผู้ที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ ได้รับการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือการแสวงหาข้อเท็จ การสืบสวนสอบสวนคดี”

ในการพิจารณาให้เงินชดเชยนั้น จะเห็นว่าผู้เสียชีวิตเหล่านี้มีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ 1. เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ 2. เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 3. จากวิธีการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าบุคคลที่เสียชีวิต ล้วนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดอันเป็นเหตุให้เสียชีวิต

“เป็นที่แน่ชัดว่าเกิดจากการกระทำโดยพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือการกระทำด้วยกระสุนลูกหลง ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ องค์ประกอบทั้งสามส่วน เมื่อเข้าระเบียบ กพต. จึงเข้าสู่ระบบการให้ความช่วยเหลือเยียวยา” นายกิตติกล่าว

นายประสิทธิ์ กาสอ ซึ่งสูญเสียลูกชายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ปี 2550 กล่าวว่า ตนเองจะนำเงินเยียวยาที่ได้รับมอบในวันนี้ ไปทำบุญให้กับลูกชายที่เสียชีวิต และขอบคุณเลขาธิการ ศอ.บต. ที่ได้เห็นความสำคัญของผู้เดือดร้อน

“รู้สึกดีใจที่ได้มารับฟังการชี้แจงให้ทราบถึงขั้นตอนการรับมอบเงิน แต่มองว่าเรื่องเงินไม่สำคัญ ที่สำคัญคือด้านความเข้าใจและศอ.บต.ไม่ทอดทิ้งพวกเรา” นายประสิทธิ์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“เมื่อวานทาง ศอ.บต.ให้เงินช่วยเหลือเยียวยามาส่วนหนึ่งกับทางครอบครัว ขอบคุณมาก ที่ยังไม่ลืมพวกเราจะนำเงินไปทำบุญให้ลูกและเป็นค่าใช้จ่ายให้กับน้องๆ ของซูไฮมีได้เรียนหนังสือ” นายมะหามะ เซ็นและ พ่อของนายซูไฮมี เซ็น และหนึ่งในผู้เสียชีวิตจากกระสุนของเจ้าหน้าที่ เมื่อปี 2558 กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ในภาพรวมนั้น เจ้าหน้าที่ ศอ.บต. รายหนึ่งกล่าวว่า ทางการไทยได้มอบเงินชดเชยกรณีการเสียชีวิตและบาดเจ็บแก่เหยื่อไฟใต้กว่าหนึ่งหมื่นราย คิดเป็นยอดเงินกว่า 5,000 ล้านบาท ทั้งนี้มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี 2547 แล้ว ประมาณ 7,000 คน บาดเจ็บประมาณ 13,000 ราย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง