โลกร้อนพ่นพิษ ปี 67 คนไทยเสียชีวิตจากอากาศร้อนแล้ว 61 คน
2024.05.10
กรุงเทพฯ

นพ. อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า สภาพอากาศร้อนจัดในช่วงฤดูร้อนปี 2567 ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อนแล้ว 61 ราย จึงเตือนให้ประชาชนงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง หากเป็นไปได้ดื่มน้ำให้มาก เพื่อลดความเสี่ยงในการเสียชีวิต
“ปี 2567 มีรายงานผู้เสียชีวิต 61 ราย มีรายงานสูงสุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 33 ราย ภาคกลางและภาคตะวันตก 13 ราย และภาคเหนือ 10 ราย ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยทำงานและสูงอายุ เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง และเกษตรกรรม” นพ. อภิชาต กล่าว
“หลายพื้นที่ของประเทศยังคงมีอากาศร้อนอบอ้าว ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคลมร้อน หรือ ฮีทสโตรก ซึ่งเกิดจากภาวะที่ร่างกายร้อนเกิน 40 องศาเซลเซียส จนกระทบต่ออวัยวะและระบบต่าง ๆ ในร่างกาย อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงและผู้ที่ต้องอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุ
ข้อมูลกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุว่า หากนับรวมตั้งแต่ปี 2561 จนถึงวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 มีผู้เสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อนรวม 200 ราย โดยสามารถแบ่งปัจจัยร่วมที่ทำให้เสียชีวิตได้ ดังนี้ โรคประจำตัว 49.2% ดื่มสุราเป็นประจำ 62.1% และทำงานกลางแจ้ง 27.6%
กลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ คนอ้วน และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ตลอดจนผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นักกีฬา คนงานก่อสร้าง เกษตรกร หรือทหาร ที่ต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน
นพ. อภิชาต ระบุว่า ประชาชนสามารถลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อนได้ โดยลดกิจกรรมการแจ้งในช่วง 11.00-15.00 น., ดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อย 2-4 แก้ว ต่อชั่วโมง, งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ และเครื่องดื่มน้ำตาลสูง, สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี, หากต้องทำงานกลางแจ้งให้เข้าพักในที่ร่มเป็นระยะ, ห้ามทิ้งเด็กเล็กไว้ในรถที่จอดตากแดด, และหากมีอาการผิดปกติ เช่น หน้ามืด เวียนศีรษะ คลื่นไส้ หายใจเร็ว ให้รีบหลบเข้าที่เย็น
“ให้สงสัยเบื้องต้นว่าเป็นฮีทสโตรก การปฐมพยาบาลจะต้องทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลงให้เร็วที่สุดก่อนนำส่งโรงพยาบาล เช่น ย้ายผู้ป่วยมาในที่ร่ม จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงาย ยกขาสูง ถอดเสื้อผ้า ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามร่างกายโดยเฉพาะบริเวณหลังคอ รักแร้ ขาหนีบ และใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน หากผู้ป่วยยังรู้สึกตัวอยู่ให้ดื่มน้ำ/น้ำเกลือแร่ เพื่อชดเชยภาวะขาดน้ำ จากนั้นรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุ
ขณะเดียวกัน กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ว่า ประเทศไทยจะมีอุณหภูมิตั้งแต่ 24-39 องศาเซลเซียส มีอากาศร้อนจัดในช่วงเวลากลางวัน และอาจมีฝนตกฟ้าคะนองในบางพื้นที่ ภาคที่คาดว่าจะอุณหภูมิสูงที่สุดคือภาคเหนือ โดยปี 2567 นับเป็นปีที่มีอากาศร้อนที่สุดนับตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งเคยพบอุณหภูมิสูงถึง 44.5 องศาเซลเซียส
ดร. ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในปีนี้ภาคเหนือมีสภาพอากาศร้อนจัดโดยบางวันมีอุณหภูมิสูงถึง 45 องศาเซลเซียส ทำให้พบปริมาณผู้ป่วยจากสภาพอากาศร้อนมากขึ้นเช่นกัน
“บางวัน 45 องศาเซลเซียส กลุ่มเสี่ยงทั้งเด็ก, หญิงตั้งครรภ์, ผู้มีโรคประจำตัว, ผู้สูงอายุ, ผู้ทำงานกลางแจ้ง เป็นต้น ให้ระวังฮีทสโตรกเป็นพิเศษจากสภาวะที่อุณหภูมิในร่างกายสูงมากจนร่างกายไม่สามารถปรับตัวลดอุณหภูมิให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ซึ่งส่งผลเสียต่อระบบประสาท หัวใจ ไต และเป็นเหตุให้เกิดการเสียชีวิตได้” ดร.ทรงยศ กล่าว
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) เผยข้อมูลจากดาวเทียมว่า พบจุดความร้อนทั้งประเทศ 386 จุด โดยพบมากที่สุดในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านพบมากที่สุดในเมียนมา 552 จุด ลาว 274 จุด มาเลเชีย 115 จุด เวียดนาม 85 จุด และกัมพูชา 79 จุด