ศอ.บต.สรุปผลสอบ “ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน” ชายแดนใต้ โปร่งใส
2018.04.26
ปัตตานี

นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวในวันพฤหัสนี้ว่า ทาง ศอ.บต.ได้ยุติการสอบสวนโครงการการจัดซื้อตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ โดยพบว่าไม่มีการทุจริต ในการจัดซื้อเครื่องกรองน้ำที่มีราคาเครื่องละห้าแสนกว่าบาท จำนวน 93 เครื่อง แต่อย่างใด
ในปี 2559 ศอ.บต.ได้จัดซื้อเครื่องกรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ 93 เครื่อง จากบริษัท เซ็นทริก (ประเทศไทย) จำกัด ในราคาเครื่องละ 549,000 บาท ด้วยวิธีพิเศษ ไม่มีการประกวดราคา โดยผ่านการอนุมัติในหลักการจาก รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ จนเป็นที่ต้องสงสัยในความโปร่งใสจากสังคม จากนั้น ศอ.บต.ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยและบุคคลภายนอกเข้าร่วมด้วย
“ยืนยันไม่มีทุจริต ก่อนหน้านี้ เราถูกตีว่าเราตั้งพวกกันเอง สอบกันเอง จริงๆ ผมตั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีความรู้เรื่องนี้มาเป็นกรรมการสอบด้วย มีภาคประชาสังคมร่วมด้วย ผลคือทุกอย่างน่าจะจบแบบที่เล่าให้ฟัง คือ ไม่โกง ไม่ทุจริต คุ้มค่า คณะกรรมการมีความรู้ เป็นอิสระ ไม่ได้ถูกควบคุมจากผม... สื่อบางสื่อบอกโกง ไม่มี มันโกงไม่ได้อยู่แล้ว ราคาต่ำกว่าท้องตลาดเยอะแยะ" นายศุภณัฐ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
นายศุภณัฐ กล่าวอธิบายว่า การจัดซื้อตู้กรองน้ำเป็นความต้องการของชาวบ้าน หลังจากที่รองเลขาธิการ ศอ.บต.ลงตรวจเยี่ยมพื้นที่ โดยในปี 2559 นั้นอยู่ในช่วงใกล้สิ้นสุดปีงบประมาณ จึงต้องใช้การจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษเป็นไปตามมติ ครม. และหนังสือของกระทรวงการคลังที่อนุญาตชัดเจน มิฉะนั้นต้องส่งงบประมาณของปีนั้นคืนรัฐบาล
"เนื่องจากตู้กรองน้ำนี้เป็นเทคนิคชั้นสูง ในพื้นที่ไม่มี เราก็จ้างวิธีพิเศษ แต่เราก็สอบราคา เชิญผู้รับจ้างที่มีประสบการณ์มาคุยกัน เชิญ 3 ราย มาแค่ 2 ราย ส่วนราคากลาง ก็เป็นราคากลางที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ดำเนินการให้ ราคาอยู่ที่ 6 แสนกว่าบาท แต่เราซื้อได้ราคา 5 แสนกว่าบาท" นายศุภณัฐ กล่าว
นายศุภณัฐ กล่าวว่า เครื่องกรองน้ำดังกล่าว มีความทันสมัย ได้รางวัลเซเว่น อินโนเวชั่น อวอร์ด ซึ่งเป็นรางวัลระดับประเทศ ตัวเครื่องมีระบบควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ มีความคุ้มค่า เพราะสามารถผลิตน้ำได้ 4 พันลิตรต่อวัน เพื่อแจกจ่ายให้ชาวบ้าน เมื่อคิดราคาน้ำ โดยตั้งราคาพื้นที่ฐานที่ลิตรละ 5 บาท ก็เท่ากับว่าชาวบ้านประหยัดเงินได้วันละ 2 หมื่นบาท ถ้าคิดเป็นเดือน ก็เดือนละ 6 แสนบาท
สำหรับโครงการจัดซื้อตู้กรองน้ำล็อตที่สอง ประมาณ 75 ตู้ ราคา 45 ล้านบาท นั้น นายศุภณัฐ ตอบว่า ในเรื่องต้องระงับไว้ก่อน เพราะมีข้อเสนอถึงผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ปรับบทบาทของ ศอ.บต. และงบประมาณส่วนนี้ กำลังจะถูกปรับเปลี่ยน
"ตอนนี้โรงเรียน มัสยิด ขอมาเยอะ แต่ต้องชะลอไว้ก่อน ต้องพิจารณาก่อน เพราะต้องปรับงบนี้จะเอาไปใช้อะไร ต้องขอดูอีกที" เลขาธิการ ศอ.บต.ระบุ
นายอุสมาน มูดอ ชาวบ้านในจังหวัดปัตตานี กลับมีความคิดเห็นแตกต่างออกไป โดยกล่าว หน่วยงานภาครัฐจะกระทำสิ่งใดก็ไม่ถือว่าผิด แม้แต่เรื่องผิดยังทำให้เป็นถูกต้องได้
“อย่างเรื่องตู้กรองน้ำ ตั้งคณะกรรมการคนใน ศอ.บต. ทั้งนั้น สั่งซื้อก็คนใน ศอ.บต. ถามว่ามันถูกต้องแล้วหรือ ชาวบ้านรู้สังคมรู้ แต่เขาเอือมระอาเพราะรู้อยู่แล้วว่าผลสรุปจะออกมาอย่างไร” นายอุสมาน กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ด้านนายภูมิพัฒน์ บุญช่วย กรรมการ บริษัทเซ็นทริก กล่าวว่า ทางบริษัทได้ให้บริการหลังขายในการดูแลเครื่องกรองน้ำเป็นอย่างดี เช่นกรณีที่หมดระยะเวลาประกันของตู้กรองน้ำฯ ทางบริษัทฯยังสามารถช่วยเหลือเรื่องการซ่อมบำรุงผ่านระบบควบคุมและรายงานผลระยะไกลได้ (ระบบออนไลน์) แต่ในขณะนี้ ช่างของบริษัทฯ ได้ยืดอายุการดูแลเพิ่มต่อไปอีก 1 ปี