แพทย์ ม.นราธิวาสราชนครินทร์จบการศึกษาปีนี้ 23 คน
2017.05.02
นราธิวาส

ในวันอังคาร (2 พฤษภาคม 2560) นี้ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์จัดพิธีปัจฉิมนิเทศน์ให้กับบัณฑิตแพทย์ รุ่นที่ 5 จำนวน 23 คนที่สำเร็จการศึกษาในปีนี้ โดยอธิการบดีเชื่อว่า จะเป็นการผลิตแพทย์เพื่อช่วยแก้ปัญหาความขาดแคลนแพทย์ของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบันได้
พิธีปัจฉิมนิเทศน์บัณฑิตแพทย์ ม.นราธิวาสราชนครินทร์ครั้งนี้ จัดขึ้นที่ห้องประชุม ดร.จงรัก พลาศัย ชั้น 3 สำนักงานอธิการบดี โดย ผศ.ดร.จงรัก พลาศัย นายกสภามหาวิทยาลัยนราธิวาส ผศ.ดร.สุคนธ์ แสงมณี อธิบดีการมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ร่วมเป็นประธานในพิธี โดยในงานมีกิจกรรมแสดงความยินดี และมอบโล่เกียรติบัตรเพื่อแสดงความชื่นชมต่อแพทย์จบใหม่ปีการศึกษา 2559
ผศ.ดร.สุคนธ์ แสงมณี อธิการบดี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์เปิดเผยว่า เป้าหมายการผลิตแพทย์ของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์เพื่อตอบสนองความต้องการแพทย์ในสถานการณ์ความไม่สงบของพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งในปีนี้สามารถผลิตได้ 23 คน เชื่อว่าน่าจะช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์ในพื้นที่ได้บางส่วน และโดยเชื่อว่าแพทย์จบใหม่ทุกคนจะตั้งใจทำงาน และช่วยเหลือสังคมได้
“หลักสูตรแพทย์ และการผลิตแพทย์ เป็นหลักสูตร กระทรวงสาธารณสุข อันสืบเนื่องจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขาดแคลนแพทย์ ในช่วงสถานการณ์ความไม่สงบ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยฯได้เปิดหลักสูตรรับนักศึกษาแพทย์ ปีการศึกษาแรก เมื่อปี 2550 เป็นต้นมา ในรุ่นแรก รับได้ 16 คน และ 24 คน ในปีการศึกษารุ่นใหม่ จนถึงปัจจุบัน มีทั้งหมด 11 รุ่น รวมแพทย์ที่จบการศึกษาแล้ว 5 รุ่น” ผศ.ดร.สุคนธ์กล่าวว่า
“ทั้งหมดต้องเป็นแพทย์ใช้ทุน คือการลงปฎิบัติหน้าที่ในพื้นที่โรงพยาบาลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อช่วยเหลือประชาชน ตามข้อตกลงอย่างน้อย 3 ปี ไม่สามารถที่ย้ายไปทำงานพื้นที่อื่นได้ ถือเป็นการเสียสละ และแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในพื้นที่” ผศ.ดร.สุคนธ์เพิ่มเติม
ด้าน นพ.สราวุธ บุตรมาตา แพทย์ประจำโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวแก่บัณฑิตแพทย์รุ่นที่ 5 ของ ม.นราธิวาสราชนครินทร์ในฐานะรุ่นพี่ของคณะว่า แม้จะทำงานในพื้นที่เสี่ยง แต่หากทำหน้าที่อย่างรอบคอบ และมีความพยายามเชื่อว่าจะสามารถช่วยทำให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ และความสามารถของแพทย์
“จากประสบการณ์ที่ต้องลงทำงานในพื้นที่อันตราย ซึ่งเคยไปทำงานในโรงพยาบาลทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ถือเป็นพื้นที่สีแดง นอกจากคนไข้โรคทั่วไปจากเจอคนไข้ที่ถูกยิงและระเบิดจากสถานการณ์ความไม่สงบ ในการทำงานพื้นที่ครั้งแรกอาจมีความกลัวอยู่บ้างแต่แพทย์ที่ จบ มนร.ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การปรับตัวเข้าหาชาวบ้านจึงทำได้ไม่ยากสามารถเข้ากับชาวบ้านใช้ชีวิตได้ตามปกติ” นพ.สราวุธกล่าว
“อย่างไรก็ตามขอฝากน้องๆที่เป็นแพทย์จบใหม่ต้องลงปฎิบัติหน้าที่ ขอให้มีความใจเย็น และรอบคอบ ทำงานอย่างเต็มความสามารถ สะสมประสบการณ์และปรึกษาแพทย์รุ่นพี่ เพื่อให้งานที่ทำเกิดการพัฒนาและความเชี่ยวชาญ เป็นผลสำเร็จในหน้าที่การงานให้ดีที่สุด” ผศ.ดร.สุคนธ์เพิ่มเติม
สถิติจากกระทรวงสาธารณสุข จนถึงปี 2558 พบว่ามีโรงพยาบาลในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา 56 แห่ง แบ่งเป็นจังหวัดยะลา 9 แห่ง เป็นโรงพยาบาลรัฐ 8 แห่ง และโรงพยาบาลเอกชน 1 แห่ง จังหวัดปัตตานี 13 แห่ง โรงพยาบาลรัฐ 12 แห่ง และโรงพยาบาลทหาร 1 แห่ง จังหวัดนราธิวาส 13 แห่ง และจังหวัดสงขลา 21 แห่ง โรงพยาบาลรัฐ 15 แห่ง โรงพยาบาลทหารและโรงพยาบาลจิตเวช 2 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน จำนวน 4 แห่ง
โดยในปี 2558 ได้มีข่าวว่า โรงพยาบาลนราธิวาสซึ่งมีเตียงผู้ป่วย 427 เตียง แต่กลับมีแพทย์ปฎิบัติหน้าที่ประจำเพียง 40 คนเท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่พอเพียงที่จะรองรับจำนวนผู้ป่วย
ปัจจุบัน ทั่วประเทศมีแพทย์ประมาณกว่า 5 หมื่นคนที่ปฏิบัติงานอยู่ แม้จำนวนแพทย์จะมีไม่น้อย แต่กลับขาดแคลน โดยเฉพาะกับแพทย์ชนบทในพื้นที่ห่างไกล เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรผู้ป่วยเป็นเวลา 1 ปี ต่อแพทย์ 1 คนแล้ว พบว่ามีจำนวนประชากรสูงถึง 2,125 คน ต่ออัตราแพทย์ 1 คน ซึ่งยังต่ำกว่าอัตรามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก คือประชาชน 1500 คนต่อแพทย์ 1 คน โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น และผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นประจำ
รศ.นพ.กิตติ ลิ่มอภิชาต คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวในพับลิคเฮลท์ออนไลน์ ต้นปี 2559 ถึงแผนงานในโครงการผลิตแพทย์เพิ่ม เพื่อสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เริ่มตั้งแต่ปี 2548 -2556 รวมระยะเวลา 9 ปี ในแต่ละปีจะมีนักศึกษาแพทย์จำนวน 30 คน เมื่อครบหลักสูตรการศึกษา 6 ปี ของนักเรียนรุ่นสุดท้ายของโครงการในปี 2562 ก็จะมีแพทย์ทั้งสิ้น 270 คน อันจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ได้ในอนาคต เพราะในสถานการณ์ปัจจุบันนั้น สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถือว่า มีสัดส่วนจำนวนแพทย์ต่อประชากรต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานเป็นอย่างมาก กล่าวคือ เกณฑ์เฉลี่ยจะอยู่ที่ แพทย์ 1 คน ต่อประชากร 4,000 - 5,000 คน แต่ จ.นราธิวาสมีอัตราส่วน แพทย์ 1 คนต่อประชากร 9,400 คน ปัตตานีและยะลาอยู่ในสัดส่วน 1 ต่อ 7,000 คน ขณะที่ จ.สงขลา มีสัดส่วนแพทย์ 1 คนต่อประชากร 3,000 คนเท่านั้น