ตำรวจแถลงจับยาไอซ์ มูลค่า 125 ล้านบาท ที่นราธิวาส
2018.04.13
นราธิวาส

ในวันศุกร์นี้ พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ ผู้บัญชาการ ตำรวจภูธรภาค 9 แถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหาขนส่งยาไอซ์ น้ำหนัก 125 กิโลกรัมที่ถูกจับได้ใน อ.แว้ง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2561 โดยระบุว่า ผู้ต้องหาอาศัยช่วงเทศกาลสงกรานต์ในการขนส่ง หวังจะนำไปส่งต่อให้ลูกค้าในประเทศมาเลเซีย
พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ จัดแถลงข่าวการจับกุมครั้งนี้ที่ หน้าสถานีตำรวจภูธร อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส โดยระบุว่า การจับกุมผู้ต้องหารายนี้ เกิดขึ้นในช่วงเย็นของวันที่ 9 เมษายน 2561 เป็นผลงานการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธร อ.แว้ง ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ทหารพรานกรมทหารพรานที่ 11
“พ.ต.อ.สิทธิพงษ์ พงศ์ธนารักษ์ ผู้กำกับการ สภ.แว้ง ได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวว่า จะมีการลักลอบลำเลียงยาเสพติดจากพื้นที่ภาคใต้ตอนบน เพื่อส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้านในช่วงคาบเกี่ยวเทศกาลสงกรานต์ จึงตั้งจุดตรวจ บนถนนสายเลียบแม่น้ำสุไหงโก-ลก บ้านตอออ หมู่ 1 ตำบลกายูคละ อำเภอแว้ง กระทั่ง นายมาหามะตอฮา สะแสแม อายุ 46 ปี ขับรถยนต์กระบะซึ่งดัดแปลงส่วนบรรทุกด้วยโครงเหล็ก และแผ่นอลูมิเนียมปิดทึบ เจ้าหน้าจึงแสดงตัวขอตรวจค้น” พล.ต.ท.รณศิลป์กล่าว
“นายมาหามะตอฮา มีท่าทางมีพิรุธ เจ้าหน้าที่จึงตรวจค้น และเปิดประตูรั้วเหล็กท้าย พบกระสอบปุ๋ยสีขาว 5 ใบ ถูกกล่องกระดาษชำระปิดทับไว้ เมื่อตรวจกระสอบปุ๋ยพบบรรจุยาไอซ์ 125 กิโลกรัม จากการสอบถามทราบว่า นายมาหามะตอฮารับจ้างบรรทุกในราคา 30,000 บาท เพื่อไปส่งให้กับลูกค้าที่มารอรับฝั่งประเทศมาเลเซีย” พล.ต.ท.รณศิลป์กล่าวเพิ่มเติม
พล.ต.ท.รณศิลป์ระบุว่า นายมาหามะตอฮาให้การเป็นประโยชน์ จนเจ้าหน้าที่ทราบเครือข่าย และเตรียมขยายผลออกหมายจับกลุ่มเครือข่ายอีก 4 คน ซึ่งเชื่อว่า หลังทราบข่าวการจับกุมนายมาหามะตอฮาอาจกำลังหลบหนีอยู่ ขณะที่ นายมาหามะตอฮา จะถูกดำเนินคดีในข้อหา มียาเสพติดประเภท 1 ยาไอซ์ ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
ในช่วงเวลาหกเดือนของปีงบประมาณ 2561 สามารถจับกุมผู้ค้ายาเสพติดได้กว่า 1,000 คดี ในขณะที่มีสถิติการจับกุมยาเสพติด ในปีงบประมาณ 2559 ได้ 456 คดี ส่วนในปีงบประมาณ 2560 จับกุมได้ 453 คดี
พล.ต.ท.สมหมาย กองวิสัยสุข ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดเปิดเผยว่า ยาบ้าที่ถูกจับกุมในประเทศไทยส่วนมากผลิตในพื้นที่ภาคเหนือ จากราคาเม็ดละ 1 บาทเมื่อออกจากโรงงาน จะมีมูลค่าถึงเม็ดละ 200 บาท เมื่อถึงประเทศไทย และราคาจะสูงถึงเม็ดละ 500 บาท เมื่อถึงยังประเทศที่สาม ในขณะที่ยาไอซ์ราคาผลิตกิโลกรัมละ 1 ล้านบาท จะมีมูลค่าสูงขึ้นถึง 1,000 เท่าต่อกิโลกรัม หากไปถึงมือผู้รับในประเทศที่สาม ขบวนการฯ จึงทำงานเป็นกองทัพมด เพื่อลำเลียงยาเสพติดจากภาคเหนือไปยังประเทศมาเลเซียทุกช่องทางที่จะทำได้ให้มากที่สุด