ชาวสวนยางยะลา โดนกับระเบิดเจ็บเป็นรายที่ห้า ในรอบ 8 วัน
2018.07.05
ยะลา

ในวันพฤหัสบดีนี้ เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดที่สวนยางพาราแห่งหนึ่ง ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดยะลา เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส 1 ราย โดยถือเป็นการวางระเบิดในสวนยางพาราจังหวัดยะลา ลูกที่ 6 แล้ว ซึ่งทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นรายที่ 5 ท่ามกลางการประณามของภาคประชาสังคมและนักสิทธิมนุษยชนไทยเทศ
ร.ต.อ.พัฒนา แก่นแก้ว ร้อยเวรสอบสวน สภ.เมืองยะลา เปิดเผยว่า เมื่อเวลาประมาณ 03.00 น. ได้รับแจ้งเกิดเหตุว่ามีคนร้ายไม่ทราบชื่อและจำนวน ลอบวางระเบิดในสวนยางพารา ในพื้นที่ ม.6 ต.ยุโป อ.เมือง ยะลา จึงได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ
“แรงระเบิดทำให้นายจรินย์ จันทร์ลึก อายุ 47 ปี ถูกสะเก็ดระเบิดตามร่างกายหลายแห่ง ขา มือ และตา ได้รับบาดเจ็บ อาการสาหัส ถูกนำตัวส่ง โรงพยาบาลศูนย์ยะลา จากการสอบสวนทราบว่า เหตุเกิดขณะที่นายจรินย์เดินทางออกไปกรีดยาง และเหยียบกับระเบิดที่มีคนร้ายวางไว้ เป็นเหตุให้เกิดระเบิดขึ้น สาเหตุเชื่อว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบ” ร.ต.อ.พัฒนากล่าว
ด้าน พล.ต.ต.กฤษฎา แก้วจันดี ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาการวางระเบิดในสวนยางพารา มุ่งโจมตีประชาชนชาวไทยพุทธที่อาศัยอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงร้องขอให้ทุกคนช่วยเป็นหูเป็นตา และแจ้งความเคลื่อนไหวให้กับเจ้าหน้าที่
“คนร้ายมีเป้าหมายคือพี่น้องชาวไทยพุทธ เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดในสวนยางพาราของคนไทยพุทธ เพื่อต้องการสร้างสถานการณ์ ได้ประชาสัมพันธ์ไปยังทุกหน่วยให้ประสานผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น ให้แจ้งไปยังลูกบ้านในพื้นที่ ให้มีการระวังสังเกตสิ่งผิดปกติ สิ่งแปลกปลอม วัตถุต้องสงสัย หากมีการตรวจพบ ให้ประสานกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ในพื้นที่เข้าทำการตรวจสอบ ที่สำคัญต้องไม่ประมาท” พล.ต.ต.กฤษฎากล่าว
ที่ผ่านมาในรอบ 8 วัน มีการวางระเบิดในสวนยางพาราโจมตีชาวไทยพุทธจังหวัดยะลาแล้ว 6 ลูก มีหนึ่งลูกที่เจ้าหน้าที่เก็บกู้ได้ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 ราย โดยเริ่มจากวันที่ 28 มิถุนายน 2561 นางวิภาวรรณ ปลอดแก่นทอง อายุ 33 ปี ถูกระเบิดที่สวนยางพารา ม.1 บ้านแค่ ต.ตาชี อ.ยะหา วันที่ 30 มิถุนายน 2561 นายชุติพนธ์ นามวงค์ อายุ 48 ปี ถูกระเบิดในสวนยางพาราที่ ต.ลำพะยา อ.เมืองยะลา วันที่ 2 กรกฎาคม 2561 นายสุทิน แห้วขุนทด อายุ 60 ปี ที่ระเบิดในสวนยางพาราที่ หมู่ 2 ต.สะเอะ อ.กรงปินัง วันที่ 4 กรกฎาคม 2561 นายสุโข คำแก้ว อายุ 46 ปี ถูกระเบิดในสวนยางพาราที่ หมู่ 6 ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อำเภอบันนังสตา และกรณีล่าสุดในวันนี้ เกิดเหตุกับนายจรินย์
ภาคประชาสังคม-นักสิทธิ ประณามคนร้าย
เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ แถลงการณ์ประณามกลุ่มผู้ก่อเหตุ โดยสรุประบุว่า ผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมดเป็นชาวไทยพุทธประกอบสัมมาอาชีพปกติ การกระทำดังกล่าวไม่ใช่แต่เพียงสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวพุทธ ซึ่งถือเป็นคนกลุ่มน้อยในพื้นที่ แต่ยังอาจหมายถึงการสร้างความแตกแยก สร้างความเกลียดชังทางชาติพันธุ์ในชุมชน
โดยเสนอให้ผู้ก่อเหตุยุติการกระทำอันโหดร้าย ยุติการใช้ทุ่นระเบิดสังหารโจมตีพลเรือน และควรปฏิบัติตามสนธิสัญญาห้ามทุ่นระเบิดในปี พ.ศ. 2540 ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเมื่อปี พ.ศ. 2544 ห้ามมิให้มีการสังหารหมู่ เนื่องจากไม่สามารถแยกแยะระหว่างพลเรือนและพลรบ และขอเรียกร้องให้นักสิทธิมนุษยชนลงพื้นที่เยี่ยมเหยื่อที่ได้รับผลกระทบ ให้รัฐบาลและคู่เจรจาเร่งพูดคุยเพื่อแนวทางสันติ ให้องค์กรประชาสังคมประณามการกระทำอันโหดร้าย ให้หน่วยงานรัฐหาทางป้องกันเหตุอย่างเข้มงวด และนำผู้กระทำผิดสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเร็ว
ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้กล่าวประณามผู้ก่อเหตุวางระเบิดในสวนยางพาราเช่นกัน เนื่องจากการโจมตีลักษณะนี้ เป็นการโจมตีที่มีผลกระทบกับเหยื่อจนถึงขั้นพิการ และไม่สามารถระบุผู้ถูกโจมตีได้อย่างแน่ชัด
“กรณีผู้ก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทำการฝังกับระเบิดในสวนยาง ทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องบาดเจ็บหรือพิการ เป็นเรื่องที่สมควรถูกประณาม ทั้งนี้รัฐต้องหันมาตรวจสอบพื้นที่ที่อาจมีการฝังกับระเบิดอย่างจริงจัง เพื่อรักษาชีวิต และความปลอดภัยของผู้บริสุทธิ์ตามที่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาต้านกับระเบิด” นางอังคณากล่าว
องค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้ออกแถลงการณ์วันที่ 4 กรกฎาคม ตามเวลาในนครนิวยอร์คว่า ขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็นเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการวางกับระเบิด และเรียกร้องให้ยุติการใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ซึ่งถูกห้ามใช้ในสัตยาบันระหว่างประเทศแล้ว และหยุดโจมตีพลเรือน
“การวางระเบิดในสวนยางพาราและทางเดินของชาวบ้าน โหดร้ายเกินกว่าจะอธิบายเป็นคำพูดได้ กลุ่มก่อการร้ายควรหยุดใช้อาวุธผิดกฎหมายเหล่านี้และกู้ระเบิดที่ได้วางไปแล้วทั้งหมด” นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวในแถลงการณ์
“รัฐบาลไทยควรจัดการกับกลุ่มก่อการร้ายเหล่านี้ด้วยการใช้หลักนิติธรรม ยุติการบังคับกฎหมายอย่างผิดๆ ด้วยกำลังของหน่วยงานความมั่นคง และจัดการแก้ไขปัญหาคับข้องใจของชาวมาเล-มุสลิมในพื้นที่ การปกป้องการกระทำผิดกฎหมายชองเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ จะเป็นการเติมเชื้อไฟให้กับสถานการณ์การก่อการร้าย” นายแบรด อดัมส์ กล่าว