รพ.ปัตตานีเปิดบริการทำสุหนัตหมู่ฟรีช่วงปิดเทอม

มารียัม อัฮหมัด
2018.03.22
ปัตตานี
180322-TH-circumcision-1000.jpg เด็กๆ ขณะรอทำสุหนัตหมู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2561
มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์

ในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนนี้ ผู้ปกครองในพื้นที่ชายแดนภาคใต้จำนวนมากได้นำบุตรเข้าพิธีสุหนัต หรือขลิบปลายอวัยวะเพศชาย ตามความเชื่อของศาสนาอิสลาม โดยโรงพยาบาลปัตตานี จัดโครงการสุหนัตหมู่ภาคฤดูร้อนฟรี ให้กับเด็กชายชาวมุสลิมในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมพิธีกรรมทางศาสนา

นายทนงศักดิ์ สุไลมาน นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ โรงพยาบาลปัตตานี เปิดเผยว่า ชมรมมุสลิม โรงพยาบาลปัตตานี ได้จัดโครงการสุหนัตหมู่ภาคฤดูร้อนครั้งที่ 9 ขึ้นในวันที่ 20 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา เพื่อให้เด็กชายในพื้นที่สามารถมาเข้ารับการขริบปลายอวัยวะเพศ หรือสุหนัต ตามความเชื่อทางศาสนาอิสลาม โดยให้เด็กอายุตั้งแต่ 6-14 ปีเข้าร่วมโครงการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

“โครงการเข้าสุหนัตหมู่ภาคฤดูร้อน โดยชมรมมุสลิม โรงพยาบาลปัตตานี มีแพทย์ พยาบาล จากโรงพยาบาลปัตตานี ดำเนินการเพื่อเปิดโอกาสให้กับเยาวชนในพื้นที่ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ช่วงปิดเทอม และเพื่อส่งเสริมการทำพิธีกรรมสำคัญทางศาสนาอิสลาม ถือเป็นการบริการชุมชนให้คนในพื้นที่ได้ประหยัดค่าใช้จ่าย” นายทนงศักดิ์ กล่าว

นายทนงศักดิ์ระบุว่า โดยปกติ การขริบอวัยวะเพศชายจะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 3 พันบาทต่อคน การจัดโครงการสุหนัตโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายนี้ จึงมีประชาชนให้ความสนใจและนำบุตรหลายมาเข้าร่วมโครงการอย่างคึกคัก

การสุหนัต หรือคีตานในภาษาอาหรับ เรียกในภาษามลายูว่า มาโซ๊ะยาวี หรือบางพื้นที่เรียกว่า เข้าแขก เป็นพิธีการขลิบหนังหุ้มปลายของอวัยวะเพศ โดยเชื่อว่าเป็นพิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของคนมุสลิม เพราะถือกันว่า คนมุสลิมที่แท้จริงต้องเข้าสุหนัต เป็นพิธีที่เด็กผู้ชายชาวมุสลิมจะต้องผ่านให้ได้

เด็กชายชาวมุสลิมมักต้องเข้าพิธีสุหนัต โดยปกติมีอายุระหว่าง 8-13 ปี เพื่อความสะอาดของร่างกาย เพื่อขจัดความสกปรกบริเวณอวัยวะเพศ เพราะหากหนังหุ้มปลายยังปกคลุมอวัยวะเพศอยู่ ภายในส่วนที่ถูกคลุมจะมีสารคล้ายเนยแข็งซึ่งขับถ่ายออกมาโดยผิวหนัง หรือเรียกว่า “สเม็กม่า” อาจหมักหมม จนก่อให้เกิดเชื้อโรคตามมาได้ และการสุหนัตถือเป็นการป้องกันน้ำปัสสาวะตกค้างที่ปลายอวัยวะเพศ และสะสมจนเกิดกลิ่นเหม็น

“การเข้าสุหนัตถือเป็นพิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของคนมุสลิม และถือว่าเป็นการบังคับที่จะต้องทำสำหรับเด็กผู้ชายที่นับถือศาสนาอิสลาม การเข้าสุหนัตถือเป็นการทำความสะอาดร่างกาย ต้องตัดแต่งเพื่อขจัดความสกปรก ทำกันมานานตั้งแต่ยุคนบี (ศาสดา) เด็กชายทุกคนจะต้องทำเมื่อพร้อม หรือตั้งแต่ 7-13 ปี” นายฮาซัน สาและ ผู้นำศาสนาอิสลามในจังหวัดยะลากล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีโครงการสุหนัตโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะรองรับความต้องการของประชาชนในหลายพื้นที่ บางครอบครัวจึงเลือกที่จะเข้าพิธีสุหนัตกับหมอบ้าน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าการไปยังโรงพยาบาล

ด้าน นางยามีละ ดูมาลี ผู้ปกครองซึ่งนำบุตรชายเข้าพิธีสุหนัตในช่วงฤดูร้อนนี้ กล่าวว่า ครอบครัวเลือกที่จะนำบุตรชายเข้าพิธีสุหนัตกับหมอบ้าน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการไปโรงพยาบาล

“วันนี้ ได้นำลูกเข้าสุหนัต พร้อมกับเพื่อน 3 คน ทำกับหมอบ้านมาจากปัตตานีมีค่าใช้จ่ายแค่ 1 พันบาท ไม่ได้ทำที่โรงพยาบาล เพราะจะมีค่าใช้จ่ายสูง การผ่าตัดก็ถือว่าสะอาด และปลอดภัย มีการทำความสะอาดเครื่องมือ หลายขั้นตอนเชื่อมั่นว่าปลอดภัย เพราะลูกชายคนโตและคนที่สองก็ทำกับหมอคนนี้ การที่ลูกไม่ได้เข้าสุหนัตรู้สึกไม่สบายใจ พอลูกทำพิธีเสร็จเหมือนจ่ายหนี้หมด ตอนที่จะทำลูกร้อง เราก็ร้อง สงสารลูกแต่จะต้องทำเพราะเป็นการบังคับ ผู้ชายอิสลามทุกคนต้องทำ” นางยามีละ

ด้าน ด.ช.ฟาตะ จินตรา อายุ 7 ปี หนึ่งในผู้เข้าสุหนัตในฤดูร้อนนี้จาก จ.ยะลา กล่าวว่า รู้สึกกลัวเมื่อต้องเข้าสุหนัต แต่คิดว่าชาวมุสลิมจำเป็นต้องเข้าสุหนัตไม่ช้าก็เร็ว จึงยอมที่จะเข้าพิธีในปีนี้

“ร้องไห้ เพราะกลัวเจ็บ ตอนเขาฉีดยาชาเจ็บนิดๆ แต่ก็ร้องไห้ดังมาก แต่พอยาชาออกฤทธิ์ก็ไม่เจ็บเลย นานเหมือนกันกว่า ยาชาหมดฤทธิ์ก็ร้องอีก แม่ก็ให้กินยา การเข้าสุหนัต ก็กล้าๆ กลัวๆ แต่จะต้องทำ คนอิสลามต้องทำทุกคน” ด.ช.ฟาตะกล่าว

อย่างไรก็ตาม พิธีกรรมแห่งการเข้าสุหนัตไม่พบหลักฐาน หรือคำสั่งโดยเฉพาะให้ปฏิบัติ มีเพียงคำสอนของท่านนบีมูฮัมหมัด ให้เราตบแต่งธรรมชาติของมนุษย์ที่อยู่ในร่างกาย เพื่อความสะอาด และป้องกันโรค ซึ่งการทำความสะอาดไม่มีพิธีกรรม กิจกรรมใดๆ นอกจากการตัดโกนตามความเหมาะสม เพราะเป็นการกระทำเพื่อสุขภาพ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง