อดีตเลขาธิการอาเซียนแนะนราธิวาสสร้างวิสัยทัศน์ของตน พร้อมรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ
2016.07.29
นราธิวาส

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวในการเสวนา "โอกาสทองการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส" ว่า จังหวัดนราธิวาส ควรใช้ทรัพยากรบุคคลที่มีในการดำเนินการเพื่อรองรับกับการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยไม่ต้องรอท่าทีของรัฐบาล
“อาเซียนมีวิสัยทัศน์ 2025 ดังนั้น จังหวัดนราธิวาสต้องมีของตัวเองด้วย “นราธิวาส 2567-68” กำหนดลงไปว่าจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นปีละเท่าไร สาขาอะไรบ้าง กำหนดการเติบโตทางรายได้ให้มีความชัดเจน หน้าตาจังหวัดนราธิวาสเป็นอย่างไร มีงานอะไรเพิ่มขึ้น มีคนว่างงานเท่าไร มีอาชีพเพิ่มเท่าไร สิบปีหลังจากนี้” ดร.สุรินทร์ กล่าวในการเสวนา เมื่อวันพุธนี้
“รัฐกลางมีความตั้งใจในการพัฒนาจังหวัดนราธิวาสโดยเลือกจังหวัดนราธิวาสเข้ามาร่วมเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ท่านไม่จำเป็นที่จะต้องรอรัฐบาล เพราะท่านมีมหาวิทยาลัย มีนักธุรกิจที่มีวิสัยทัศน์ มีจุดที่ตั้ง และมีประชากรที่มีความตื่นตัวอยากมีส่วนร่วม” ดร.สุรินทร์ ยกเหตุผลประกอบ
ทั้งนี้ นายเถกิงศักดิ์ ยกศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2558 เห็นชอบกำหนดพื้นที่เป้าหมายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส รวม 5 ตำบลในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ ตำบลสุไหงโก-ลก ตำบลเจ๊ะแก ในอำเภอตากใบ ตำบลโต๊ะจูด ในอำเภอแว้ง ตำบลละหาร ในอำเภอยี่งอ และตำบลโคกเคียน ในอำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส
และเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2559 กนพ. มีมติเห็นชอบมอบหมายการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) พิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดซื้อที่ดินเอกชน จังหวัดนราธิวาส 2,277ไร่ ในตำบลละหาร อำเภอยี่งอ และตำบลโคกเคียน จังหวัดนราธิวาส เพื่อนำมาจัดตั้งนิคมอุสาหกรรม
จังหวัดนราธิวาส เป็นจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อเดือนอยู่ในระดับต่ำจังหวัดหนึ่งในประเทศไทย โดยในปี พ.ศ. 2558 ที่มีตัวเลขอยู่ที่ 19,890 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน โดยกรุงเทพมีตัวเลขสูงสุดที่ 41,002 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ
ดร.สุรินทร์ กล่าวว่า ตนดีใจที่จะมีการเปลี่ยนสภาพจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเมื่อดูจากรายได้และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประเทศ จังหวัดนราธิวาสอยู่อับดับท้ายๆ ของประเทศ ไม่ว่าจะวัดโดยสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือวัดโดยสหประชาชาติ UNDP
“แต่(จังหวัดนราธิวาส)มีหลักคิด มีจุดที่ตั้งที่เด่น และให้ความสำคัญกับที่ตั้งสามารถเปลี่ยนสถานภาพได้ แต่ให้มีความสามัคคี มีความมุ่งมั่นและเชื่อมั่นในศักยภาพที่มีอยู่ ขอให้มีความพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการเข้ามามีส่วนร่วมของเอกชนภาคประชาสังคม และประชาชนทุกหมู่เหล่า เป็นหลักประกันว่าเราจะเดินหน้าอย่างมั่นคงและไม่มีการเปลี่ยนแปลง” ดร.สุรินทร์กล่าว
ดร.สุรินทร์ กล่าวว่า อาเซียนมีพลเมืองรวม 620 ล้านคน จาก 10 ระบบเศรษฐกิจ คนอาเซียนกลายมาเป็นคนชนชั้นกลางมากยิ่งขึ้น จำเป็นที่เราต้องสร้างตลาดของตัวเอง ซึ่งจะเห็นว่า ประเทศไทยมียอดการค้าขายตามแนวชายแดนเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ทั่วประเทศ ประมาณ 300,000 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2015 มียอดประมาณ 1,100,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว เนื่องจากมีระบบคมนาคมและการบริการที่สะดวกขึ้น อาเซียนกระตุ้นให้ลงทุนมากขึ้น
"ประเทศไทย คือไข่แดงอาเซียนภาคพื้นทวีป คือ อยู่ในพื้นแผ่นดินใหญ่ของภูมิภาคอาเซียน คือ สุวรรณภูมิ-อินโดจีน" ดร.สุรินทร์กล่าว
“เมื่อเราเห็นจุดที่ได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของเรา สามารถร่วมกันกำหนดได้ ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นคนมุสลิม ดังนั้น 80 เปอร์เซนต์พูดภาษามลายู ถือว่าได้เปรียบ เหมือนคนในจังหวัดนครพนมกับมุกดาหารที่สามารถพูดลาวได้ คนตากพูดพม่าได้ คนมีจำนวนมากกว่า มีกำลังความสามารถในการขายได้ ขายทรัพยากร ขายโอกาส ขายบริการ ขายสินค้า ยางพารา ผลผลิตทางด้านการเกษตร ขายอาหารแปรรูป เป็นต้น นี่คือจุดได้เปรียบของเรา” ดร.สุรินทร์ กล่าว
ทางด้าน นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรี และคณะ เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 59 ที่ผ่านมา ได้ตอบรับแนวทางการพัฒนาเรื่องสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยจะมีการพัฒนาเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับ 3 จังหวัด อาทิ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส
ขณะเดียวกัน จังหวัดนราธิวาสได้กำหนดพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ จะมีการใช้ประโยชน์จากที่ดินการเคหะแห่งชาติ ที่ อ.สุไหงโกลก เป็นแหล่งการค้า แหล่งท่องเที่ยว รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยการซื้อที่ดินของเอกชน ในพื้นที่อำเภอยี่งอ เพื่อจัดสร้างนิคมอุตสาหกรรม สร้างประโยชน์ให้คนในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าโอทอป ให้มีคุณภาพมากขึ้น ควบคู่กับการเตรียมความพร้อมทางการศึกษา ให้นักศึกษาได้มีความรู้ในด้านการค้าและการลงทุนอีกด้วย