ภาค ปชช. นราธิวาส ร้องรองผู้ว่าฯ ขอมีบทบาทร่วมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ
2016.08.16
นราธิวาส

ในวันอังคาร (16 ส.ค. 2559) นี้ ภาคประชาชนในพื้นที่ 13 อำเภอ ของจังหวัดนราธิวาส ได้เข้าพบรองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ตัวแทน ศอ.บต. และกอ.รมน.ภาค 4 เพื่อยื่นแถลงการณ์ผ่านไปยังนายกรัฐมนตรี ให้ทบทวนผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส
นายวิกรม ประชุมกาเยาะมาต นายมะสูดิง วามะ และน.ส.นูรหม๊ะ วี ได้เป็นแกนนำภาคประชาชนจำนวนประมาณร้อยคน เข้าพบนายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ รอง ผวจ.นราธิวาส ที่ศาลากลางจังหวัด พร้อมยื่นแถลงการณ์ 18 ข้อ ที่มีเนื้อหาเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินโครงการ “สามเหลี่ยมแห่งความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” โดยขอให้ระวัง ไม่ให้กระทบต่อวัฒนธรรม วีถีชีวิต และอัตลักษณ์ของพื้นที่
“ชาวบ้านเขาห่วงใยว่าวัฒนธรรม วีถีชีวิต และอัตลักษณ์ของพื้นที่ จะถูกกลืนจากการพัฒนา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่มีมาตั้งแต่เดิมทั้งชุมชนวิถีชีวิตและศาสนา และเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติที่อาจจะไม่เพียงพอ ถ้าไม่มีการควบคุมและการจัดหาไว้ล่วงหน้า” นางสุจิตรา สุทธิพงศ์ ประธานคณะทำงานเสริมสร้างและพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์
ด้านนายอดุลย์ แวมามะ ตัวแทนภาคประชาชน อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส ว่า ประชาชนทุกคนต้องการ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งไม่มีใครปฎิเสธ และ คัดค้านแต่อย่างใด เพราะนั้นคือ การพัฒนาพื้นที่และเกิดความเจริญ แต่ที่เราห่วงใยมาก คือ การรับรู้ข่าวสารของประชาชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน ถือว่ามีน้อยมาก
“ดังนั้น ข้อที่เสนอ 18 ข้อ ส่งเสนอไปยังภาครัฐ จึงสมควรที่ภาครัฐต้องศึกษา และทบทวน ในการเดินหน้า ควบคู่กับความเข้าใจกับวัฒนธรรม และ อัตลักษณ์ ของคนในพื้นที่” นายอดุลย์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ทั้งนี้ ข้อแถลงการณ์ 18 ข้อหลักๆ ได้กล่าวถึง ผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน วัฒนธรรมอันดีงาม และมีมาตรการควบคุมดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง รวมทั้ง ข้อเสนอแนะให้มีการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี และลดสภาวะคนว่างงานให้มีงานทำมากขึ้น โดยจ่ายค่าแรงงานขั้นต่ำตามกฎหมายกำหนด
ทางกลุ่มภาคประชาชนฯ ได้อ้างเหตุผลถึงความคล่องตัวในการทำงาน ตัวแทนทั้งหมด จึงได้มีมติ ให้ตั้งคณะกรรมการมา 1 ชุดทำงาน เรียกว่า “คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ นราธิวาส ภาคประชาชน” เพื่อรับทราบความเป็นไปได้ของการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ร่วมแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และนำความคืบหน้าต่างๆ ถ่ายทอดต่อชุมชน เพื่อการพัฒนาจังหวัดนราธิวาส อย่างตรงไปตรงมา โดยไม่ขัดแย้งกับภาครัฐ
และขอให้ทางจังหวัดนราธิวาส อนุมัติแต่งตั้งตัวแทนภาคประชาชนชุดนี้ เป็นคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส เพื่อให้คณะกรรมการชุดนี้ มีส่วนร่วมในการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อเป็นปากเป็นเสียงแทนพี่น้องประชาชนในครั้งนี้ด้วย
จังหวัดนราธิวาส เป็นจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อเดือนอยู่ในระดับต่ำ จังหวัดหนึ่งในประเทศไทย โดยในปี พ.ศ. 2558 ที่มีตัวเลขอยู่ที่ 19,890 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน โดยกรุงเทพมีตัวเลขสูงสุดที่ 41,002 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ
คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2558 เห็นชอบกำหนดพื้นที่เป้าหมายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส รวม 5 ตำบล ในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ ตำบลสุไหงโก-ลก ตำบลเจ๊ะแก ในอำเภอตากใบ ตำบลโต๊ะจูด ในอำเภอแว้ง ตำบลละหาร ในอำเภอยี่งอ และตำบลโคกเคียน ในอำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส
และเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2559 กนพ. มีมติเห็นชอบ มอบหมายการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) พิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดซื้อที่ดินเอกชน จังหวัดนราธิวาส 2,277 ไร่ ในตำบลละหาร อำเภอยี่งอ และตำบลโคกเคียน จังหวัดนราธิวาส เพื่อนำมาจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม