สภาพัฒน์แถลงไตรมาส 2 ไทยติดลบต่ำสุดถึง 12.2 เปอร์เซ็นต์
2020.08.17
กรุงเทพฯ
ในวันจันทร์นี้ นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 2 ของปี 2563 ของประเทศไทย พบติดลบ 12.2 เปอร์เซ็นต์ จากการปิดเมือง เศรษฐกิจหลายภาคส่วนต้องหยุดดำเนินการ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 นับเป็นเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ที่สุด หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2541
ขณะที่การคาดการณ์จีดีพีของทั้งปี 2563 เชื่อว่าจะติดลบ 7.5 เปอร์เซ็นต์ ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกร้องทุกภาคส่วนในสังคม ช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2 ปี 2563 (มีนาคม-มิถุนายน) ว่า เศรษฐกิจในไตรมาสที่ผ่านมา จีดีพีติดลบจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก โดยชี้ว่า มีเพียง จีนและเวียดนามที่ตัวเลขเศรษฐกิจยังขยายตัว
“สถานการณ์ของประเทศไทยไม่แตกต่างจากประเทศอื่น ในคิว (Quarter) 2 ของประเทศไทยก็ติดลบอยู่ 12.2 คิว 1 เรา (ติดลบ) 2.2 ถ้าพวกเราจำได้ ประมาณการณ์ทั้งปี น่าจะมีค่ากลางอยู่ที่ประมาณลบ 7.5 ในครั้งต้มยำกุ้งในไตรมาสที่ 2 ติดลบหนักที่สุดคือ 12.5 ในช่วงแฮมเบอร์เกอร์ ก็ติดลบ 4 กว่า ๆ วิกฤตน้ำท่วมก็ 4 กว่า ๆ ทั้งปี สภาพัฒน์มองเอาไว้ว่า น่าที่จะอยู่ที่ระหว่างลบ 7.8 ถึง ลบ 7.3 มีค่ากลางอยู่ที่ประมาณลบ 7.5 คือค่าที่เราประมาณการณ์เอาไว้ ประมาณการณ์นี้ต้องไม่มีการระบาดระลอก 2 เกิดขึ้น” นายทศพร กล่าว
“เศรษฐกิจทั้งปีก็จะมีข้อจำกัด ในส่วนของสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด ทั่วโลกน่าจะอยู่ในวงจำกัดแล้วภายในปีนี้ ไตรมาส 4 ปีนี้จะไม่มีการระบาดระลอกที่สองเพิ่มเติมในปัจจุบัน ปัจจัยอื่น ต้องรอดูการเลือกตั้งอเมริกาว่า สถานการณ์จะเป็นอย่างไร ส่วนการชุมนุมทางการเมือง ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจ หากความขัดแย้งขยายวงกว้างออกไป จะยิ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนรวม ถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคด้วยเช่นกัน จึงต้องจับตาปัจจัยนี้ต่อไปอย่างใกล้ชิด” นายทศพร กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในการเปิดงาน ยกกำลังสองการศึกษาไทย สู่ความเป็นเลิศ ที่อาคารทรู ดิจิทัล พาร์ค ว่า เศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะทำให้ประเทศไทยสามารถผ่านวิกฤตไปได้
“โลกมันเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว หลังโควิดจะเปลี่ยนแปลงไปยิ่งกว่านี้... โควิด-19 ว่าร้ายแล้ว ต่อจากนี้ไปมันจะร้ายกว่านี้อีก ฉะนั้น ทุกคนต้องเข้าใจให้ดีว่า จะทำอย่างไรให้สังคมช่วยกันที่จะลดผลกระทบอันจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย เราต้องเผชิญหน้ากับปัญหาอีกหลายด้าน หลังโควิด-19 แล้ว ปีหน้ายังไม่รู้ว่า วัคซีนจะออกมาได้จริงหรือไม่ เมื่อออกมาแล้วจะเกิดอะไรขึ้นอีก... วันนี้ความยากจน ถ้าไม่รู้จักการใช้จ่าย ไม่คำนึงกระเป๋าซ้ายกระเป๋าขวา ไม่ใช้เศรษฐกิจพอเพียง ไปไม่ได้แน่นอน นี่คือสิ่งที่ผมกังวล” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ทั้งนี้ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด- 19) ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 อย่างตรงจุด รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ โดยไม่ซ้ำซ้อนกับการทำงานของกระทรวงและหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ แต่เป็นการระดมความเห็น ความต้องการในระยะจำเป็นเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาได้ตรงตามสถานการณ์ แก้ไขผลกระทบได้อย่างทันท่วงที เพื่อลดผลกระทบในระยะกลาง และระยะยาวด้วย โดยจะมีการประชุมครั้งแรกในวันที่ 19 สิงหาคม 2563
ก่อนหน้านี้ นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ของปี 2563 หดตัวสูง เพราะการปิดเมือง ทำให้เศรษฐกิจหลายภาคส่วนต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว การท่องเที่ยวหยุดชะงัก ขณะที่การส่งออกลดลงจากอุปสงค์ที่หดตัวในต่างประเทศ
“เศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ไตรมาส 2 ถือเป็นช่วงที่เศรษฐกิจหดตัวลึก และลึกที่สุดในประวัติศาสตร์ เทียบจากไตรมาส 2/2541 ที่จีดีพีติดลบ 12.5% ซึ่งในครั้งนี้ ก็คาดว่ามีโอกาสที่จะติดลบมากกว่าระดับดังกล่าว จากมาตรการปิดเมืองทั้งในและต่างประเทศ โดยมาตรการดังกล่าวมีผลกระทบต่อเครื่องชี้เศรษฐกิจทุกตัว การส่งออก การนำเข้า การลงทุน การบริโภค มีเพียงภาครัฐที่ยังขยายตัวได้” นายดอน กล่าวเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2563
“จากทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวน้อยลงเรื่อย ๆ ส่วนจะกลับมาเติบโตปกติเหมือนก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 คงต้องรอไปถึงปี 2565 ดังนั้นการเห็นเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น น่าจะทำให้สบายใจขึ้นว่า เศรษฐกิจไทยจะไม่ลงต่อ แต่ระยะต่อไปก็ยังมีความท้าทายรออยู่ด้วย” นายดอน กล่าวเพิ่มเติม
ในวันเดียวกัน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รายงานถึงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยประจำวันที่ 17 สิงหาคม 2563 ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1 ราย เป็นคนที่เดินทางกลับมาจากประเทศอินโดนีเซีย และเข้าสู่สถานกักกันโรคที่รัฐจัดให้ ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อสะสมปัจจุบันอยู่ที่ 3,378 ราย หายป่วยเพิ่ม 1 ราย รวมหายแล้ว 3,194 ราย มีผู้ป่วยที่รักษาอาการอยู่ 126 คน ผู้เสียชีวิตสะสม 58 ราย