วิษณุ: เลือกตั้งไม่เกิน ก.พ. 62 ไม่ยืนยันจะถูกเลื่อนอีกหรือไม่

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2018.01.25
กรุงเทพฯ
180125-TH-election-1000.jpg นายวิษณุ เครืองาม ชี้แจงต่อสื่อมวลชนถึงแผนปฎิรูปของรัฐบาล ที่ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ วันที่ 25 มกราคม 2561
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยต่อสื่อมวลชนในวันพฤหัสบดีนี้ว่า ประเทศไทยจะจัดการเลือกตั้งได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่า การเลือกตั้งจะถูกเลื่อนออกไปอีกหรือไม่ ซึ่งล่าสุดสภานิติบัญญัติแห่งชาติกลับยืดเวลาให้บังคับใช้ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ฯ มีผลบังคับใช้หลังการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 90 วัน แทนที่เป็นวันถัดไป

นายวิษณุ เครืองาม ได้ชี้แจงความคืบหน้าในเรื่องนี้แก่สื่อมวลชนตามกิจกรรม “สื่ออยากรู้ รัฐบาลอยากเล่า” ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นไปตามดำริของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ในก่อนหน้านี้ ตามโรดแมปของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คาดว่าจะสามารถเลือกตั้งได้ภายในเดือนพฤศจิกายน ศกนี้ เมื่อมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญออกมาครบทุกฉบับ แต่ในการพิจารณา พ.ร.ป.เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวันนี้นั้น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กลับให้ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ฯ นี้ มีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 90 วัน แทนที่จะเป็นหลังวันประกาศในพระราชิกิจจานุเบกษา

“... มีความเป็นไปได้ที่จะยืด 1-2 เดือน เพราะ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ฯ มีผลบังคับใช้ใน 90 วัน คงไม่กระทบการเลือกตั้งมาก เพราะจะจัดเลือกตั้งในเดือนใดก็ได้ ภายใน 150 วัน หลังจากนั้น ถ้า พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ฯ ประกาศใช้ในเดือนมิถุนายน แล้วให้บังคับใช้ 90 วัน คือกันยายน จะต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน คือภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562” นายวิษณุกล่าว

“ความจริงในประเทศไทย ไม่ว่าใครก็ตาม ไม่ควรบังอาจพูดเรื่องโรดแมปการเลือกตั้งเลยด้วยซ้ำไป ท่านนายกฯ ก็ไม่ควรที่จะพูดด้วยซ้ำ แต่เมื่อถูกถาม คาดคั้นให้ตอบก็ต้องพยายามตอบจากความเป็นไปได้ที่สุด ก็ตอบกันมาอย่างนั้น แต่พอมันมีอันนั่นโผล่ขึ้นมา ยืดไป 90 วัน แล้วใครบอกว่า นี่โกหก ไม่มีสัจจะ มันไม่ใช่สัจจะ คุณมาบีบคอผมให้พูด ผมก็พูด” นายวิษณุกล่าวเพิ่มเติม

เมื่อถูกถามถึงเรื่องปัจจัยที่จะทำให้การเลือกตั้งล่าช้าออกไป และรัฐบาลจะอนุญาตให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้เมื่อใด นายวิษณุปฎิเสธที่ตอบคำถามเหล่านี้ โดยระบุว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เท่านั้นที่จะตอบได้

การเปิดเผยของนายวิษณุในครั้งนี้ ถือเป็นการขยับกำหนดการเลือกตั้งออกไปอีกครั้ง หลังจากในเดือนตุลาคม 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ประกาศว่า จะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561

สำหรับเหตุผลที่ การเลือกตั้งอาจมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 หรือเลื่อนจากกำหนดเดิม 3 เดือนนั้น เนื่องจากในวันพฤหัสบดีนี้ ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ทำการพิจารณาแก้ไขมาตรา 2 ของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ฯ) วาระ 2-3 ซึ่งจะกำหนดให้ พ.ร.ป.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ 90 หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา แทนที่จะมีผลบังคับใช้ทันที เหมือนพระราชบัญญัติปกติ ซึ่ง สนช. ได้อธิบายเหตุผลว่า ต้องการให้ประชาชน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง มีเวลาทำความเข้าใจ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.ฯ ก่อนกฎหมายจะมีผลบังคับใช้จริง

การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ

ตามมาตรา 267 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่ประกาศใช้ในวันที่ 6 เมษายน 2560 กำหนดให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) จำนวน 10 ฉบับ ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ หมายความว่า พ.ร.ป.ทุกฉบับต้องเสร็จสิ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2561

จากนั้นให้ กรธ. ส่งร่าง พ.ร.ป. ทั้งหมด แก่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาให้แล้วในระยะเวลา 60 วัน หรือ ภายในเดือนเมษายน 2561 หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่า ร่าง พ.ร.ป. ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญ ให้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมพิจารณาให้แล้วเสร็จใน 10 วัน จากนั้นส่งกลับยัง สนช. 15 วัน ถ้า สนช. เห็นชอบจะเข้าสู่ชั้นทูลเกล้าฯ กรอบเวลา 120 วัน หรือประมาณเดือนกันยายน 2561 และจะใช้เวลาจัดการเลือกตั้ง 5 เดือน หรือภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

ยิ่งเลือกตั้งช้า ยิ่งกระทบพัฒนาการประชาธิปไตยไทย

ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แสดงความคิดเห็นต่อเบนาร์นิวส์ว่า การที่รัฐบาลไม่ระบุวันเลือกตั้งที่ชัดเจน แสดงให้เห็นถึงความไม่มุ่งมั่น ที่จะเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย ซึ่งยิ่งทำให้การพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทยถูกชะลอไปด้วย

“จะส่งผลด้านลบต่อการพัฒนาประชาธิปไตย และการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล มันจะกลายมาเป็นประชาธิปไตยแบบไทยนิยมอย่างที่ตัวรัฐบาลทหารเองประกาศ คือ สิทธิเสรีภาพอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลและทหาร ซึ่งส่งผลด้านลบต่อการแก้ปัญหาทุจริต และการสร้างความโปร่งใส” ดร.ฐิติพลกล่าว

“การที่วันเลือกตั้งไม่ชัดเจน คือ ทหารหวั่นเกรงการได้เสียงจำนวนมากของพรรคฝ่ายตรงข้ามทหาร แต่ผมยังคิดว่า หลังการเลือกตั้งทหารคงมาเป็นรัฐบาล แต่ไม่มั่นใจในเสถียรภาพของอำนาจตัวเอง” ดร.ฐิติพลกล่าวเพิ่มเติม

ในวันพุธที่ผ่านมา นางจิลเลียน บอนนาร์โดซ์ โฆษกสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯได้เปิดเผยว่า จุดยืนของรัฐบาลสหรัฐอเมริกายังไม่เปลี่ยนแปลง และยังรอคอยให้เกิดการเลือกตั้งตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ เคยประกาศไว้ว่า จะจัดการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561ในขณะที่ นายเพอก้า ทาปิโอล่า เอกอัครราชทูตคณะผู้แทนสหภาพยุโรป (อียู) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า อียูสนับสนุนการคืนสู่ประชาธิปไตยของประเทศไทย และยังเชื่อว่าไทยจะสามารถจัดการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 ได้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง