กกต. รับรองแล้ว สว. ชุดใหม่ 200 คน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.07.10
กรุงเทพฯ
กกต. รับรองแล้ว สว. ชุดใหม่ 200 คน นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยืนให้ถ่ายภาพระหว่างการเลือกตั้ง สว. ระดับประเทศ ที่กรุงเทพฯ วันที่ 26 มิถุนายน 2567
ลิเลียน สุวรรณรัมภา/เอเอฟพี

นายแสวง บุญมี เลขาธิการ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงข่าวในวันพุธนี้ว่า กกต. รับรองผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) วันที่ 26 มิถุยายน 2567 แล้ว โดยมี สว. ตัวจริง 200 คน และ สว. สำรอง 99 คน ขณะที่นักวิชาการแนะประชาชนร่วมตรวจสอบการทำหน้าที่ สว. หลังได้รับตำแหน่ง 

“พิจารณาแล้วเห็นว่า การเลือกตั้งวุฒิสภาเป็นไปด้วยความถูกต้องสุจริต และเที่ยงธรรม จึงมีมติ ประกาศผลการเลือกวุฒิสภาของแต่ละกลุ่มทั้ง 20 กลุ่มลำดับที่ 1-10 ของแต่ละกลุ่ม เป็นวุฒิสภา ลำดับที่ 11-15 ของแต่ละกลุ่มเป็นบัญชีสำรองยกเว้น กลุ่มที่ 18 ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ระงับสิทธิชั่วคราว เหลือบัญชีสำรองแค่ 4 คน ฉะนั้นเราได้รับรองผู้ได้รับเลือกทั้ง 200 คน เพื่อเปิดสภาได้แล้ว ที่สำรองก็จะมี 99 คน” นายแสวง กล่าว

กระบวนการเลือกตั้ง สว. รอบสุดท้ายระดับประเทศ มีขึ้นในวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีผู้สมัคร สว. 3,000 คน ที่ผ่านการคัดเลือกระดับจังหวัด เข้ารับการคัดเลือกแบบเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพช่วงเช้า หลังจากนั้นในช่วงบ่ายจะมีการเลือกแบบไขว้ คือให้ผู้สมัครจากกลุ่มหนึ่งเลือกผู้สมัครในกลุ่มอาชีพอื่น ๆ 

การเลือกตั้ง สว. ครั้งนี้ เกิดขึ้นเพื่อทดแทน สว. ชุดล่าสุด 250 คน ที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งหมดวาระไปแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567 โดยเป็นการเปิดรับสมัคร ผู้ลงสมัครรับเลือกเป็น สว. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป. สว.ฯ) ซึ่งนับเป็นการใช้รูปแบบนี้ครั้งแรก

“ยังไม่สามารถบอกได้ว่า การเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม เพราะการจะนำหลักฐานไปยื่นต่อศาลฎีกา กฎหมายบอกว่า ต้องมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า การเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม สำนักงานก็ยังคงต้องพิจารณารวบรวมพยานหลักฐานมาเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อยุติเพื่อให้เกิดความเที่ยงธรรม” นายแสวง กล่าว

000_34Z96MR.jpg
ผู้สมัคร สว. รอลงคะแนนในการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกรอบสุดท้าย ในกรุงเทพมหานคร วันที่ 26 มิถุนายน 2567 (ลิเลียน สุวรรณรัมภา/เอเอฟพี)

ในรายชื่อ สว. ชุดใหม่ 200 คน มีบุคคลที่เคยมีตำแหน่งราชการ หรือเป็นที่รู้จักของสังคมด้วย เช่น พล.อ. เกรียงไกร ศรีรักษ์ ประธานคณะที่ปรึกษา รมว.มหาดไทย, นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร, รศ. ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นต้น 

ในรายชื่อสำรองมี พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิหรามณกุล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.), นายษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชน, นายธัชพงศ์ แกดำ นักกิจกรรมทางการเมือง รวมอยู่ด้วย ขณะที่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี, นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต., พล.ต.นพ. เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ไม่ได้รับเลือก

นายแสวงระบุว่า ผู้ที่ได้รับเลือกเป็น สว. ทั้ง 200 คน ต้องไปรายงานตัวที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ในวันที่ 11-12 กรกฎาคมนี้ ตามเวลาราชการ

ก่อนหน้านี้ มีผู้สมัคร สว. ได้เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต. รวมถึงศาลปกครองให้ชะลอการรับรองรายชื่อ สว. พร้อมกับยื่นหลักฐานระบุว่า การเลือก สว. มีการทุจริต และผู้สมัครบางคนมีคุณสมบัติไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม กกต. ได้ระงับสิทธิสมัครของผู้สมัครชั่วคราว 89 คน ได้รับเรื่องร้องเรียนกว่า 800 เรื่อง โดยในนั้นกว่า 65% เป็นเรื่องคุณสมบัติของผู้สมัคร 

นายแสวงระบุว่า ผู้สมัคร สว. ที่ได้รับเลือก แต่ถูกระงับสิทธิการสมัครชั่วคราวในกลุ่ม 18 กลุ่มสื่อสารมวลชน คือ น.ส. คอดียะฮ์ ทรงงาม สว.อ่างทอง ลำดับที่ 4 ซึ่งถูกระงับสิทธิ เพราะพบว่าเป็นที่ปรึกษานายก อบจ. อ่างทอง ซึ่งเป็นคุณสมบัติต้องห้าม

สำหรับ คุณสมบัติของผู้สมัคร สว. ต้องมีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ค่าสมัคร 2,500 บาท ต้องมีประสบการณ์ในสายอาชีพที่จะลงสมัครอย่างน้อย 10 ปี และต้องเกิด หรือมีทะเบียนบ้าน หรือเคยอาศัยทำงาน เรียน ในอำเภอที่จะลงสมัครอย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป 

มีกลุ่มอาชีพให้เลือกลงรับสมัคร 20 กลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง, กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และกลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก เป็นต้น

กกต. สรุปข้อมูลว่า ในการเลือกตั้ง สว. มีผู้สมัครทั้งหมดทั่วประเทศ 48,117 คน มีผู้ที่ถูกปฏิเสธการรับสมัคร 1,917 คน ถูกลบชื่ออกในระดับอำเภอ 526 คน ระดับจังหวัด 87 คน และระดับประเทศ 5 คน ด้วยปัญหาเรื่องคุณสมบัติ ซึ่งหลังจากการเลือกระดับอำเภอ วันที่ 9 มิถุนายน เหลือผู้ผ่านเข้ารอบ 23,645 คน ระดับจังหวัด วันที่ 16 มิถุนายน มีผู้เข้ารอบ 3,000 คน ที่เข้าสู่การเลือกระดับประเทศ 

ต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ รศ.ดร. เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย ชี้ว่า ไม่เห็นด้วยกับการให้การเลือกตั้ง สว. ครั้งนี้เป็นโมฆะ แม้จะมีเสียงวิพากษ์-วิจารณ์เรื่องการทุจริต และรูปแบบการเลือก 

“เราต้องคอยช่วยกันตรวจสอบ ใครทำหน้าที่ไม่ดี บิดพลิ้วยังไง ใครเข้าข้างใคร โดยเฉพาะไปเชื่อมกับพรรคการเมืองหรือไปเป็นฝ่ายกับผู้มีอิทธิพลทำให้มันเห็นเด่นชัดว่า การทำหน้าที่ไม่ได้อาศัยผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นหลัก แต่อาศัยผลประโยชน์ของพวกพ้อง ผลประโยชน์ส่วนตน ก็ต้องไปตรวจสอบ” รศ.ดร. เจษฎ์ กล่าว

ทั้งนี้ ในการเลือกระดับประเทศให้ผู้มีคะแนนมากที่สุด 40 คนแรก ของแต่ละกลุ่มอาชีพ เลือกผู้สมัครจากต่างกลุ่มอาชีพ หลังจากนั้นผู้ที่ได้รับคะแนนมากที่สุด 10 อันดับแรกของแต่ละกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม จากการเลือกโดยผู้สมัครต่างกลุ่มอาชีพจะได้เป็น สว. รวม 200 คน และผู้ที่ได้รับคะแนนเป็นอันดับ 11-15 ของแต่ละกลุ่มอาชีพจะนับเป็นรายชื่อ สว. สำรอง 100 คน แต่ สว. ชุดใหม่นี้จะไม่มีสิทธิในการเลือกนายกรัฐมนตรี แบบเดียวกับ สว. ชุดที่แต่งตั้งโดย คสช. 

สำหรับคดีถอดถอนนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่แต่งตั้งโดย คสช. จำนวน 40 คน เป็นผู้ร้องเรียนยังคงมีผลอยู่ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญรับไว้พิจารณาแล้ว โดยศาลได้ให้ส่งคำชี้แจงหลักฐานเพิ่มเติม และจะนัดพิจารณาคดีอีกครั้งในวันที่ 24 กรกฎาคม นี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง