นักวิเคราะห์เชื่อ เพื่อไทยจะไม่ถูกยุบพรรค แต่ห้ามประมาท

กกต. ตั้งคณะกรรมการสอบสวนคำร้องยุบเพื่อไทย เหตุทักษิณ ชินวัตร ครอบงำพรรค
จรณ์ ปรีชาวงศ์
2024.10.21
กรุงเทพฯ
นักวิเคราะห์เชื่อ เพื่อไทยจะไม่ถูกยุบพรรค แต่ห้ามประมาท ผู้สนับสนุนถือโปสเตอร์ของ น.ส. แพทองธาร ชินวัตร ผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ระหว่างการหาเสียงทั่วไปที่ จ.อุบลราชธานี วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566
อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา/รอยเตอร์

ปัจจุบัน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำลังดำเนินการสอบสวน กรณีที่มีผู้ร้องให้ กกต. พิจารณาส่งเรื่องยุบพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาล เพราะเชื่อว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคครอบงำพรรค อย่างไรก็ตาม นักวิชาการเชื่อว่าเพื่อไทยจะไม่ถูกยุบจากข้อหาดังกล่าว

ในวันจันทร์นี้ นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า “กกต. ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนคำร้องดังกล่าว โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่ก็สามารถขอขยายเวลาดำเนินการได้ครั้งละ 30 วัน จนกว่าจะแล้วเสร็จ” 

ปัจจุบัน มีผู้ยื่นคำร้องต่อ กกต. 6 คำร้อง จาก 4 คน ประกอบด้วย บุคคลนิรนาม, นพ. วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี, นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และนายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 

คำร้องทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการที่นายทักษิณ เชิญแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลไปยังบ้านจันทร์ส่องหล้าของตนเอง ในเย็นวันที่ 14 ส.ค. 2567 หลังจากศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเชื่อว่า นายทักษิณเป็นผู้ตัดสินใจเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการครอบงำพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาล

“โดยหลักการเชื่อว่า ยังไม่ถึงจุดที่จะยุบเพื่อไทยได้ แต่เพื่อไทยก็ไม่สามารถเดินตัวเบา ผิวปาก ประมาทได้ เพราะพลังประชารัฐ ซึ่งไม่ได้ร่วมรัฐบาลแล้ว พร้อมที่จะเป็นพยานฝ่ายผู้ร้อง อย่างไรก็ตาม การที่จะร้องว่า นายใหญ่ (นายทักษิณ) ครอบงำพรรค ต้องมีหลักฐานโดยละเอียด ถึงจะเอาผิดได้จริง ดังนั้น ไม่น่าจะมีพรรคไหนที่ถูกยุบจากกรณีที่เกิดขึ้น” ผศ.ดร. ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย สมาคมนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

2.JPG
น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศไทย เดินทางมาพร้อมกับอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร บิดาของเธอ ที่สำนักงานใหญ่พรรคเพื่อไทย ก่อนพิธีโปรดเกล้าฯ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ วันที่ 18 สิงหาคม 2567 (ภานุมาศ สงวนวงษ์/รอยเตอร์)

ผศ.ดร. ธนพร ชี้ว่า แม้ผู้ร้องบางคนจะร้องโดยนิรนาม แต่สามารถนิยามได้ว่าเป็นผู้มีความเชื่อแบบอนุรักษ์นิยม ซึ่งสนับสนุนกองทัพ และขณะเดียวกันก็มีความเกลียดชังนายทักษิณ และพรรคเพื่อไทยเป็นทุนเดิม

นอกจากคำร้องต่อ กกต. แล้ว ยังมีกรณีที่ นายธีรยุทธ์ สุวรรณเกษร ซึ่งเคยเป็นทนายความของพระพุทธะอิสระ แกนนำ กปปส. ไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยกเลิกพฤติกรรมล้มล้างการปกครองของนายทักษิณ กรณีที่ ร่วมเจรจาเลือกนายกรัฐมนตรี และการแสดงวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศต่อสาธารณชนในเดือน ส.ค. 2567 โดยนายธีรยุทธ์ คือ บุคคลเดียวกันกับที่ยื่นยุบพรรคก้าวไกล

“เชื่อว่า เพื่อไทยจะไม่ถูกยุบ เพราะชนชั้นนำยังจำเป็นต้องใช้เพื่อไทยในการเดินเกมการเมืองต่อไป และเชื่อว่า กรณีที่เกิดขึ้นไม่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร โดยเหตุผลที่ กกต. ต้องดำเนินการเรื่องคำร้องดังกล่าว เพราะกลัวที่จะถูกกล่าวหาว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” รศ.ดร. โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวกับเบนาร์นิวส์ 

เพื่อไทยไร้กังวล

น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นทั้งบุตรสาวของนายทักษิณ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวกับสื่อมวลชนสั้น ๆ ในวันจันทร์นี้ถึงกรณีการถูกยื่นยุบพรรคว่า “ไม่กังวลค่ะ” ขณะที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ชี้ว่า การร้องให้ยุบพรรคเพื่อไทย อาจกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน

“เรื่องร้อง กกต. กกต. ก็ทำหน้าที่ไป เพียงแต่ผมไม่สบายใจว่า เวลาใครหยิบเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาร้องก็กลายเป็นประเด็นซะหมด มาฟ้องนายกฯ เรื่องนั้นเรื่องนี้ ผมไม่อยากให้เรื่องเหล่านี้มาทำให้เสถียรภาพความเชื่อมั่นของรัฐบาลเสียหาย เพราะเศรษฐกิจกำลังฟื้น พอมีเรื่องเขาก็ชะงักรออีก ถ้าเป็นแบบนี้ผมว่า เศรษฐกิจประเทศพังแน่ แต่สำหรับพรรคก็ไม่ได้กังวลใจ พรรคร่วมฯ ทุกคนก็ไม่ได้กังวล เรายินดีชี้แจง” นายภูมิธรรม กล่าว

สิ่งที่เกิดขึ้นกับเพื่อไทย อาจเรียกได้ว่า “นิติสงคราม” เพราะในเดือน ส.ค. 2567 นายเศรษฐา นายกรัฐมนตรีของเพื่อไทย ก็ต้องหลุดจากตำแหน่ง เพราะถูก สว. ร้องเรื่องการแต่งตั้งรัฐมนตรีที่เคยถูกตัดสินจำคุก ขณะที่ ก้าวไกล พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงอันดับหนึ่ง ก็ถูกยุบพรรคด้วยข้อหาล้มล้างการปกครอง เพราะหาเสียงด้วย นโยบายแก้ไข ม. 112 ทำให้บางคนไม่มั่นใจว่า ประวัติศาสตร์จะเกิดซ้ำกับเพื่อไทยหรือไม่

นายกฤติน ลิขิตปริญญา พนักงานบริษัทเอกชน ย่านสุขุมวิท กรุงเทพฯ อายุ 28 ปี เชื่อว่า การยุบพรรคการเมืองจะมีผลต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศ

“เชื่อว่า มีคนจำนวนไม่น้อยต้องการกำจัดคุณทักษิณจากกระดานอีกครั้ง ดังนั้น การยื่นยุบพรรคเพื่อไทย จึงเป็นกลเกมการเมืองอย่างชัดเจน มันเป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะมันคือการฉุดรั้งพัฒนาการประชาธิปไตยของประเทศไทย แต่ก็เชื่อว่า แม้มีคนพยายามกลบฝังประชาธิปไตย อีกทางหนึ่งสิ่งที่เขาฝังกลบก็เป็นเมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตยที่พร้อมจะเบ่งบานในอนาคต” นายกฤติน กล่าว

3.JPG
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ในงานแถลงข่าวในกรุงเทพฯ ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาตัดสินให้ยุบพรรคก้าวไกล วันที่ 7 สิงหาคม 2567 (ชาลินี ถิระศุภะ/รอยเตอร์)

ในปี 2550 ไทยรักไทย, ปี 2551 พลังประชาชน และ ปี 2562 ไทยรักษาชาติ ซึ่งเป็นพรรคที่มีอุดมการณ์เดียวกันกับเพื่อไทยเคยถูกยุบมาแล้ว ขณะที่ ปี 2563 อนาคตใหม่ และปี 2567 ก้าวไกล ซึ่งเป็นคู่แข่งของเพื่อไทยก็โดนยุบเช่นกัน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า การยุบพรรคเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองแบบไทย ๆ

“คิดว่า ถ้าไม่ใช่พรรคส้ม (พรรคประชาชน) ก็คงรอดกันหมดเพราะดีลได้อยู่แล้ว แถมสมประโยชน์กันด้วย กรณี เศรษฐา มองว่ามันเป็นแค่หมากที่เพื่อไทยก็เดาออก และเพื่อไทยเองรวมถึงพรรคร่วม อาจจะอยากได้นายน้อย (แพทองธาร) มาเป็นนายกฯ อยู่แล้ว ดังนั้น การยุบพรรคจะไม่ทำให้ประเทศเดินได้หรือไม่ได้ เพราะการร้องเป็นเครื่องมือการเมืองอย่างหนึ่ง สำหรับการแบ่งเค้ก แบ่งอำนาจ” นายอัครวุฒิ พุ่มเชื้อ อายุ 38 ปี พนักงานบริษัทย่านราชดำริ กรุงเทพฯ กล่าว

ทั้งนี้ หลังการยุบพรรคไทยรักไทย ทำให้เกิดการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ขณะที่ การยุบพรรคอนาคตใหม่ ก็เป็นจุดเริ่มต้นของกระแสการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ และในการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นหลังจากการยุบพรรคทั้งสองครั้ง กลุ่มการเมืองที่เคยถูกยุบก็สามารถกลับมาชนะในคูหาได้อย่างถล่มทลาย 

“ถ้าศาลวินิจฉัยว่าไม่ยุบ ภูมิทัศน์การเมืองก็จะยังเป็นอย่างเดิม เชื่อว่า รัฐบาลจะอยู่ครบเทอม ขณะที่ถ้าถูกยุบ ภูมิใจไทยจะรอด เพราะเชื่อว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีกับ สว. และองค์กรอิสระ ขณะที่ คุณอนุทิน ชาญวีรกูล (หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย) ก็ดูมีโหงวเฮ้งมากที่สุดในบรรดาแคนดิเดตนายกฯ ทั้งหมดที่เหลืออยู่” ผศ.ดร. ธนพร กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง