กรรมการการเลือกตั้ง: กกต.พ้นสภาพทันที กระทบผลประโยชน์ชาติ
2017.06.06
กรุงเทพฯ

ในวันอังคาร (6 มิถุนายน 2560) นี้ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า มติคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ต้องการให้ กกต.ทุกคนพ้นสภาพทันที หลังจาก พ.ร.ป.กกต.มีผลบังคับใช้นั้น จะไม่กระทบกับกรอบเวลาการจัดการเลือกตั้ง แต่เชื่อว่าจะกระทบต่อกระบวนการจัดการบางอย่าง และไม่เป็นธรรมกับ กกต.ชุดปัจจุบันที่ยังไม่หมดวาระ
“กำหนดการการเลือกตั้งไม่น่าเปลี่ยน เนื่องจากกระบวนการของการออกกฎหมายลูกในส่วนของกฎหมาย กกต.ได้กระทำในช่วงต้นๆของกรอบเวลา แม้ว่ากฎหมายจะล่าช้าไปบ้างก็ไม่น่าจะกระทบ กกต.ใหม่ ถ้าเกิด กกต.เดิมพ้นสภาพทั้งหมดจริงก็จะมีเวลาที่จะเข้ามาเตรียมการเลือกตั้งประมาณ 1 ปีเต็มๆ” นายสมชัยกล่าว
“การเซ็ตซีโร่และนำ กกต.ใหม่ 7 คนมา อาจจะมีผลกระทบในแง่ความสามารถในการจัดการที่อาจจะต้องมาเริ่มต้นกันใหม่ หลายเรื่องซึ่งเตรียมการในชุดเดิมอาจจะยกเลิก สะดุด หรือติดขัด ต้องยอมรับ กกต.ชุดปัจจุบันได้ทำงานต่อเนื่องมา 3 ปีกว่าสั่งสมประสบการณ์ รวมถึงการรู้เท่าทันฝ่ายการเมืองพอสมควร เชื่อว่ามีประโยชน์มากในการจัดการเลือกตั้งในอนาคต” นายสมชัยกล่าวเพิ่มเติม
นายสมชัยเชื่อว่า การให้ กกต.ชุดปัจจุบัน ทำงานร่วมกับ กกต.ชุดใหม่ทำงานร่วมกันจะสร้างประโยชน์ให้กับสาธารณะมากกว่า การให้ กกต.ชุดปัจจุบันพ้นสภาพทันที และให้ กกต.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่เองโดยลำพัง ขณะเดียวกันเชื่อว่า แนวคิดดังกล่าวยังไม่เป็นธรรมกับ กกต.ชุดปัจจุบันด้วย
“เซ็ตซีโร่เฉพาะ กกต.องค์กรเดียวไม่ต้องทำกับองค์กรอื่นๆ เป็นการปฎิบัติแบบสองมาตรฐาน และการออกกฎหมายที่มีผลย้อนหลังในเชิงที่เป็นโทษ เช่น ท่านประวิช รัตนเพียร ลาออกจากผู้ตรวจการแผ่นดินมาสมัครเป็น กกต. ถือว่าเสียสละ แต่กฎหมายใหม่บอกว่า กกต.ต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระอื่นมาก่อน ดังนั้นท่านก็ขัดคุณสมบัติ จะเป็นธรรมหรือไม่ เพราะท่านออกมาในยุคที่ยังไม่ขัดกฎหมาย” นายสมชัยระบุ
วันศุกร์ที่ผ่านมา พล.ท.พิศณุ พุทธวงศ์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงข่าวว่า กรรมาธิการฯ มีมติให้ กกต.ชุดปัจจุบันพ้นสภาพทันทีที่ พ.ร.ป.กกต.มีผลบังคับใช้ หรือที่สื่อมวลชนเรียกว่า เซ็ตซีโร่ กกต. เนื่องจากเชื่อว่า ใน พ.ร.ป.กกต. ให้อำนาจ กกต.มากขึ้น ทั้งในการจัดการเลือกตั้ง การไต่สวนสอบสวนกรรมาธิการฯ จึงเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูป กกต.ใหม่
“คณะกรรมาธิการมีมติให้ กกต. ชุดปัจจุบันพ้นวาระ เมื่อ พ.ร.ป.กกต.ฉบับใหม่นี้มีผลบังคับใช้ นอกจากนี้หากให้ทำงานร่วมกับ กกต. ที่สรรหามาใหม่ ซึ่งคุณสมบัติที่แตกต่างกันจะเกิดปัญหาในการทำงานลักษณะปลา 2 น้ำ จะไม่เป็นผลดีต่อการทำงานในอนาคต จึงได้กำหนดให้ กกต. ชุดปัจจุบัน ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะได้ กกต. ชุดใหม่ 7 คน” พล.ท.พิศณุกล่าว
โดยสำหรับ อำนาจของ กกต. ตาม พ.ร.ป. มีอำนาจสั่งการหน่วยงานอื่นๆ ประกอบด้วย สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.), ผู้สอบบัญชีของพรรคการเมือง, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.), หน่วยข่าวกรอง หรือการข่าวของรัฐ ให้ตรวจสอบข้อมูลธุรกรรมของพรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือผู้สมัครรับเลือกตั้ง เพื่อให้การควบคุมดูแลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม ทั้งนี้การตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว ยังให้ความคุ้มครองต่อการเปิดเผยข้อมูลยังสาธารณะด้วย
ปัจจุบัน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกอบด้วย นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. รับผิดชอบกิจการบริหาร และกรรมการ 4 คน คือ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร รับผิดชอบงานกิจการบริหารงานเลือกตั้ง นายบุญส่ง น้อยโสภณ รับผิดชอบงานกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ รับผิดชอบงานพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ และนายประวิช รัตนเพียร รับผิดชอบงานกิจการการมีส่วนร่วม
สำหรับขั้นตอนในการพิจารณาและบังคับใช้ ร่าง พ.ร.ป. กกต.ฉบับใหม่ มีดังนี้
9 มิ.ย. 2560 ร่าง พ.ร.ป. กกต. เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในวาระที่ 3
24 มิ.ย. 2560 สนช.ส่ง ร่าง พ.ร.ป. กกต. ให้ศาลรัฐธรรมนูญ และ กกต.พิจารณา
4 ก.ค. 2560 กกต.ใช้สิทธิทักท้วง และชี้แจข้อสงสัย
18 ส.ค. 2560 สนช.พิจารณาข้อทักท้วง และลงมติภายใน 30 วัน รอประกาศใช้ และเข้าสู่กระบวนการสรรหา กกต.
18 ต.ค. 2560 ได้ราย กกต.ชุดใหม่ 7 คน
3 พ.ย. 2560 วันสุดท้ายของการยื่นตรวจสอบคุณสมบัติ กกต. ตรวยสอบ 15 วัน หากคุณสมบัติ กกต.รับตำแหน่ง