ประเทศไทยสุ่มเสี่ยงต่อการรัฐประหารอีกหรือไม่?

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และ วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2019.02.21
กรุงเทพ
190221-TH-election-military-620.jpg พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ตรวจแถวทหารในพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล เนื่องในวันกองทัพไทย ที่กรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในประเทศไทยกว่าห้าสิบเอ็ดล้านคน จะได้ใช้สิทธิ์ใช้เสียงลงคะแนนเป็นครั้งแรกในรอบเกือบห้าปี ในวันที่ 24 มีนาคม ศกนี้ หลังจากที่มีการรัฐประหารรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2557 แต่การที่พรรคการเมืองหาเสียงว่า จะตัดงบประมาณทหาร ได้สร้างแรงกระเพื่อมและความกังวลว่าทหารจะแทรกแซงการเมืองอีกหรือไม่

พรรคการเมืองฝ่ายต้านทหารพรรคสำคัญๆ เช่น พรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติ พรรคอนาคตใหม่ และพรรคเสรีรวมไทย ได้เสนอแผนการลดงบประมาณทางการทหารลง ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ลดจำนวนนายพล และยุบหน่วยทหารบางหน่วย เช่น กองบัญชาการกองทัพไทย จนทำให้พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก บอกผ่านผู้สื่อข่าวให้คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ไปฟังเพลงหนักแผ่นดิน โดยวาสนา นาน่วม สื่อมวลชนสายทหาร ได้รายงานว่า ผบ.ทบ. ได้สั่งให้สถานีวิทยุในเครือข่ายทหาร 126 แห่ง และกองบัญชาการกองทัพบก เปิดเพลงหนักแผ่นดิน ซึ่งต่อมา โฆษกกองทัพบกท่านหนึ่งกล่าวว่า มีการเปิดเพลงนี้อยู่แล้วสามเวลาต่อวัน โดย ผบ.ทบ.ไม่ได้มีคำสั่งให้เปิด

ทั้งนี้ โฆษกกลาโหมชี้แจงว่า งบประมาณกระทรวงกลาโหมในปี 2562 มีวงเงินอยู่ที่ 227,126 ล้านบาท คิดเป็น 7.57% ของงบแผ่นดิน และคิดเป็นเพียง 1.31% ของ GDP ทั้งประเทศเท่านั้น เทียบกับสัดส่วนในช่วง 7 ปี ก่อนหน้าวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2540 ตั้งแต่ปี 2536-2541 กระทรวงกลาโหมได้รับจัดสรรงบประมาณเฉลี่ย 12.7% ของงบประมาณทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าในปัจจุบัน

ปฏิกิริยาโต้ตอบรุนแรงของ ผบ.ทบ. ด้วยการหยิบยกเพลงหนักแผ่นดินที่เป็นเพลงปลุกเร้าในการกวาดล้างผู้ชุมนุมต่อต้านเผด็จการถนอม-ประภาส จนมีผู้เสียชีวิตหลายสิบรายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สร้างความกังวลต่อประชาชน นักวิชาการ และนักการเมืองว่า ทหารอาจจะแทรกแซงทางการเมืองอีก

“เราก็เห็นว่ามันอาจจะเป็นไปได้ เพราะที่ผ่านมา ทหารมักไม่พอใจเมื่อมีกระแสจากรัฐบาลพลเรือนที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงอะไรในกองทัพ ซึ่งมันสะท้อนถึงการไม่ยอมรับระบอบประชาธิปไตยของทหาร เพราะจริงๆ แล้ว ทหารต้องอยู่ภายใต้รัฐบาล เพราะเป็นข้าราชการ แต่ตอนนี้ ทหารไทยไม่เข้าใจสถานะที่แท้จริงของตัวเอง” นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์

ด้านคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคฯ ได้ยืนยันถึงแนวคิดของตนเองทางเฟสบุ๊ค เมื่อวันจันทร์ว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้อง

“ดิฉันขออนุญาตพูดอีกครั้งหนึ่ง เผื่อผู้มีอำนาจจะฟังบ้าง เราเสนอให้ลดงบประมาณลงเพียง 10% ในส่วนที่ใช้ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่เราเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นต้องซื้ออย่างมากมายในสภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศที่แย่อย่างทุกวันนี้” คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว

สำหรับพลเอกอภิรัชต์แล้ว การแทรกแซงทางทหารต่อรัฐบาลพลเรือน ไม่ได้เป็นสิ่งแปลกใหม่ เพราะพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้เป็นบิดา เคยนำคณะรักษาความสงบแห่งชาติยึดอำนาจจากพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน ในปี 2534 มาก่อนแล้ว ขณะที่ตนเองก็มีส่วนร่วมในการสลายผู้ประท้วงคนเสื้อแดง ในห้วงปี 2552-53 และยังมีส่วนช่วย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการยึดอำนาจจากรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ในปี 2557

หลังจากรับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเป็นคนที่ 41 ในเดือนตุลาคมปีที่แล้วได้ไม่นาน พล.อ.อภิรัชต์ ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนในทำนองว่า คงไม่สามารถยืนยันได้ว่า จะไม่มีรัฐประหาร แต่หวังว่าจะไม่มีความวุ่นวายทางการเมืองจนทหารต้องเข้ามาระงับเหตุอีก

“ผมหวังใจอย่างยิ่งว่า การเมืองอย่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งของคนในชาติอีก... มั่นใจว่า ถ้าการเมืองไม่เป็นต้นเหตุ แห่งการจลาจล ถ้ามันไม่เกิด มันก็ไม่มีอะไร อยู่ๆ กองทัพประเทศไทยจะทำการปฏิวัติหรือ... มันไม่เหมือนสมัยก่อน สมัยนี้มันเกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะเรื่องการเมืองทั้งสิ้น” พล.อ.อภิรัชต์ กล่าวในขณะนั้น

และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พล.อ.อภิรัชต์ กล่าวแก่สำนักข่าวเอเอฟพีว่า “จะไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงนี้”

นักสังเกตุการณ์ทางการเมือง ให้ทัศนะว่า ในการรัฐประหารทุกครั้ง เต็มไปด้วยการลับลวงพราง ไม่ว่าในการทำรัฐประหารรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ในปี 2549 หรือ การรัฐประหารรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2557 ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในขณะนั้น มีการทำงานใกล้ชิดกับนางสาวยิ่งลักษณ์มาโดยตลอดก็ตาม

“กลัวคงไม่กลัวหรอกครับ เราคงไม่กลัวกับการที่จะเกิดรัฐประหาร แน่นอนมันมีความเสี่ยงอยู่ แต่ก็ต้องบอกว่า มันหมดเวลาแล้ว กับการทำรัฐประหารซ้ำซ้อนในประเทศไทย นี่มันศตวรรษที่ 21 แล้วก็ต้องบอกว่า ประชาชนต้องการเห็นประเทศกลับสู่ประชาธิปไตย” นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ผู้มีฝีปากกล้าท้าทายอำนาจทหาร กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในขณะหาเสียงที่มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ในวันนี้

“การตัดงบทหารเป็นเรื่องของรัฐบาลพลเรือน เป็นเรื่องของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะงบของทหารมาจากภาษีประชาชนประชาชนจะเป็นคนตัดสินเองว่าเขาอยากให้ภาษีของเขาไปทำอะไร ถ้าประชาชนเห็นด้วยกับการตัดงบทหาร ก็เลือกพรรคที่เสนอการตัดงบทหาร นี่คือการใช้อำนาจของประชาชน” นายธนาธร กล่าวเพิ่มเติม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง