รองนายกฯ: รู้ผลเลือกตั้งไม่เกิน 24 เม.ย. ได้รัฐบาลชุดใหม่ก่อนเดือน มิ.ย. 62

วิลาวัลย์ วชิรศักดิ์เวช
2018.11.08
กรุงเทพฯ
181108-TH-vote-1000.jpg ชายไทยลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ในเขตเลือกตั้ง ใจกลางกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557
เอเอฟพี

ประเทศไทย ประกาศจะมีรัฐบาลใหม่ภายใน 4 เดือน หลังจากมีการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ตามที่รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย แถลงต่อสื่อมวลชน ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ได้มีการวางปฏิทินทางการเมือง ซึ่งระบุรายละเอียดช่วงเวลาการประกาศวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ วันประกาศผลการเลือกตั้ง และวันได้รัฐบาลชุดใหม่แล้ว หลังจาก รัฐบาลคสช.ได้มีเลื่อนการเลือกตั้งออกไปหลายครั้ง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยปฏิทินการเมืองในวันพฤหัสบดีนี้ โดยระบุว่า การเลือกตั้ง ส.ส. จะยังคงใช้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ตามเดิม จากนั้นจะมีการประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการได้ ไม่เกินวันที่ 24 เมษายน 2562 ต่อมาวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 ประชุมรัฐสภาครั้งแรก หลังจากนั้นทำการเลือกนายกรัฐมนตรี และ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะแถลงนโยบายครั้งแรก ภายในเดือนมิถุนายน 2562

“หลังจากกฎหมายมีผลเดือนธันวาคม (2561) ให้ตราพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ กฎหมายเลือกตั้งมีผลใช้บังคับ และให้ กกต.(คณะกรรมการการเลือกตั้ง) กำหนดวันเลือกตั้ง ต้องไม่ช้ากว่า 150 วัน คือ 11 ธันวาคม (2561) ถึง 9 พฤษภาคม (2562) กกต. ขอร้องเพื่อการสะดวกในการจัดการเลือกตั้ง เร็วที่สุด ขอให้เป็นวันอาทิตย์ปลายดือนกุมภาพันธ์ ตามปฏิทินเลยเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562” นายวิษณุ กล่าว

“วันพุธที่ 24 เมษายน (2562) เป็นวันสุดท้ายที่ กกต.จะประกาศ ส.ส. (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) ทุกเขตให้ประชาชนรู้ 500 คน ถ้าเสร็จก่อน จะประกาศก่อนก็ได้ แต่เกิน 60 วันไม่ได้ 27 เมษายน เป็นวันสุดท้ายที่ คสช. จะต้องคัดรายชื่อ ส.ว. (สมาชิกวุฒิสภา) ให้จบครบ 250 คน เปิดการประชุมรัฐสภา คือ ส.ส.ใหม่ และ ส.ว.ใหม่ 8 พฤษภาคม เป็นวันสุดท้าย ครม.นี้ยังอยู่ คสช.ยังอยู่ จนกว่า ครม.ใหม่จะแถลงนโยบายเดือนมิถุนายน (2562)” นายวิษณุ กล่าวเพิ่มเติม

นายวิษณุ ระบุว่า 1 วัน ก่อนการเปิดประชุมรัฐสภาวันแรก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะสิ้นสุดลง และเมื่อเปิดประชุมรัฐสภาแล้วจะมีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งมาจากรายชื่อที่พรรคการเมืองได้เสนอเอาไว้ก่อนการเลือกตั้ง

จากนั้นนำรายชื่อนายกรัฐมนตรีที่รัฐสภาเลือก ทูลเกล้าฯและรอการโปรดเกล้าฯ ต่อมา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ทำการปฏิญาณตน เมื่อนั้นรัฐบาลชุดเก่า และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ แถลงนโยบายต่อรัฐสภา จะถือว่า มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินโดยสมบูรณ์ เชื่อว่า กระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นก่อนการประชุมอาเซียนซัมมิท ระหว่างวันที่ 22-23 มิถุนายน 2562 ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศไทย

ทั้งนี้ ประเทศไทยจัดการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งล่าสุดในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แต่การเลือกตั้งครั้งดังกล่าวถูกตัดสินโดยศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นโมฆะ ในวันที่ 21 มีนาคม 2557 เนื่องจากมีการชุมนุมปิดล้อมหน่วยเลือกตั้งบางหน่วยโดย คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) จนทำให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งทั่วประเทศได้พร้อมกันในวันเดียว

ด้าน นายอุเชนทร์ เชียงเสน อาจารย์จากสำนักวิชารัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยต้องการรัฐบาลชุดใหม่ให้เร็วที่สุด เพราะเบื่อหน่ายวิธีการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

“สังคมอยากให้มีการเลือกตั้ง ผมไม่คิดว่าใครจะทนประยุทธ์ คนน่าจะรู้สึกลึกๆแล้ว ว่า 4 ปีมานี้ประเทศเป็นอย่างไร เลือกตั้งเร็วๆ เปลี่ยนไปเป็นรัฐบาลที่ไม่ใช่รัฐบาลประยุทธ์ สังคมน่าจะอยากให้เป็นแบบนั้น แต่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นแบบไหน ขึ้นอยู่กับ ฝั่งเขา (คสช.) เขาอาจจะลากไปหน่อย ก็จากความไม่พร้อม การตัดสินใจเลือกเร็วช้าอยู่ที่เขา (ทหาร) แต่สังคมกำหนดแล้วว่า เขาเบื่อหน่ายกับรัฐบาลแบบนี้” นายอุเชนทร์ กล่าวผ่านโทรศัพท์

อียู ขอสังเกตการณ์เลือกตั้ง ส.ส.ปี 2562

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยต่อสื่อมวลชนวันนี้ที่ สำนักงานกกต.ว่า สหภาพยุโรป (อียู) ร้องขอเข้ามาสังเกตการณ์เลือกตั้ง ส.ส.ปี 2562 โดยขอส่งตัวแทนมามากกว่า 200 คน อย่างไรก็ตาม กกต. จะพิจารณาความเหมาะสม และขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ ก่อนการตัดสินใจเรื่องนี้

“คำขอของอียูครั้งนี้ นอกจากจะมากด้วยจำนวนคนเป็นหลักร้อย จากที่เคยขอมา 4-5 คนแล้ว ยังขอมาแบบให้เปิดเสรีไปได้ทุกที่ แถมยังมีการขอให้ฝ่าย กกต. เป็นผู้ออกหนังสือเสมือนเป็นการร้องขอให้อียูมาสังเกตการณ์ ซึ่งเป็นจุดที่แปลก เรายังต้องหารือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ ที่อาจจะมีการบันทึกพฤติกรรมผู้ที่เคยมาสังเกตการณ์เชิงความเหมาะสม ที่อาจนำข้อสังเกตการณ์ไปทำอะไรที่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือไม่ ก่อนจะนำมาประกอบการพิจารณาอีกครั้ง”

ตำรวจบุกจับอาวุธสงคราม คุมความสงบก่อนเลือกตั้ง

ในวันเดียวกัน พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ด้านความมั่นคง นำกำลังเข้าจับกุม นายชาญณรงค์ หยกมณี หรืออาร์ม อายุ 19 ปี ชาวจังหวัดปทุมธานี พร้อมกับยึดของกลางเป็นอาวุธสงครามประกอบด้วย ปืนเอ็ม 16 (M16A1) ซองกระสุนปืนเอ็ม 16 ปืนลูกซองยาวแบบไทยประดิษฐ์ ปืนลูกซองสั้นแบบไทยประดิษฐ์ เครื่องกระสุนปืน 5.56 มม. จำนวน 40 นัด เครื่องกระสุนปืน 5.56 มม. จำนวน 27 นัด เครื่องกระสุนปืนลูกซอง 3 นัด เครื่องกระสุนปืน .38 มม. 7 นัด และกระเป๋าใส่อาวุธปืนแบบหนังสีดำ ที่บ้านพักในตำบลบึงน้ำรักษ์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี

โดยนายชาญณรงค์รับสารภาพว่าเป็นอาวุธปืนของตนจริง ได้มาจากเพื่อน แล้วเอามาเก็บไว้ที่บ้าน ส่วน พล.ต.อ.ศรีวราห์ศรีวราห์ ก็สั่งให้ตำรวจทุกหน่วยทั่วประเทศเข้มงวดในการปราบปรามอาชญากรรมช่วงก่อนการเลือกตั้ง

"ผู้ต้องหาให้การว่าเป็นขาใหญ่ เคยนำเอาปืนเอ็ม 16 มาทดลองยิงแล้ว จากนี้จะได้นำปืนและเครื่องกระสุนที่ยึดไปมาขยายผล เพราะใกล้ถึงวันเลือกตั้ง" พล.ต.อ.ศรีวราห์ กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง