42 กลุ่มการเมืองยื่นขอจดทะเบียนพรรคกับคณะกรรมการเลือกตั้ง
2018.03.02
กรุงเทพฯ

กลุ่มการเมืองจำนวน 42 กลุ่ม ได้ยื่นเอกสารจดแจ้งชื่อพรรคการเมืองในวันศุกร์นี้ (2 มีนาคม 2561) ซึ่งเป็นวันแรกที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้กลุ่มการเมืองขอจัดตั้งพรรคการเมือง ตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติที่ 53/2560 ซึ่งกลุ่มการเมืองที่มาในวันนี้ ไม่ได้คัดค้านความคิดที่จะมีนายกรัฐมนตรีคนนอก
บรรยากาศที่สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง ซึ่งได้เปิดให้มีการจดแจ้งชื่อพรรคการเมืองในระหว่างวันที่ 2 ถึง 31 มีนาคม นี้ เป็นไปด้วยความคึกคัก โดยพรรคพลังชาติไทย ที่พลตรีทรงกลด ทิพย์รัตน์ เป็นหัวหน้าพรรค ได้รับคิวที่หนึ่ง
นอกจากนี้ พรรคเพื่อชาติไทย ของนางอัมพาพันธ์ ธเนศเดชสุนทร อดีตภรรยาของ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่ทำการรัฐประหารรัฐบาล “น้าชาติ” ในปี 2534 ได้นำรูปใบหน้าของนักการเมืองคู่ขัดแย้ง เช่น นายทักษิณ ชินวัตร และน้องสาว นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกลุ่ม กปปส. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สกรีนลงบนเสื้อยืดคอกลมสีขาว พร้อมตัวหนังสือสีชมพูคำว่า “ปรองดอง” เพื่อนำมาสร้างสีสันในการจดแจ้งชื่อพรรคการเมืองในวันนี้
โดยตัวแทนของพรรคระบุว่าเป็นการสนับสนุนให้คนเหล่านี้เลิกเล่นการเมือง ลดละตัวตน เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่สนับสนุนกลุ่มคนเหล่านี้มีอิสระทางการเมือง และหันหน้ามาปรองดอง
“ถึงเวลาแล้วที่ บิ๊กตู่ สุเทพ ทักษิณ ยิ่งลักษณ์ อภิสิทธิ์ หมดเวลาสำหรับการเป็นนายกฯ และน่าจะลดตัวตนของตนเอง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองในอนาคตอันใกล้นี้” ระบุในเอกสารของนางอัมพาพันธ์ ที่แจกต่อสื่อมวลชน
“วันนี้ มีผลเป็นที่น่าพอใจ เราพยายามทำให้แล้วเสร็จในเวลาที่กำหนดสามสิบวัน ในการตรวจสอบคุณสมบัติซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร” นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน
นายกฯ คนนอก... รับได้
กลุ่มการเมืองที่มาแจ้งจดพรรคการเมืองในวันนี้ มีความเห็นที่หลากหลายในการสนับสนุนบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ทั้งนี้ไม่ได้ปฏิเสธความคิดนายกฯ ที่มาจากคนนอก หรือ นายกฯ คนกลาง
นายวีระพล รักธรรม ว่าที่โฆษกพรรคพลังชาติ ที่มี พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ เป็นว่าที่หัวหน้าพรรค ปฏิเสธกระแสข่าวว่าเป็นพรรคทหาร ที่จัดตั้งเพื่อเป็น นอมินี ของ คสช. เนื่องจากว่าที่หัวหน้าพรรคมีความเชื่อมโยงกับพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่ยอมรับว่า พล.ต.ทรงกลด เคยเป็นคณะทำงานเตรียมการด้านปฏิรูปประเทศของ คสช. จริง
“จุดแข็งของพรรคคือเรามีสมาชิกที่เคยเป็นทีมปฏิรูปประเทศมาก่อน ทำให้เข้าใจปัญหาของประชาชน ส่วนจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ หรือไม่นั้น อยู่ที่ประชาชนตัดสินใจ” นายวีระพล กล่าวกับสื่อมวลชน
ด้านนายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคพลังประชาชน ในฐานะว่าที่พรรคพลังพลเมืองไทย กล่าวว่ามีนายกฯ ที่คิดไว้ในใจหลายคน ถ้าไม่มีคนใหม่ที่เหมาะสมมาให้เลือก ก็พร้อมจะสนับสนุนคนเก่าที่มีความสามารถ มีความจริงใจที่จะทำงานให้ประเทศชาติได้ดี ส่วนจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่ ต้องรอให้เจ้าตัวแสดงความชัดเจนก่อน
“ต้องรอท่านประยุทธ์ตัดสินใจก่อนดีกว่า ว่าท่านพร้อมจะเป็นนายกฯ คนต่อไปไหม แล้วค่อยมาหาข้อสรุป... เราไม่ขัดข้อง เราทำตามรัฐธรรมนูญ เพราะ รธน. เปิดโอกาสให้คนไทยทุกคนเป็นนายกฯ ได้” อดีต สส.หลายสมัยระบุ
ในวันเดียวกัน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการเปิดจดทะเบียนพรรคการเมืองว่า พรรคการเมืองที่จัดตั้งใหม่สามารถประกาศสนับสนุนบุคคลต่างๆ ที่จะเข้ามารับตำแหน่งนายกฯ นั้นเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ แต่หากจะดำเนินการหรือความเคลื่อนไหวใดๆ ให้แจ้ง คสช. ก่อน
โดยเมื่อวันอังคาร (27 กุมภาพันธ์) ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ได้ประกาศว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า พร้อมทั้งขอบคุณ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. และกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่ประกาศสนับสนุนให้ตนได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า จะทำได้หรือไม่ ขอให้พิจารณาจากกฎหมายต่างๆ ก่อนว่าสามารถทำได้หรือไม่
พรรคการเมืองกลุ่มใหม่... ในวังวนเก่า
หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศให้มีการจัดการเลือกตั้งภายในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า นักการเมือง วิชาการ นักกิจกรรมหลายฝ่าย ยังมีความแคลงใจว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และถ้าเกิดขึ้นจริง ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี
หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า กลุ่มชินวัตร อาจจะฟื้นตัวได้ยากหลังจากรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เข้ามาบริหารจัดการประเทศ ที่ตั้งคณะทำงานขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงกฎหมายเลือกตั้ง เพื่อปิดโอกาสไม่ให้พรรคเพื่อไทยกลับมาชนะการเลือกตั้งได้อีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทหารอยู่ในอำนาจนานพอที่จะสร้างพันธมิตรการเมืองกลุ่มใหม่ และ นักธุรกิจกลุ่มใหม่ที่สนับสนุนการทำงานของทหารในช่วงหลายปีที่ผ่านมานับแต่การปฏิวัติ ก็ไม่ทำให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นมีความเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันมากนั้น
นายฐิติพล ภักดีวานิช นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แสดงความเห็นว่า วัฒนธรรมการเมืองไทยในระบบการเลือกตั้งทำให้นักการเมืองเก่ามีอิทธิพลในพื้นที่อยู่มาก โดยเฉพาะในต่างจังหวัด และนั่นเป็นสาเหตุทำให้พรรคการเมืองหน้าใหม่เจาะเข้าไปได้ยาก หากไม่ได้มีพลังของกลุ่มนักธุรกิจสนับสนุนการทำงาน อย่างไรก็ตาม นายฐิติพล มองว่าปัจจัยในการเลือกตั้งและผลของการเลือกตั้งมาจากทหารเป็นหลัก
“ปัจจัยหลักยังอยู่ที่ทหารและพวกอนุรักษ์นิยมรวมถึงพวกเครือข่ายธุรกิจที่ยังให้การสนับสนุนทหารอยู่เยอะ ถ้าพรรคการเมืองกลุ่มใหม่มาพร้อมพลังเศรษฐกิจที่คอยสนับสนุน อาจมีพลังได้ แต่โอกาสที่กลุ่มธุรกิจจะหันไปสนับสนุนทหารมีมากกว่า” นายฐิติพล กล่าว
“การตั้งกรรมการต่างๆ โดยทหารก็เป็นกลไกที่อาจทำให้ทหารมีอำนาจต่อไป หลังจากมีการเลือกตั้ง และหากพรรคการเมืองกลุ่มใหม่ที่ได้รับเลือกเข้ามายังไม่ได้รับแรงสนับสนุนจากภาคธุรกิจมากพอ ก็จะไม่มีบทบาทมากนัก โดยเฉพาะหากโครงสร้างต่างๆ ยังเหมือนเดิม” นายฐิติพล กล่าวเพิ่มเติม
นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ มีส่วนร่วมในการรายงานข่าวฉบับนี้