นักอนุรักษ์ฯ เรียกร้องลดการใช้พลาสติก หลังวาฬกินพลาสติกจนตาย
2018.06.05
กรุงเทพฯ

เนื่องวันสิ่งแวดล้อมโลก นักสิ่งแวดล้อม เรียกร้องให้ทั้งภาครัฐและเอกชน หยุดการผลิตภาชนะพลาสติกและลดการใช้พลาสติก เพื่อป้องกันปัญหาขยะพลาสติกล้นโลก ซึ่งมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นมหันตภัยร้ายด้านมลพิษต่อสิ่งมีชีวิต ทั้งมนุษย์และสัตว์ ในไม่อีกกี่ปีข้างหน้า
การตายของปลาวาฬนำร่องครีบสั้น ในจังหวัดสงขลา เมื่อช่วงค่ำของวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งพบขยะพลาสติกในกระเพาะอาหารถึง 80 ชิ้น คิดเป็นน้ำหนักถึง 8 กิโลกรัม ได้สร้างการตื่นตัวในการจัดการปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทยและทั่วโลก เป็นอย่างมาก
นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประจำประเทศไทย สำนักงานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ว่า การเสียชีวิตของวาฬ สะท้อนให้เห็นว่า สิ่งที่เราเห็นในข่าววันนี้ เป็นเสมือนเรื่องที่ไกลตัวเรา แต่แท้ที่จริงแล้วมันใกล้ชิดกับเรามาก
“แนวโน้มปัญหาขยะมันเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะเราดูตัวเลขการผลิตพลาสติกมันเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ ไม่ใช่แค่หนึ่งต่อหนึ่ง แต่จากสองเป็นสี่ เพราะพลาสติกถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันของคน และมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการผลิตพลาสติก เป็นสายพานการผลิตหนึ่งของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี” นายธารา ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์
นายธารา กล่าวต่อด้วยว่า กรีนพีซ ได้ทำงานรณรงค์มาอย่างต่อเนื่องในการลดการผลิตพลาสติก และ ลดการใช้พลาสติกที่ใช้ได้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง เพราะเป็นต้นเหตุของปัญหาของวิกฤตขยะพลาสติกทั้งบนบกและในทะเล ซึ่งที่สุดแล้วเมื่อมันเกิดขึ้นทั่วโลกมันไม่ใช่แค่การเสียชีวิตของมนุษย์และสัตว์ในทะเล แต่มีเรื่องปัญหาของสิ่งปนเปื้อนที่ตกค้างอยู่ในระบบนิเวศวิทยาอีกด้วย
“พลาสติกที่ผลิตและนำมาใช้ ถูกนำไปรีไซเคิลแค่ 9 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนขยะทั่วโลก... ถ้าเราไม่มีวิธีจัดการที่ถูกต้อง ไม่ทำอะไรเลย ขยะเหล่านั้นจะไหลลงสู่ระบบนิเวศ และเราจะมีขยะพลาสติกอย่างน้อย 1 พันล้านตัน ถูกทิ้งอยู่ในธรรมชาติ ในที่สุดโลกจะเต็มไปด้วยพลาสติก ที่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมโลก” นายธารา กล่าวเพิ่มเติม
ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการสำรวจประเมินภาพรวมปริมาณขยะมูลฝอยของประเทศ ปี 2558 ในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด มีปริมาณขยะประมาณ 10 ล้านตันต่อปี ขณะที่ขยะประมาณ 5 ล้านตัน จากจำนวนนี้ ถูกจัดการอย่างไม่ถูกวิธี ทำให้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของขยะที่ตกค้างจากการจัดการที่ไม่ถูกวิธี หรือประมาณ 50,000-60,000 ตันต่อปี หรือ 750 ล้านชิ้น จะไหลลงสู่ทะเล
จากการสำรวจพบว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของขยะทั้งหมด มาจากกิจกรรมบนฝั่ง อีก 20 เปอร์เซ็นต์ มาจากกิจกรรมในทะเล เช่น การประมง การท่องเที่ยว และการขนส่งทางทะเล
ด้านกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยข้อมูลที่สำรวจในปี 2558 ว่า ประเทศไทยมีปริมาณขยะพลาสติกและโฟม มากถึง 2.7 ล้านตัน หรือเฉลี่ย 7,000 ตันต่อวัน แบ่งเป็นขยะพลาสติกร้อยละ 80 หรือ 5,300 ตันต่อวัน
ขณะที่องค์การมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐ ชี้ผลกระทบขยะในทะเล ทำให้นกทะเลตายปีละหนึ่งล้านตัว เพราะกินเศษพลาสติกเข้าไป นอกจากนี้ พลาสติกขนาดเล็กและสารพิษอาจปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหาร จากปลาใหญ่กินปลาเล็ก ท้ายสุดอาจส่งผลต่อคน
การทิ้งขยะจำนวนมหาศาล ทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ชื่อว่า ปล่อยขยะลงมหาสมุทรมากที่สุดในโลก รองจากประเทศจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม จากการจัดอันดับขององค์กรอนุรักษ์ท้องทะเล Ocean Conservancy ร่วมกับ McKinsey Center of business and Environment
อีกสามสิบปีข้างหน้า จะมีน้ำหนักขยะมากกว่าปลาในทะเล
จากการเปิดเผยของ ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผ่านการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน และบนเฟสบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ในอีกสามสิบปีข้างหน้า ในทะเลจะมีน้ำหนักขยะพลาสติกมากกว่าน้ำหนักปลา ขณะที่ตอนนี้ มีจำนวนขยะพลาสติกในทะเลไม่น้อยกว่า 25 ล้านตัน
“ขยะพลาสติกเป็นปัญหาหลักของการเสียชีวิตของ สัตว์ทะเล ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม... ในทุก 24-27 ชั่วโมง จะมีเต่าทะเลไทยตายหนึ่งตัว และในทุก 50 ชั่วโมง จะมีปลาวาฬหรือปลาโลมา เกยตื้นตายหนึ่งตัว” ดร.ธรณ์ ระบุ
ดร.ธรณ์ ระบุด้วยว่า ขณะนี้ สหภาพยุโรปกำลังออกกฎหมายห้ามใช้พลาสติกสำหรับใช้แล้วทิ้ง เช่น หลอดดูดน้ำ แก้วกาแฟ ขณะที่ห้างสรรพสินค้าก็ประกาศเลิกใช้ถุงพลาสติกในปีหน้า หลังจากการรณรงค์สร้างจิตสำนึก ได้รับการตอบรับเพียงเล็กน้อย
“ตอนนี้ เขากำลังใช้ระบบ user pay คือใครใช้คนนั้นรับผิดชอบ จากเดิมทีกินกาแฟเอาแก้วไปได้ลดราคา ไม่เอาถุงได้ส่วนลด หรือสะสมคะแนน แต่ต่อไป ใครขอแก้ว หรือ ขอถุง ต้องจ่ายเงิน... ในอังกฤษ ในจีน ใช้ระบบนี้แล้ว” ดร.ธรณ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ต่อกรณีผลกระทบจากขยะพลาสติก
นอกจากนี้ ดร.ธรณ์ ในฐานะ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติยี่สิบปี กล่าวเพิ่มเติมว่า การฝังกลบเป็นการกำจัดขยะที่ไม่ถูกวิธี โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยมีฝนตกชุกและน้ำท่วมบ่อย ทำให้น้ำพัดพาขยะและสิ่งปนเปื้อนลงไปในแม่น้ำลำคลอง และไหลไปสู่ทะเลหมด จากขยะประเทศเดียวกลายเป็นขยะส่วนรวม ดังนั้น ในยุทธศาสตร์ชาติยี่สิบปี จึงจะระบุให้ยกเลิกการฝังกลบให้หมด และใช้วิธี circular economy คือ ไม่มีอะไรเป็นของเสีย ทุกอย่างสามารถคืนเป็นวัตถุดิบอย่างอื่นไปเรื่อยๆ เหมือนในประเทศญี่ปุ่น หรือ หลายประเทศในทวีปยุโรปแทน