ปิดตำนานการต่อสู้ชุมชนป้อมมหากาฬ
2018.04.25
กรุงเทพฯ

“เมื่อคืนเป็นคืนสุดท้ายของชีวิตคนในป้อมมหากาฬ เราช่วยกันขนของ เราคุยกัน กินข้าวมื้อสุดท้ายร่วมกันของบ้านแปดหลังสุดท้าย มันคือความสัมพันธ์ เป็นวิถีชีวิตคนป้อมฯ... ถามว่าทำใจได้ไหม เราคุยกันแล้วว่า วิถีชุมชนก็เป็นแบบนี้ ส่วนที่จะแยกย้ายไปนอนที่ใหม่คืนนี้ จะนอนหลับไหม ก็ต้องว่ากันต่อไป” นายพรเทพ บูรณบุรีเดช อดีตรองประธานชุมชนป้อมมหากาฬ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน
หลังจากชาวบ้านชุมชนป้อมมหากาฬแปดหลังคาเรือนสุดท้าย ได้มีกิจกรรมกินอาหารค่ำด้วยกันเป็นมื้อสุดท้าย และขนของออกจนหมดในคืนวันอังคารที่ผ่านมา พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลงพื้นที่ในบ่ายวันพุธนี้ เพื่อควบคุมการรื้อถอนบ้านเรือนในชุมชนป้อมมหากาฬอีกครั้ง และได้เปิดเผยว่า ในวันอาทิตย์ที่ 29 นี้ จะสามารถดำเนินการรื้อถอนบ้านเรือนได้ครบทุกหลัง ก่อนเดินหน้าปรับปรุงภูมิทัศน์เป็นสวนสาธารณะ
ชุมชนป้อมมหากาฬ เป็นชุมชนเก่าแก่ที่อยู่บริเวณชั้นในของป้อมมหากาฬ ซึ่งเป็น 1 ใน 14 ป้อม ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้โปรดให้สร้างขึ้น โดยบันทึกของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ระบุว่าเป็นที่พำนักของพระยาเพชรปาณี ข้าราชการกระทรวงวัง ผู้ให้กำเนิดของลิเกทรงเครื่อง เมื่อปี พ.ศ.2440 และยังเป็นสถานที่ตั้งบ้านโบราณควรค่าแก่การอนุรักษ์หลายหลัง ที่เชื่อว่าสร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 รวมถึงภูมิปัญญาพื้นบ้าน วัฒนธรรม วิถีการดำรงชีวิตตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
“ภายในวันอาทิตย์ที่ 29 เมษาฯ จะต้องไม่มีบ้านเหลือเลย ต้องเอาออกหมด ที่จริงเราอยากจะอนุรักษ์บ้านเก่า ที่เป็นไม้สักทองไว้ 3-4 หลัง แต่มันผุพังหมดแล้ว แล้วเจ้าของต้องการจะรื้อออกไปเอง” พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ในขณะดูแลความเรียบร้อยในการรื้อถอนบ้านเรือนชุมชนป้อมมหากาฬ
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ได้จัดสรรงบประมาณในการพัฒนาป้อมมหากาฬไว้ประมาณ 69 ล้านบาท โดยระบุถึงแผนการดำเนินงานว่า ป้อมมหากาฬเป็นโบราณสถานของชาติ ซึ่งปัจจุบันมีสภาพทรุดโทรม มีรอยแตกร้าว มีการทรุดตัวของโครงสร้างกำแพง จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุง ซ่อมแซมตามแผนการอนุรักษ์ โดยจะมีการปรับภูมิทัศน์ให้เป็นสวนสาธารณะให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเท่าเทียม
“เราจะทำพื้นที่จำนวน 5 ไร่ นี้ให้สวยงาม ตกแต่งต้นไม้ ปรับพื้นที่ปลูกสนามหญ้า ติดไฟส่องสว่าง ทำทางให้เดิน หรือวิ่งออกกำลังกาย เป็นสถานที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจสำหรับทุกคน” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเพิ่มเติม
ด้านนายพรเทพ บูรณบุรีเดช อดีตรองประธานชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญมากกว่าสถาปัตยกรรม บ้านไม้โบราณ ความเก่าแก่ของสถานที่คือความสัมพันธ์ของคนในชุมชน 300 กว่าชีวิต ใน 64 หลังคาเรือน ที่อยู่ร่วมกันมาอย่างน้อยเป็นเวลากว่า 50 ปี ไม่นับรุ่นก่อนๆ ที่ล้มหายตายจากไปแล้ว ที่ได้สืบทอดวิถีชีวิตของชุมชน การอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ มีวัฒนธรรม กิจกรรม ประเพณีร่วมกัน กินข้าวด้วยกันที่อยากจะรักษาไว้ ซึ่งมันหาได้ยากในยุคปัจจุบัน
อดีตประธานชุมชนฯ ยืนมองดูเจ้าหน้าที่เข้ารื้อถอนบ้านในชุมชน บางคนถอดบานหน้าต่าง ทุบกำแพงปูนชั้นล่างของบ้านไม้ ที่เขาเล่าว่ามีอายุกว่า 100 ปี ที่บัดนี้เหลือแต่บันไดปูนขึ้นบ้าน เจ้าหน้าที่บางคนปีนขึ้นไปบนหลังคาที่ได้ชื่อว่าเป็น โรงลิเกทรงเครื่องเก่าแก่เพื่อทำการรื้อถอน ขณะที่ชาวบ้านบางคนอดกลั้นน้ำตาไว้ไม่ได้ ชาวชุมชนปลอบใจกัน ขณะที่รถแมคโครขนาดใหญ่เข้ารื้อถอน กวาดเศษปูน เศษหินมากองรวมกันที่ลานกลางชุมชน ที่ครั้งหนึ่งเคยใช้เป็นสถานที่ทำกิจกรรมร่วมกันของคนป้อมฯ
“ทั้งหมดเป็นภาพประวัติศาสตร์การต่อสู้ 26 ปีของการเรียกร้องสิทธิชุมชน ประวัติศาสตร์ของวิถีชีวิตของชุมชนที่อาศัยอยู่หลังกำแพงพระนครมานาน” อดีตประธานชุมชน กล่าว
“สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ทำให้เราตื่นตัว และตื่นกลัวด้วย ว่าสิ่งที่เกิดกับป้อมฯ จะเกิดขึ้นกับชุมชนที่ไหนอีกบ้าง” นางสาวอินทิรา วิทยสมบูรณ์ นักกิจกรรมที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวกับชาวชุมชนกล่าว
นางสาวอินทิรา ระบุเพิ่มเติมว่า วันนี้เป็นวันที่บีบคั้นมาก เชื่อว่าชาวชุมชนทุกคนมีความปวดร้าวใจ ขณะที่ผ่านมาทุกคนได้พยายามต่อสู้ให้มีการหาทางออกร่วมกัน พยายามเปิดวงเจรจา ซึ่งทำมาทุกระดับ แต่ก็มีวันนี้เกิดขึ้นจนได้ ซึ่งตนเองมองว่าไม่ใช่ทางออก หรือหนทางแก้ปัญหาการพัฒนาเมือง ในทางกลับกันยังมีชุมชนลักษณะนี้อีกมากกระจายกันอยู่ ซึ่งอาจจะได้รับผลจากนโยบายสาธารณะเช่นกัน ซึ่งหนทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนควรจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการหาทางออก เพราะประชาชนคือคนที่สร้างประวัติศาสตร์ของการสร้างเมืองที่แท้จริง
“การต่อสู้ของชาวป้อมฯ ได้มาจนสุดทางแล้ว แต่อยากให้กรณีนี้เป็นบทเรียนสะท้อนถึงการไปไม่ถึงของคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์ของชุมชน ถึงเวลาที่สังคมควรตั้งคำถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เรามีโอกาสร่วมพัฒนาเมืองอย่างไรต่อไป” นางสาวอินทิรา ระบุ
“อยากบอกคนที่กำลังต่อสู้ (ในชุมชนอื่น) ว่าเห็นแบบนี้แล้ว แต่อย่าท้อแท้ อยากให้ทุกคนมีกำลังใจว่า ทำดีที่สุดแล้ว และควรทำต่อไป ขอให้เข้มแข็งและก้าวต่อ” นายพรเทพ อดีตประธานชุมชน กล่าวทิ้งท้าย