สังคมวิพากษ์เดือด ปมรัฐเสนอถอนพื้นที่อุทยานทับลาน 2.6 แสนไร่
2024.07.09
กรุงเทพฯ

หลังจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน 265,286.58 ไร่ ออกจากการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อใช้สำหรับการทำเกษตรกรรม ทำให้มีเสียงวิพากษ์-วิจารณ์จากหลายฝ่ายทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ขณะที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงว่า รัฐบาลดำเนินการเรื่องนี้ตามมติคณะรัฐมนตรีสมัย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา
“เรื่องนี้เป็นมติจากรัฐบาลที่แล้ว เป็นเรื่องของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ที่ต้องไปตรวจสอบข้อเท็จจริง และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สิ่งสำคัญต้องคือ รับฟังความคิดเห็นจากพี่น้องประชาชนก่อนจะมีการเพิกถอน ซึ่งมีหลายกระบวนการที่จะต้องดำเนินการตามกระบวนการกฎหมาย และนำเสนอ ครม. ต่อไป” นายเศรษฐา กล่าว
ประเด็นทับลานได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก #saveทับลาน ถูกโพสต์ถึงกว่า 3 แสนครั้งใน X หลังจากกรมอุทยานฯ เปิดรับฟังความคิดเห็นประเด็นดังกล่าว ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน ถึง 12 กรกฎาคม 2567
“สิ่งที่ผมมักพูดอยู่เสมอก็คือ ป่าเราเก็บไว้เฉย ๆ ก็เป็นการอนุรักษ์ที่เราได้ประโยชน์ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องตัดมาใช้ ต้นไม้ให้อากาศ ให้น้ำ นี่เป็นการใช้ใช่ไหม ใช้โดยที่เราไม่ต้องไปตัดเอาส่วนของมันมาใช้” บัญชี X หลายบัญชี หยิบเอาประโยคของนายสืบ นาคะเสถียร อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งผู้ล่วงลับ มาใช้คัดค้านการเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ
ประเด็นนี้ พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้ว่าพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นการดึงกลับมาเป็นการจัดสรรให้กับประชาชน
“เนื่องจากเป็นที่ของชาวบ้านประมาณ 50,000 ไร่ ฉะนั้นจะดูแลชาวบ้านเป็นอย่างดี ส่วนจำนวน 2.65 แสนไร่ คือจำนวนพื้นที่ทั้งหมดของอุทยานแห่งชาติทับลาน ดังนั้นจะต้องคืนพื้นที่เท่าใด คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติจะเป็นผู้พิจารณา จะเร่งรัดให้กรมอุทยานฯ พิจารณาภายใน 30 วัน และพร้อมรับฟังกระแสที่ประชาชนทั้งประเทศไม่เห็นด้วย ซึ่งขั้นตอนกระบวนการทำประชาพิจารณ์” พล.ต.อ. พัชรวาท กล่าว
การเปิดรับฟังความคิดเห็นของกรมอุทยานฯ ซึ่งถ้าประชาชนเลือก “เห็นด้วย” จะเป็นการยอมรับให้เพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ ทับลาน 2.65 แสนไร่ ครอบคลุมพื้นที่ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี, อ.ปักธงชัย อ.วังน้ำเขียว อ.ครบุรี อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา ถ้า “ไม่เห็นด้วย” คือการไม่ยอมรับการเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ ทับลาน
สำหรับประเด็นนี้ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานฯ ระบุว่า ตนเองคัดค้านแนวทางการเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ เพราะเชื่อว่า หากทำสำเร็จพื้นที่อุทยานฯ อื่น ๆ อาจได้รับผลกระทบด้วย
“โดยส่วนตัวผมไม่เห็นด้วย ผมเองเป็นผู้ที่เข้าไปดำเนินคดีในนามของหน่วยพญาเสือและชุดสนธิกำลังไปดำเนินคดี 400 กว่าคดี เป็นผู้ที่มีการซื้อขายเปลี่ยนมือเป็นอุทยานรีสอร์ทในอุทยานแห่งชาติทับลาน สิ่งที่เราดำเนินการเพื่อปกป้องทรัพยากรป่าไม้ ลดการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า แต่หน่วยราชการมีการพยายามเร่งรัดให้จัดทำแนวเขต” นายชัยวัฒน์ กล่าว
ประเด็นดังกล่าวสืบเนื่องจาก วันที่ 14 มีนาคม 2566 ครม. มีมติเห็นชอบข้อเสนอของ สคทช. เรื่องผลการดำเนินการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐ และปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ (One map) ที่ให้ดำเนินการใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขตปี 2543 พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งจะเป็นการเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ ทับลาน

ในวันที่ 25 มกราคม 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ได้พิจารณาวาระเรื่องเพื่อทราบการปรับปรุงแนวเขตอุทยานฯ ทับลาน โดยที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะให้มีการใช้แนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 64
ต่อมาวันที่ 28 มิถุนายน กรมอุทยานฯ เปิดรับฟังความคิดเห็นการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน เพื่อนำไปเป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งมีคนแสดงความเห็นร่วม 1 แสนคน และมีผู้ที่คัดค้านการเพิกถอนกว่า 9 หมื่นคน โดยการรับฟังความคิดเห็นจะสามารถทำได้ถึงวันที่ 12 กรกฎาคมนี้
พื้นที่ป่าทับซ้อนพื้นที่คน
ในอีกมุมหนึ่ง นายกิตฌพัฒน์ จ้ายนอก อายุ 42 ปี ประชาชน ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ชี้ว่า อุทยานฯ ทับลานประกาศพื้นที่ทับที่ทำกินของประชาชน
“ชาวบ้านอยู่มาก่อนแล้ว โดยมีหลักฐานตั้งหมู่บ้านตั้งแต่ช่วงปี 2500 แต่ประกาศเป็นพื้นที่อุทยานในปี 2524 อยากเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวบ้านที่ถูกอุทยานประกาศเขตพื้นที่ทับพื้นที่ชุมชนกว่า 90 หมู่บ้าน รวม 5 อำเภอ แม้ว่ากระแสสังคมจะมองว่า ชาวบ้านในพื้นที่เป็นผู้บุกรุก แต่ 90% ชาวบ้านอยู่มาก่อนแล้ว” นายกิตฌพัฒน์ กล่าว
ด้าน มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ชี้ว่า การเพิกถอนพื้นที่อาจส่งผลกระทบในหลายประเด็นโดยเฉพาะต่อสิ่งแวดล้อม
“เอื้อประโยชน์ต่อนายทุนให้มีการเข้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนมือเพื่อสร้างโรงแรม รีสอร์ท และบ้านพักตากอากาศเพิ่มมากขึ้น… เปิดโอกาสให้การใช้ประโยชน์ที่ดิน ส่งผลต่อการระบายน้ำตามธรรมชาติและอาจเกิดปัญหาน้ำท่วมอย่างฉับพลัน กิจกรรมมนุษย์เข้าไปรบกวนสัตว์ป่าตามแนวเขตเกินความสามารถในการควบคุมในพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่ความหวังในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง” มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุ
อย่างไรก็ตาม ศ.ดร. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แสดงความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าวว่า หากรัฐจัดสรรพื้นที่ป่าอนุรักษ์โดยไม่สนใจพื้นที่ทำกินประชาชนจะส่งผลให้เกิดปัญหาในอนาคต
“สิ่งที่พวกกลุ่มอนุรักษ์ตั้งใจไม่พูดถึงคือ อุทยานแห่งชาติหลายแห่ง จัดตั้งโดยไม่เคยสนใจที่จะสำรวจและกันพื้นที่ทำกินของชาวบ้านที่อยู่มาก่อนออกก่อนที่จะประกาศเป็นเขตป่า สนใจแต่จะเพิ่มพื้นที่ป่าให้มากเข้าไว้ แต่ไม่สนสี่สนแปดว่า ป่าที่จัดตั้งขึ้นนั้นไปแย่งที่ทำกินของใครเขามาบ้าง กลายเป็นชนวนความขัดแย้ง” ศ.ดร. ปิ่นแก้ว ระบุ
ศ.ดร. ปิ่นแก้ว ชี้ว่า “การใช้วาทกรรมผืนป่าที่ถูกเฉือนของกลุ่มอนุรักษ์บางกลุ่ม จึงเป็นการจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อปั่นกระแสเขียวตกขอบในหมู่ชนชั้นกลางอย่างจงใจ ทั้งที่ในความเป็นจริง ผืนดินทำกินของชาวบ้านต่างหากที่ถูกเฉือนไปเซ่นป่าอนุรักษ์มานานหลาย 10 ปี”