ชาวประมงรอบอ่าวปัตตานียื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ขอผ่อนผันการใช้ไอ้โง่
2015.09.03

ในวันพฤหัสบดี (3 ก.ย. 2558) นี้ ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานีหลังเก่า ชาวประมงพื้นบ้านรอบอ่าวปัตตานี ประมาณร่วมร้อยคน ได้มารวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือให้ทางจังหวัดพิจารณาเลื่อนการห้ามใช้ “ไอ้โง่” ในการทำประมงไปอีกหกเดือน
โดยชาวบ้านได้ยื่นหนังสือผ่านประมงจังหวัด เพื่อส่งต่อไปยังนายวีรพงค์ แก้วสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากรัฐบาลหลังได้รับความเดือดร้อนจากคำสั่ง คสช. ฉบับ ที่ 24/2558 เรื่องการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย ตามข้อ 2 (4) โดยเฉพาะกรณีการห้ามใช้และครอบครอง ลอบพับ หรือไอ้โง่ โดยทางชาวประมงได้เรียกร้องขอให้มีการผ่อนผันการประกอบอาชีพด้วยเครื่องมือดังกล่าว ไปอีก 6 เดือน
“ไอ้โง่” หรือลอบพับ เป็นอุปกรณ์วางดักปลาในน้ำ มีลักษณะเป็นโครงเหล็ก หุ้มด้วยตาข่ายไนลอน คล้าย ๆ ลอบดักปลา แต่เอาหลาย ๆ อันมาวางเรียงกลับหัวกลับหาง ความยาว อยู่ที่ขนาดและจำนวนลอบที่ใช้ทำ ใช้วางตามร่องน้ำ สามารถดักสัตว์น้ำได้ทุกชนิด ลงทุนและใช้แรงงานน้อย เพียงเอาไปวางไว้ตามร่องน้ำ เมื่อถึงเวลาก็ไปเก็บกู้ ไม่เสียค่าใช้จ่ายเหมือนการทำประมงชนิดอื่น ทั้งเรืออวนลาก เรืออวนรุน ที่ต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเดินเครื่องยนต์
นายปราโมช ดอเลาะ ชาวประมงที่ใช้เครื่องมือไอ้โง่หรือลอบพับ กล่าวว่า “วันนี้ เราได้มายื่นหนังสือขอให้รัฐบาลเห็นใจชาวประมงที่ใช้เครื่องมือลอบพับ หรือไอ้โง่ ให้สามารถผ่อนผันการใช้เครื่องมือชนิดนี้ ไปอีก 6 เดือน เพื่อที่จะทำให้สามารถจ่ายหนี้และหาทุนเตรียมไปประกอบอาชีพอื่นต่อไปได้”
นายปราโมช กล่าวอีกว่า หลังจากคำสั่งฉบับดังกล่าวมีผลการบังคับใช้ ครอบครัวไม่มีรายได้เลย
“เราเป็นคนหาเช้ากินค่ำ วันไหนไม่ทำงานก็ไม่มีกิน อยากขอให้ช่วยพวกเราด้วย”
ด้านนายเถกิงศักดิ์ ยกศิริ รองผู้ว่าราชการ จังหวัดปัตตานี ได้กล่าวตอบว่า “เห็นใจชาวบ้านทุกกลุ่มที่กำลังประสบปัญหา โดยขณะนี้ทางจังหวัดเองก็มีความพยายามหาทางออกเรื่องนี้อย่างเต็มที่เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถอยู่ได้”
โดย กว่าสี่เดือนที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 สหภาพยุโรป ได้ออกใบเหลืองให้แก่ประเทศไทย เพื่อเร่งรัดให้ปฏิบัติตามมาตรฐานการควบคุมการทำประมงผิดกฎหมาย การขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, unregulated, and unreported หรือ IUU) มิฉะนั้น อาจโดนใบแดง ที่หมายถึงการงดนำเข้าสินค้าอาหารทะเลได้ โดยทางกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป จะมีการประเมินผลความพยายามในการแก้ปัญหา ภายในหกเดือน ในเดือนตุลาคม หากโดนใบแดง ประเทศไทยจะสูญเสียรายได้ 32,000 ล้านบาทต่อปี
กรมประมงได้เตือนผู้ประกอบการให้รีบขึ้นทะเบียนเรือประมง ขออาชญาบัตร หรือปรับเปลี่ยนเครื่องมือทำประมงให้ตรงกับอาชญาบัตร ให้แล้วเสร็จภายในเส้นตายในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ อันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการปลดใบเหลืองจากสหภาพยุโรป ที่มีมาตรการให้ประเทศผู้ส่งออกอาหารทะเล ทำการประมงให้ถูกต้องตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด
ชาวไทยที่ไปทำงานประมงในมาเลเซียหนีกลับบ้าน
วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการอำเภอตากใบ นราธิวาส ได้ตรวจพบชายวัยรุ่นไทยจำนวน 18 คน นั่งเรือจากประเทศมาเลเซียมาขึ้นที่ท่าเทียบเรือตาบา อำเภอตากใบ โดยไม่มีหนังสือเดินทาง ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้นำตัวมาบันทึกประวัติและสอบสวน
นายสมศักดิ์ สิทธิวรการ นายอำเภอตากใบ กล่าวต่อผู้สื่อข่าวว่า ทั้งสิบแปดคน ได้ไปทำงานประมงในประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 29 ส.ค.2558 ที่ผ่านมา แต่ประสบความยากลำบากเลยได้เดินทางกลับมายังประเทศบ้านเกิด
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า “ชายวัยรุ่นทั้ง 18 คน เป็นคนในพื้นที่ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ และ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา โดยก่อนหน้านี้ มีนายแว ไม่ทราบนามสกุล เป็นชาวมาเลเซีย ติดต่อ นาย วะฝาด มุทะจันทร์ ซึ่งเป็น 1 ใน 18 คนไทยที่เดินทางกลับในครั้งนี้ ให้หาคนงานไทยไปทำประมง ซึ่งก่อนเดินทางให้เงินเบื้องต้นคนละ 3,000 บาท ส่วนค่าตอบแทนจะได้รับสี่สิบเปอร์เซ็นต์ของปลาที่จับได้”
นายสมศักดิ์ กล่าวตามคำบอกเล่าของแรงงานว่า ในการเดินทางไปทำงานประมงนี้ แรงงานทุกคนได้ทำเอกสารการผ่านแดนถูกต้องและได้เดินทางออกทางด่านตรวจคนเข้าเมือง อำเภอตากใบ แล้วออกเดินทางไปยัง ตำบลโต๊ะบาหลี อำเภอปาเซปูเต๊ะ รัฐกลันตัน มาเลเซีย และได้เริ่มทำงานบนเรือที่จอดอยู่บนฝั่งก่อนออกทะเล หลังจากทำงานได้ 4 วัน แรงงานดังกล่าวเห็นว่างานหนักจนทำไม่ไหว จึงรวมตัวกัน ขอกลับประเทศไทย ซึ่งนายแว ผู้จ้างงานก็ไม่ขัดข้อง พร้อมมอบเงิน 4,000 บาท ให้เป็นค่าเดินทางกลับ
จากนั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ และทหาร ได้จัดรถโดยสารส่งชายวัยรุ่นทั้ง 18 คน กลับภูมิลำเนาที่จังหวัดสงขลาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว