นายกสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เรียกร้องให้รัฐบาลยืดเวลาการจดทะเบียนเรือประมง

โดย นาซือเราะ
2015.07.01
TH-fishing-industry-620 เรือประมงจำนวนกว่าสองพันลำเข้าเทียบท่าที่แพปลา ปัตตานี ด้วยเหตุกลัวโดนจับที่ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อบังคับของทางการได้ วันที่ 1 กรกฎาคม 2558
เบนาร์นิวส์

นายภูเบศ จันทนิมิ นายกสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมการประมง จังหวัดปัตตานี ได้เรียกร้องในวันนี้ (1 ก.ค.) นี้ ให้รัฐบาลผ่อนผันระยะเวลาในการขึ้นทะเบียนเรือประมง เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการได้มีเวลาเพิ่มเติม ในการดำเนินการตามข้อบังคับของทางราชการ และยืนยันว่าชาวประมงในจังหวัดปัตตานี จะยังไม่หยุดทำการประมง และจะไม่ปิดอ่าวประท้วงรัฐบาล

นายภูเบศกล่าวว่า ตนมีความเข้าใจในรัฐบาลและเห็นด้วยในการที่จะสร้างมาตรฐานการประมงให้ได้ระดับนานาชาติ เพียงแต่ขอเวลาเพิ่มเติมให้กับเรือประมงได้จดทะเบียนให้เรียบร้อย ซึ่งนายภูเบศกล่าวว่า มีเรือประมงผิดกฎหมายในประเทศอยู่ราวๆสี่พันลำ

“ผมเห็นด้วยกับรัฐบาลที่ให้มีการจัดระเบียบชาวประมง เพราะในระยะยาวจะเกิดผลดีต่อชาวประมงและประเทศ แต่ขอให้ขยายเวลาขึ้นทะเบียนออกไปอีก เพราะบางคนทำไม่ทัน เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่เพียงพอ จึงขอให้รัฐบาลมีการจัดระเบียบบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ให้โอกาสแก่ชาวประมงโดยการขยายเวลาในการจัดระเบียบ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ชาวประมง... ขอเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาการประมงไทยเพื่อเป็นการแก้ปัญหา และพัฒนาอาชีพประมงให้ยั่งยืน” นายภูเบศกล่าว

โดยในวันพุธ (1 ก.ค. นี้) ที่ห้องประชุมสมาคมประมงจังหวัดปัตตานี นายภูเบศ จันทนิมิ นายกสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยและนายกสมาคมการประมง จังหวัดปัตตานี  ได้จัดให้มีการประชุมระหว่างผู้ประกอบกิจการประมงกว่าหนึ่งร้อยคน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น  น.ท. มงคล อุปถัมภ์ ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกจังหวัดปัตตานี นายวัชรินทร์ รักษ์ยอดจิตร ประมงจังหวัดปัตตานี  และตัวแทนจากตำรวจน้ำ กรมเจ้าท่า กรมการปกครอง เพื่อพูดคุยในเรื่องข้อกฎหมายต่างๆ เกี่ยวกับการทำประมง เพื่อที่จะให้ผู้ประกอบการมีความเข้าใจและสามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง

ในที่ประชุม ได้มีการชี้แจงให้ชาวประมงทราบถึงข้อกฎหมายหรือข้อบังคับที่สำคัญที่จะต้องเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งมีอยู่ 4 ประเด็น หลักๆ  คือ หนึ่ง การขอใบประกอบอาชญาบัตรให้ถูกต้อง สอง ให้มีการติดตั้งติดตามตำแหน่งเรือ (Vessel Monitoring System – VMS) กับเรือที่มีขนาดขนาด 30-60 ตัน ภายใต้พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2558 กับเรือขนาด 60 ตัน ขึ้นไป ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2556 ที่กรมเจ้าท่าบังคับใช้ สาม การติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยในเรือ ทั้งเครื่องดับเพลิง อุปกรณ์ช่วยชีวิต และสี่ หนังสือทำงานในเรือประมง สัญญาจ้างต่างๆ ซึ่งจะต้องดำเนินการให้เรียบร้อยเช่นกัน จึงจะสามารถประกอบการได้

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว ผู้ประกอบการประมงอุทธรณ์ว่า เป็นการเพิ่มต้นทุนการทำประมงที่ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากเพิกเฉยหรือยังไม่ยอมลงมือปฏิบัติตาม โดยในเมื่อวาน ได้มีรายงานข่าวอย่างกว้างขวางว่า ผู้ประกอบการประมงจำนวนมาก ทั้งในภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคใต้ฝั่งตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกของไทย ได้สั่งให้นำเรือประมงเข้าจอดเทียบท่า และยังมีรายงานข่าวว่า ชาวประมงอาจจะประท้วงรัฐบาลโดยการงดออกหาปลาเป็นเวลาสองเดือนอีกด้วย

ตามตัวเลขการสำรวจของสำนักวิจัยและพัฒนาการประมงไทย ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2558 ประเทศไทย มีเรือประมงรวมทั้งสิ้น จำนวน 57,141 ลำ ใน 23 จังหวัดชายทะเล และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 200,000 ล้านบาท โดยมีกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญแห่งหนึ่ง

“หลังการประชุมครั้งนี้ ชาวประมงและเจ้าของเรือประมงต่างมีความรู้สึกพอใจในระดับหนึ่ง  แต่ทางสมาชิกอาจจะมีการรวมตัวอีกครั้งในวันที่ 3 หรือวันที่ 4 ก.ค. 58 นี้ ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานี เพื่อแสดงจุดยืนอีกครั้งหนึ่ง จึงทำให้วันนี้ ไม่ได้มีการรวมตัวของชาวประมงแต่อย่างใด” นายภูเบศ กล่าว

“ความเคลื่อนไหวของชาวประมงในพื้นที่จังหวัดปัตตานี หลังจากที่มีการบังคับใช้ พ.ร.บ. การประมงในวันนี้นั้น ในระยะสั้นจะส่งผลกระทบต่อชาวประมงที่จะต้องมีการปรับตัว ประกอบกับในปัจจุบันนี้ ชาวประมงได้รับความเดือดร้อนอยู่แล้ว หลังจากที่ทางอียูให้ใบเหลือง และอินโดนีเซียปิดน่านน้ำไม่ให้ทำการประมง ในขณะที่ต้นทุนสูง ไม่คุ้มต่อการลงทุน วัตถุดิบปลาลดลง ส่วนการเคลื่อนไหวของชาวประมงปัตตานี เป็นไปตามปกติ จะไม่มีการหยุดเรือหรือปิดอ่าวแต่อย่างใด” นายภูเบศ กล่าวเพิ่มเติม

นายกรัฐมนตรีไม่ยินยอมผ่อนผันการบังคับใช้กฎหมาย

วันที่ 1 กรกฎาคม ศกนี้ จะเป็นวันแรกที่รัฐบาลไทยจะดำเนินการควบคุมการประมงอย่างเข้มงวด ตาม พ.ร.บ. การประมง พ.ศ. 2558 ที่มีผลบังคับใช้ ในวันที่ 28 เมษายน ศกนี้ ด้วยสาเหตุของการที่ประเทศมีประวัติการทำประมงและการใช้แรงงานที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และถูกกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ให้ “ใบเหลือง” แก่ประเทศไทย เพื่อเร่งรัดให้ปฏิบัติตามมาตรฐานการควบคุมการทำประมงผิดกฎหมาย การขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, unregulated, and unreported (IUU) fishing practices) มิฉะนั้น อาจโดนมาตรการกีดกันการนำเข้าอาหารทะเลได้ โดยทางกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป จะมีการประเมินผลความพยายามในการแก้ปัญหาในเดือนตุลาคม

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวย้ำผ่านทางสื่อมวลชนในวันนี้ว่า ทางรัฐบาล จะไม่ยอมผ่อนผันให้กับทางผู้ประกอบการการประมงโดยไม่ถูกกฎหมาย เนื่องจากว่า หากประเทศไทยไม่สามารถดำเนินการตามการควบคุมการทำประมงผิดกฎหมาย การขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, unregulated, and unreported (IUU) fishing practices) ที่ทางกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปกำหนดเส้นตายไว้ภายในเดือนตุลาคม ศกนี้ ก็จะก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมทั้งระบบ

“ผมกำลังดูอยู่ ถ้ากดดันมาก ขอให้ชะลอ ถ้าไม่ผ่านประเมิน จะรับผิดชอบด้วยกันหรือไม่ว่าสินค้า 2 แสนกว่าล้านบาทที่ขายทั้งโลกไม่ได้ ก็เท่ากับเรือประมงทั้งหมดไม่สามารถออกทำมาหากินได้ ดังนั้น ขออย่ามาประท้วง อย่าขุดคุ้ยให้เป็นเรื่อง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นักวิชาการด้านประมงชี้ ควรตัด“เนื้อร้าย”ของอุตสาหกรรมประมง

“ทรัพยากรประมง เป็นสมบัติสาธารณะ (public goods) การจัดการของประเทศที่ผ่านมาทำให้เกิดปรากฏการณ์ มือใครยาวสาวได้สาวเอา การอนุรักษ์ธรรมชาติของพี่น้องประมงขนาดเล็กชายฝั่งถูกเอาเปรียบด้วยอุตสาหกรรมอวนลากเหล่านี้ เจ้าของเรือและเหล่าเครือญาติสร้างความมั่งคั่งให้แก่ตนเอง แต่สร้างความหายนะให้กับท้องทะเลไทย หากินบนหยาดเหงื่อ และจิตสำนึกที่ดีของพี่น้องประมงชายฝั่งที่อนุรักษ์ทะเลมาตลอด สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ นักวิชาการด้านประมง และผู้ประสานงานโครงการการจัดการประมงชายฝั่ง มูลนิธิสายใยแผ่นดิน กล่าวกับเบนาร์นิวส์ เมื่อพุธที่ 1 กรกฎาคม 2558

วันนี้รัฐจะจัดการให้ทะเลไทยอุดมสมบูรณ์ขึ้นมาอีกครั้งนึง ด้วยการบังคับใช้กฏหมายอย่างเข้มงวด (เพราะเรืออวนลากเถื่อนเหล่านี้ผิดกฏหมายกันมาตลอด) ที่ผ่านมาพวกเขาเอาเปรียบท้องทะเล และพี่น้องประมงชายฝั่งมาตลอดกลับไม่มีการพูดถึง

“ในขณะนี้ประมงไทยเหมือนกับคนที่กำลังเป็นโรคมะเร็ง ส่วนไหนเป็นเนื้อร้ายก็ต้องตัดทื้งค่ะ เราต้องยอมเสียรายได้จากอุตสาหกรรมประมงจากการทำประมงด้วยวิธีทำลายล้างที่ได้แต่ปลาเล็กปลาน้อยเหล่านี้ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ”

“แต่สิ่งที่จะได้คืนมาคือความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลไทย และโฉมหน้าใหม่ของอุตสาหกรรมประมงที่มีคุณภาพ จากการขายปลาตัวโต ๆ” สุภาภรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

ผู้ประกอบการส่งออกอาหารทะเลแปรรูป หวังให้สองฝ่ายเจรจา

นางศศินันท์ ออลแมนด์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บมจ. ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่นส์ โปรดักส์ ในฐานะผู้ซื้อวัตถุดิบและผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทะเล กล่าวว่า ตนเองคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการยกระดับการประมงของไทยได้มาตรฐานสากล และทราบถึงต้องทุนที่แท้จริงในการประกอบกิจการให้ได้มาตรฐาน และคิดว่าทางรัฐบาลจะต้องหาทางออกด้วยการเจรจาไม่ให้เกิดการหยุดการทำประมงขึ้น

“ภาครัฐต้องหารืออย่างจริงจัง จัดการการประมงให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้ทรัพยากรเสียหายไปมากกว่านี้ เราเป็นผู้นำในการส่งออกอาหารทะเล อยากเห็นรัฐบาลทำเรื่องนี้ อย่างต่อเนื่องจริงจัง เรามีส่วนแบ่งทางการตลาดที่มีนัยสำคัญในโลก เราต้องยืนอยู่อย่างสง่าผ่าเผย ถ้าต้นทุนสูงขึ้นทุกคนต้องแชร์ด้วยกัน เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้ตรงตามมาตรฐานสากล ให้มองถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม เพื่อให้อุตสาหกรรมอยู่ได้อย่างยั่งยืน” นางศศินันท์กล่าว

“รัฐบาลตั้งใจทำและหวังว่าอียูจะให้ความยุติธรรมต่อไทยด้วย แต่เขาอยากเห็นการปฏิบัติตามอย่างเข้มงวด ส่วนหากสินค้ามีราคาสูงขึ้นถือเป็นกลไกการตลาด ที่เขายังจะยังซื้อหาอยู่” นางศศินันท์กล่าวเพิ่มเติม

รายละเอียดการจดทะเบียนให้ถูกต้องตามระเบียบไอยูยู

สำหรับการจดทะเบียนเรือแต่ละลำให้ถูกต้องตามระเบียบไอยูยู นั้น มีอยู่ 12 ข้อหลักๆ ซึ่งประกอบด้วย  1. มีทะเบียนเรือสัญชาติไทย 2. มีใบอนุญาตใช้เรือ 3. ใบอาชญาบัตรหรือใบอนุญาตให้ใช้เครื่องมือทำการประมง 4. สมุดบันทึกการทำการประมง หรือ LOG BOOK 5. บัตรประชาชนของไต๋เรือ 6. บัตรประชาชนนายท้ายเรือ 7. บัตรประชาชนช่างเครื่อง 8. ทะเบียนลูกจ้าง 9. บัตรสีชมพูของลูกจ้าง 10. สัญญาจ้าง 11. ใบประกาศนายท้ายเรือ และ 12. ใบประกาศช่างเครื่อง จากการดำเนินเรื่องเอกสารดังกล่าว อาจส่งผลกระทบให้ราคาอาหารทะเลมีราคาสูงขึ้นได้ตามลำดับ

 

ภิมุข รักขนาม มีส่วนร่วมในการรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง