ครม. มีมติปิดเหมืองทองชาตรีอัคราสิ้นปีนี้

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2016.05.10
กรุงเทพฯ
TH-goldmine-620 ผู้ค้าทองรูปพรรณตรวจสอบสร้อยข้อมือที่ร้านขายทอง ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2552
้เอเอฟพี

ในวันอังคาร (10 พ.ค.2559)นี้ คณะรัฐมนตรีมีมติสั่งปิดเหมืองชาตรีอัครา ในสิ้นปี 2559 หลังจากที่ผ่านมาชาวบ้านเข้าร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรีว่า ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากการดำเนินการของเหมือง รมต.เชื่อมั่นไม่กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน

มติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ครั้งนี้ ได้สั่งห้ามการทำเหมืองทอง และสั่งหยุดนโยบายสำรวจแร่ทองคำทั่วประเทศ โดยเหมืองทองชาตรีของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เนื้อที่กว่า 3,000 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ครม. มีมติให้ขยายสัญญาออกไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2559 จากที่ใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมเดิมจะสิ้นสุด 13 พ.ค.59 เพื่อให้พนักงานและผู้รับเหมา รวมกว่า 1,000 คน หางานใหม่ได้ทัน และลดผลกระทบกับบริษัทเจ้าของสัญญา โดยหลังสิ้นปี 2559 นี้ให้ทำการปิดเหมืองอย่างไม่มีกำหนด ขณะที่สำหรับเหมืองประเภทอื่นที่ไม่ใช่เหมืองทองยังคงให้ดำเนินการตามปกติ

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (รมว.อุตสาหกรรม) ระบุว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการจัดการเรื่องนี้ตามกฎหมาย โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆตามขั้นตอน

"กระทรวงอุตสาหกรรมจะประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบที่ได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินการ ทั้งด้านการกำกับดูแลการปิดเหมืองและฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมือง การดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการดูแลพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการ” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว

นางอรรชกายังแสดงความคิดเห็นว่า มติครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งไทย และออสเตรเลียรวมถึงนักลงทุนประเทศอื่น เพราะเชื่อว่าหน่วยงานรัฐจะสามารถอธิบายให้นักลงทุนเข้าใจได้ว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมถึงชีวิตประชาชนเป็นสำคัญ

สำหรับเรื่องการช่วยเหลือพนักงานของบริษัท อัคราฯ กระทรวงอุตสาหกรรมจะประสานกับกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม และผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรให้นำเงินกองทุนพัฒนาท้องถิ่นที่เหลืออยู่จำนวน 45 ล้านบาทมาใช้ในการช่วยเหลือ

มติร่วมของกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ ครม.เห็นชอบมีรายละเอียดดังนี้
1. ยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำและประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงคำขอต่ออายุประทานบัตร
2. ในกรณีของบริษัท อัคราฯ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของพนักงาน และเพื่อเตรียมการเลิกประกอบกิจการ จึงเห็นควรให้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมไปจนถึงสิ้นปี 2559 เพื่อให้สามารถนำแร่ที่เหลืออยู่ไปใช้ประโยชน์ได้ พร้อมทั้งให้บริษัท อัคราฯ เร่งดำเนินการปิดเหมืองและฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองให้เป็นไปตามเงื่อนไขการอนุญาต
3.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลประชาชนและบรรเทาปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลังสิ้นสุดการประกอบกิจการเหมืองแร่และโลหะกรรมของบริษัท อัคราฯ ดังนี้
- กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำกับดูแลการปิดเหมืองและฟื้นฟูพื้นที่
- กระทรวงสาธารณสุข ดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
- กระทรวงแรงงาน ดูแลพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการ

โดยนายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการตามข้อกฎหมาย ระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้อง และบูรณาการส่วนราชการต่างๆเพื่อให้เป็นไปตามมติร่วมกันของทั้ง 4 กระทรวงข้างต้น โดยบริษัทต้องส่งแผนฟื้นฟูให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาอีกครั้งว่าจะมีแผนฟื้นฟูอย่างไร ซึ่งหากบริษัท ฟ้องร้อง กระทรวงก็พร้อมรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สำหรับขั้นนตอนการปิดเหมือง และฟื้นฟู กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงทรัพย์ฯจะมีหน้าที่รับผิดชอบ

ผลวิจัยชี้เหมืองทองมีสารปนเปื้อน

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวสิ่งแวดล้อมร่วมกับมหาวิทยาลัยรังสิต การเปิดเผยผลศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่รอบกิจการเหมืองทองคำ จังหวัดพิจิตร โดยในการเก็บข้อมูลครั้งนี้ กลุ่มนักวิชาการได้สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำ ดิน และ พืช กว่า 600 จุดรอบเหมือง ตั้งแต่ เดือนกรกฎาคม 2557 หลังจากที่ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 ชาวบ้านผู้อยู่อาศัยอยู่รอบเหมืองอัคราฯ ต.เข้าเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร เข้าร้องเรียนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เข้ามาแก้ปัญหาผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมซึ่งอาจเกิดขึ้นจากกิจการเหมืองทองคำ

โดยผลการศึกษาของนักวิชาการพบการปนเปื้อนของสารตะกั่ว และแมงกานีสสูงเกินมาตรฐาน ในตัวอย่างของพืชทอดยอดลงในน้ำ พบสารไซยาไนด์ในต้นข้าว ต้นบอน กระชาย ผักบุ้ง กระทกรก หญ้าปากควาย เป็นต้น พบปริมาณเคสเมียมในพืชสูง พบแมงกานีสในต้นข้าว กระชาย บอน ฝักกระถิน ตะไคร้ ใบถ่อน ผักบุ้ง เป็นต้น และพบตะกั่วปริมาณเล็กน้อยในพืชบางชนิด

สำหรับสารพิษในร่างกายชาวบ้าน ผลการวิเคราะห์สารหนู แมงกานีส และความผิดปกติของเซลล์ในเลือด และปัสสาวะ จากกลุ่มตัวอย่าง 731 ราย พบผิดปกติ 483 ราย มีสารหนูและแมงกานีสในร่างกาย เป็นต้น

ประวัติเหมืองอัคราชาตรี

ปี 2536 บริษัทอัครา ไมนิ่ง จำกัด ในเครือบริษัท Kingsgate Consolidated NL สัญชาติออสเตรเลีย ได้อาชญาบัตรพิเศษ สำรวจหาแหล่งแร่ทองคำจากสายแร่ที่พาดผ่านจากตอนบนของอีสาน ที่จังหวัดเลย สู่รอยต่อจังหวัดเพชรบูรณ์ พิจิตร พิษณุโลกการสำรวจดำเนินไปเรื่อยๆจนกระทั่ง บริษัทก็พบพื้นที่เหมาะสม ที่บริเวณเขาหม้อ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร จึงได้ยื่นขอประทานบัตรบนเนื้อที่ 110,000 ไร่

ปี 2544 เหมืองทองอัคราชาตรีได้เริ่มดำเนินการท่ามกลางความดีใจของชาวบ้านในพื้นที่เนื่องจากเชื่อว่าจะทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ปี 2546 ชาวบ้านเริ่มร้องเรียนปัญหาต่างๆที่เหมืองสร้าง เช่น ปัญหาเสียงดังจากการดำเนินงาน และปัญหาฝุ่นซึ่งทำให้ชาวบ้านเป็นผื่น นับตั้งแต่นั้น การเรียกร้องและการต่อต้านดำเนินมาเรื่อยๆ

ปี 2553 ตัวแทนชาวบ้านเขาหม้อ 44 รายในพื้นที่หมู่ 9 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร เข้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ตามคดีหมายเลขดำที่ 228/2553 เพื่อดำเนินคดีกับ 5 หน่วยงานรัฐ คือ รมว.อุตสาหกรรม อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ คณะกรรมการเหมืองแร่ อธิบดีกรมป่าไม้ และอบต.เขาเจ็ดลูก กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้ชาวบ้านตำบลเขาเจ็ดลูกกว่า 100 คนได้รับผลกระทบ เจ็บป่วย จากการระเบิดภูเขาอย่างต่อเนื่อง น้ำดื่มไม่สามารถดื่มกินได้กว่า 2 ปี

ปี 2557 ประชาชนยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อให้ช่วยจัดการปัญหาต่างๆที่เหมืองแห่งนี้สร้างขึ้น

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง