เกษตรกรพอใจโครงการจ่ายเงินอุดหนุนของรัฐบาล

นาซือเราะ
2016.09.30
ยะลา
TH-farmers-1000 ชาวสวนยาง จังหวัดยะลา ออกกรีดยางและ ทำการรีดยาง แม้ราคายางยังตกต่ำอย่างต่อเนื่อง แต่พวกเขาต้องออกกรีด เพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว เมื่อมกราคม 2559
เบนาร์นิวส์

ในวันศุกร์(30 กันยายน 2559)นี้ เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เปิดเผยความพึงพอใจต่อโครงการจ่ายเงินอุดหนุนช่วยเหลือของรัฐบาล โดยระบุว่า เงินจำนวนดังกล่าวจะช่วยทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบากในช่วงนี้มีสภาพดีขึ้น อย่างไรก็ตามต้องการให้รัฐบาลมีโครงการช่วยเหลือในระยะยาวด้วยเช่นกัน

หลังจากที่มีการเปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในมาตรการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อย ซึ่งถูกเสนอโดยกระทรวงการคลัง โดยเบื้องตันจะได้ทำการจ่ายเงิน 3,000 บาท สำหรับเกษตรกรที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี และ จ่ายเงิน 1,500 บาทสำหรับเกษตรกรที่มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี สำหรับเกษตรกรที่ได้ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยกับรัฐบาลประมาณ 5.3 ล้านคน จาก 10 ล้านคนทั่วประเทศที่ขึ้นทะเบียน ทำให้เกษตรกรรายย่อยในภาคใต้แสดงความพอใจในมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลในครั้งนี้

นางสาวรุสดา เฮมเบีย เกษตรกรจากจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า ตนและสามีประกอบอาชีพกรีดยางมีรายได้เพียงวันละ 100 บาทต่อคน ทั้งยังมีลูก 4 คนที่ต้องดูแล การที่รัฐบาลประกาศมาตรการช่วยเหลือจึงถือเป็นเรื่องที่ดี และเป็นความหวังของเกษตรกรรายได้น้อยอย่างตน อย่างไรก็ตามยังหวังให้รัฐบาลมีมาตรการอื่นเพื่อช่วยเหลือในระยะยาวด้วย

“ไม่ใช่แค่จ่ายเงิน 3,000 บาทให้แล้วจบ ถ้าเช่นนั้นก็คิดว่าไม่ได้ช่วยอะไรเลย อยากให้รัฐช่วยด้านอาชีพให้มั่นคง สามารถมีรายได้มากกว่า 100 บาทต่อวัน ลูกๆจะได้ไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนได้โดยไม่ต้องขาดเรียน เพราะวันไหนที่ไม่มีเงินลูกทั้ง 3 คน ต้องขาดเรียน ส่วนคนเล็กยังดีที่ยังไม่เข้าเรียน” น.ส.รุสดากล่าว

“ลูกจะนำเงินไปโรงเรียนคนละ 5 บาท 3 คน 15 บาท ตอนเช้ากินข้าวที่บ้าน เที่ยงกินข้าวที่โรงเรียน กลับมาตอนเย็นถ้าหิวพวกเขาก็ต้องกินข้าว เงิน 5 บาท ที่เขานำไปโรงเรียน คือค่าขนมที่เขาจะได้กินแต่ละวัน สงสารลูก แต่ก็ไม่มีทางเลือกมากกว่านี้ จึงตั้งความหวังที่รัฐบาลว่าจะช่วยหนุนเสริมอาชีพให้มั่นคงกว่านี้” น.ส.รุสดาเพิ่มเติม

ด้านนางสาวรอกีเยาะ อาบู เกษตรกรจากจังหวัดยะลาอีกราย เปิดเผยว่า รู้สึกเสียใจที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวของรัฐบาลเนื่องจากช่วงที่รัฐบาลเปิดโอกาสให้ไปลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยตนไม่ได้เดินทางไปลงทะเบียน เนื่องจากไม่มีบัญชีธนาคาร

“ไม่ได้ไปลงทะเบียนเกตรกรผู้มีรายได้น้อยเพราะ ไม่มีเงินเปิดบัญชีธนาคาร ซึ่ง ตอนที่ไปลงทะเบียนทางธนาคารแจ้งว่าต้องเปิดสมุดบัญชีธนาคารด้วย ในการเปิดสมุดบัญชีธนาคารต้องฝากครั้งแรกขั้นต่ำ 500 บาทแต่ตัวเองมีเงินแค่ 50 บาทจึงตัดสินใจไม่ลงทะเบียน เพราะไม่มีเงินเปิดสมุด” น.ส.รอกีเยาะกล่าว

“รู้สึกเสียใจที่ไม่สามารถลงทะเบียนได้แต่ก็หวังว่า รัฐบาลจะช่วยเหลือคนที่ไม่ได้ลงทะเบียนด้วยวิธีอื่นที่ดีกว่า” น.ส.รอกีเยาะเพิ่มเติม

ครม.อนุมัติจ่าย 3,000 บาทพร้อมสั่ง ... ช่วยเหลือลูกหนี้

ในวันเดียวกัน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติระบุว่า รัฐบาลได้อนุมัติเงินช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยแล้ว คาดว่าจะมีประชาชนเกือบ 6 ล้านคนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้

“รัฐบาลได้อนุมัติช่วยเหลือเกษตรกรที่มาลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย มี 2.85 ล้านคน ที่จะได้เงิน รายละ 3000 บาท และมี 3 ล้านคนจะสามารถกู้เงินภายใต้ดอกเบี้ยต่ำ และ ธ.ก.ส.จะลดดอกเบี้ยสำหรับลูกหนี้ที่ดีอีกด้วย ในอนาคตจะรับลงทะเบียนใหม่ เพื่อช่วยเหลือให้ครอบคลุมทั้งหมด ขอให้ประชาชนติดตามและร่วมมือกับรัฐบาล” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ในวันอังคารที่ผ่านมา นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยต่อสื่อมวลชน หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบกับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยของกระทรวงการคลัง

ที่ประกอบด้วย 2 มาตรการหลักคือ 1.มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ที่ได้ร่วมลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการของรัฐ โดยการจ่ายเงินพิเศษให้เกษตรกรกลุ่มดังกล่าวเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต และเพื่อบรรเทาผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและราคาผลผลิตทางการเกษตรที่มีความผันผวน และ 2.มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) โดยการลดภาระดอกเบี้ยและหนี้

“เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยที่จะได้รับเงินตามมาตรการแรก มีเงื่อนไขต้องเป็นเกษตรกรที่ได้ร่วมโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม - 15 สิงหาคม 2559 ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปีจะได้รับเงินโอน 3,000 บาทต่อราย ครอบคลุมเกษตรกร 1.5 ล้านราย ส่วนผู้ที่มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี จะได้รับเงินโอน 1,500 บาทต่อราย ครอบคลุมเกษตรกร 1.3 ล้านราย ซึ่ง ธ.ก.ส. จะโอนเงินเข้าบัญชีให้เกษตรกรหลังจากที่มีการตรวจสอบข้อมูลแล้ว”  นายณัฐพรกล่าว

... เตรียมสนองนโยบาย พ..นี้

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยต่อสื่อมวลชนหลังทราบ มติ ค.ร.ม.เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรว่า ธ.ก.ส. จะเริ่มโครงการดังกล่าว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 โดยจะใช้งบประมาณในการดำเนินการประมาณ 6,500 ล้านบาท สำหรับมาตรการแรก คือ มาตรการอุดหนุนรายได้เกษตรกรที่มีรายได้น้อย โดยจะได้ทำการโอนเงินเข้าบัญชีของเกษตรกร

ขณะที่มาตรการที่สอง มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยบรรเทาภาระหนี้สิน ซึ่งกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรลูกค้ารายย่อยที่มีหนี้สินเงินกู้รายละไม่เกิน 300,000 บาท จำนวน 2,897,000 ราย มีหนี้สินรวมประมาณ 334,525 ล้านบาท จะได้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 - 31 มีนาคม 2561 โดยจะแบ่งมาตรการนี้เป็น 3 โครงการย่อยได้แก่

โครงการปลดหนี้สินให้เกษตรกรรายย่อยที่มีเหตุผิดปกติ เช่น เสียชีวิต พิการ ทุพพลภาพ เจ็บป่วยเรื้อรัง โดยนำเงินต้น 50% มาปรับโครงสร้างหนี้ 5 ปี พักชำระเงินต้น 2 ปีแรก คิดดอกเบี้ยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่เอ็มอาร์อาร์หรือ 7% หากผ่อนชำระได้ตามกำหนด ลดดอกเบี้ยค้างให้ 100% และเงินต้นที่เหลืออีก 50% จะปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในภายหลัง เกษตรกรเป้าหมายประมาณ 85,000 ราย

โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และลดภาระหนี้สินให้เกษตรกรที่มีหนี้เป็นภาระหนัก หากเป็นเกษตรกรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และเป็นลูกค้า ธ.ก.ส.มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีและมีทายาทเข้าเป็นลูกค้าแทนจะนำเงินต้น 50% มาปรับโครงสร้างหนี้ 5 ปี โดยพักชำระเงินต้น 2 ปีแรก คิดดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ หากผ่อนชำระได้ตามกำหนดลดดอกเบี้ยค้างให้ 80% และเงินต้นที่เหลืออีก 50%

กรณีเกษตรกรที่มีหนี้เป็นภาระหนักจะนำเงินต้น 50% มาปรับโครงสร้างหนี้ 5 ปี พักชำระเงินต้น 2 ปีแรก คิดดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ หากผ่อนชำระได้ตามกำหนดลดดอกเบี้ยค้างให้ 50% และเงินต้นที่เหลืออีก 50%

คาดว่าจะมีเกษตรกรและทายาทได้รับการช่วยเหลือด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และลดภาระหนี้ตามโครงการ 675,000 ราย ดอกเบี้ยที่ลดให้ประมาณ 10,000 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. รับภาระเอง

และโครงการชำระดีมีคืนแก่เกษตรกรที่ไม่มีปัญหาการชำระหนี้ ธ.ก.ส. จะคืนดอกเบี้ยในส่วนที่ลูกค้าส่งชำระระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 - 31 ตุลาคม 2560 คิดเป็น 30% ของจำนวนดอกเบี้ยที่ชำระ โดย ธ.ก.ส. จะนำดอกเบี้ยที่คืนให้ลูกค้ามาลดภาระหนี้โดยตัดเงินต้นให้ลูกค้าในกรณีที่มีหนี้คงเหลือ และคืนให้ลูกค้าเป็นเงินสดในกรณีที่ไม่มีหนี้คงเหลือ และให้สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนกรณีฉุกเฉินรายละไม่เกิน 100,000 บาท วงเงิน 50,000 ล้านบาท เกษตรกรเป้าหมาย 2,222,000 ราย หนี้สิน 272,000 ล้านบาท

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง