กระทรวงสาธารณสุขอบรมบุคลากร 42 คน เตรียมส่งไปดูแลชาวไทยมุสลิมในพิธีฮัจญ์
2016.07.12
กรุงเทพฯ

ในวันอังคาร (12 กรกฎาคม 2559) นี้ กระทรวงสาธารณสุขจัดอบรมบุคลากรทางการแพทย์ 42 คน ที่จะเดินทางไปประเทศซาอุดิอาระเบีย เพื่อดูแลสุขภาพให้กับนักแสวงบุญชาวไทยมุสลิมซึ่งจะไปประกอบพิธีฮัจญ์ ในช่วงเดือนสิงหาคม - ตุลาคม 2559 นี้
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว การอบรมครั้งนี้ เพื่อให้คณะแพทย์รับทราบนโยบาย แผนการปฏิบัติงาน เช่น การรักษาและส่งต่อผู้ป่วย ความรู้ด้านยา การเฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรคติดต่อ การเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพ ความรู้เกี่ยวกับภูมิประเทศ ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม และการใช้ชีวิตในประเทศซาอุดิอาระเบีย ให้ทุกคนมีความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ
“ในการดูแลพี่น้องชาวไทยมุสลิมที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการต่อเนื่องทุกปี โดยจัดแพทย์ เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เดินทางไปปฏิบัติราชการชั่วคราวที่สำนักการแพทย์เพื่อกิจการฮัจญ์แห่งประเทศไทย ณ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ระหว่างวันที่ 2 สิงหาคม – 16 ตุลาคม 2559 รวม 42 คน” นายแพทย์โสภณกล่าว
“...ประกอบด้วย แพทย์ 9 คน เภสัชกร 3 คน พยาบาล 24 คน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 6 คน ให้บริการดูแลรักษาพยาบาลโรคทั่วไป ให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพ การเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรค ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่น” นายแพทย์โสภณ กล่าวเพิ่มเติม
ตามรายงานของกรมศาสนา มีผู้แสวงบุญชาวไทยมุสลิม 10,400 คน ได้รับโควต้าให้ไปทำพิธีฮัจญ์ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปีนี้ได้เน้นย้ำทีมแพทย์ให้เคร่งครัดมาตรการป้องกันโรคเมอร์ส ตามมาตรฐานของกรมควบคุมโรค เป็นกรณีพิเศษ ทีมแพทย์จะเปิดให้บริการที่สำนักงานแพทย์ในเมืองเมกกะ และเมืองมะดีนะห์ จากนั้น จะมีการเคลื่อนที่ออกดูแลสุขภาพ ที่ทุ่งอาราฟะห์ และเมืองมีนา รวมทั้งพื้นที่ห่างไกล โดยใช้ระยะเวลาอยู่ในประเทศดังกล่าว เพื่อให้บริการประชาชน 73 วัน
โดยคณะทีมแพทย์ทั้ง 42 จะทยอยเดินทาง ยังประเทศซาอุดิอาระเบีย ไทยชุดแรกจะเดินทาง พร้อมเวชภัณฑ์ยารักษาโรคและอุปกรณ์ป้องกันโรค ในวันที่ 15 ส.ค.2559 นี้
นางมีเนาะ จิตจันทร์ดี ชาวปัตตานี ผู้เคยไปแสวงบุญที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่มีแพทย์จากไทยไปให้การช่วยเหลือคนไทยที่ไปแสวงบุญ เนื่องจากในต่างประเทศมักมีอุปสรรคด้านภาษา
“อยู่ในต่างประเทศสิ่งสำคัญ คือ การไม่รู้ภาษา ถือเป็นปัญหาใหญ่มาก โดยเฉพาะเวลาเจ็บป่วยในต่างแดน แต่เราโชคดีที่มีคณะแพทย์จากประเทศไทย ให้ความช่วยเหลือไปเยี่ยมผู้แสวงบุญที่ป่วย และถ้าสามารถเดินไหว ทุกคนก็สามารถเดินไปหาหมอเองได้ เราคุยภาษาเดียวกัน รู้เรื่องที่สุด เพราะสามารถบอกถึงอาการเจ็บป่วยได้อย่างดี...” นางมีเนาะกล่าว
“เคยเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลที่นั่น ได้แต่พยักหน้าเขาพูดอะไรก็ไม่รู้เรื่อง ตัวเองเป็นอะไรก็ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ได้ยามากินผิดๆถูกๆบ้าง ก็รู้สึกไม่สบายใจ อยากขอบคุณคณะแพทย์ ที่อาสาไปดูแลผู้แสวงบุญในต่างประเทศ” นางมีเนาะ กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับปี 2558 ที่ผ่านมา สำนักงานแพทย์เพื่อกิจการฮัจญ์แห่งประเทศไทยให้บริการผู้ป่วย 8,320 คน โดยโรคที่พบส่วนใหญ่ร้อยละ 67 เป็นโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ และอาการแพ้อากาศ รองลงมาเป็นอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ร้อยละ 13 ความดันโลหิตสูง ร้อยละ 2 เป็นต้น ในปีนั้น มีผู้มีอาการโดยต้องนอนพักรักษา 111 คน ด้วยโรคประจำตัวและอาการแทรกซ้อน เช่น หอบหืด ปอดบวม อ่อนเพลีย และถูกนำตัวส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลในประเทศซาอุดิอาระเบีย 27 คน