กรมสุขภาพจิตระบุ คนไทย 1.5 ล้านคน เป็นโรคซึมเศร้า
2017.11.06
กรุงเทพฯ

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เพิ่งเปิดเผยข้อมูลในสัปดาห์สุขภาพจิต ปี 2560 (1-7 พฤศิจกายน 2560) นี้ว่า มีคนไทยถึง 1.5 ล้านคน ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นสถิติที่สูงขึ้นสี่แสนรายจากสถิติปี 2557 หรือร้อยละ 36 ในรอบสามปี
ในปี 2557 โรบิน วิลเลียมส์ นักแสดงฮอลลีวูดชาวอเมริกัน กระตุ้นให้สังคมโลกตระหนักถึงความอันตรายของ “โรคซึมเศร้า” ซึ่งในกรณีของเขาได้นำไปสู่การฆ่าตัวตาย
“ตอนเริ่มทำงานใหม่ๆ เมื่อ 7 ปีที่แล้ว เรารู้สึกเหมือนไม่อยากเข้าสังคม พูดน้อย บางทีรู้สึกไม่อยากทำอะไรเลย พี่ที่ทำงานเลยแนะนำให้ไปหาจิตแพทย์ หลังจากนั้นเราก็หาข้อมูลในเน็ต ตัดสินใจไปหาหมอที่โรงพยาบาลศรีธัญญา เพราะมีคนเขียนไว้ในพวกกระทู้ออนไลน์ว่า คนที่เป็นโรคซึมเศร้าไปหาที่นี่ก็โอเค” น.ส.พลอย (สงวนนามสกุล) พนักงานบริษัทเอกชน อายุ 30 ปี เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์
นายนววิช นวชีวินมัย อาจารย์ภาควิชาจิตวิทยาและการแนะแนว มหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม กล่าวถึง ภาวะซึมเศร้าว่า เป็นอาการที่เกิดจากความผิดปกติของการหลั่งสารสื่อประสาทในร่างกายของคน ซึ่งอาการดังกล่าวสามารถเกิดได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใคร หรือมีฐานะทางสังคมอย่างไร
“ในร่างกายของเราจะมีสารเคมีที่ทำงานส่งผลต่อสมองไปสู่อารมณ์ของคน และพฤติกรรม ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คือ ผู้ที่มีสารเหล่านี้ไม่ปกติ ทำให้เกิดอารมณ์เศร้า เป็นอาการเศร้าติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน หรืออีกสาเหตุนึงคือการได้รับวิกฤตในชีวิต ซึ่งกระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างรุนแรง” นายนววิชเปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์
นายนววิชระบุว่า ความน่ากลัวของภาวะซึมเศร้า คือ ถ้าผู้ป่วยมีอาการหนักมาก อาจถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย เช่น ในกรณีของเชสเตอร์ เบนนิงตัน นักร้องนำของวงดนตรีอเมริกัน “ลินกินพาร์ค” ซึ่งตัดสินใจฆ่าตัวตาย ในเดือนกรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา
“อาการซึมเศร้าอาจเกิดร่วมกับ อาการหลงผิด เช่น คิดว่าคนทั่วไปบนท้องถนน หรือในสังคมกำลังนินทา หรือตำหนิเราอยู่ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น สถานการณ์ลักษณะนี้อาจจะบีบคั้นให้เขารู้สึกอยากหนีออกไปจากตรงนั้น หรือรู้สึกอยากทำร้ายตัวเอง ถึงขั้นฆ่าตัวตายได้เลย การรับรู้ที่ผิดพลาด ทำให้เกิดอารมณ์เศร้าได้ เมื่อความเศร้ามันวิกฤตจริงๆ ภาวะซึมเศร้ายังส่งผลให้สารบางอย่างในร่างกายทำงานผิด เช่น นอนไม่หลับ ยิ่งนอนไม่หลับก็ยิ่งเครียดหรือเศร้าเพิ่ม” นายนววิชกล่าวเพิ่มเติม
น.ส.พลอย ระบุว่า ในช่วงที่ต้องเผชิญกับปัญหาหลายปัญหาในชีวิต เคยคิดถึงขั้นอยากฆ่าตัวตายมาแล้ว เนื่องจากไม่รู้ว่าตนเองจะมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่ออะไร
“คิดอยากฆ่าตัวตาย คิดมานับครั้งไม่ถ้วน แต่หนักที่สุดอาจจะบอกได้ว่า 3 ครั้ง ตอนนั้นเหมือนรู้สึกว่าชีวิตไม่มีดีอะไรสักอย่าง เคยเครียดจนต้องกินยานอนหลับ แล้วก็เคยกินมากไปจนโอเวอร์โดส โดนหามส่งโรงพยาบาล นั่นคือสิ่งที่การซึมเศร้าสร้างความลำบากให้ชีวิต” น.ส.พลอยกล่าว
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อมูลว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่พบเพียง 1.1 ล้านคน ขณะที่ทั่วโลกพบว่า มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากว่า 300 ล้านคน ปีนี้ กรมสุขภาพจิตจึงรณรงค์เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องภาวะซึมเศร้าให้กับสงคมไทยภายใต้แนวคิด “Depression: Let’s Talk ซึมเศร้า...เราคุยกันได้” เพื่อให้สังคมเข้าใจว่า ภาวะซึมเศร้าไม่ใช่เรื่องน่าอาย ไม่ต้องหลบหนี สามารถพูดคุยกันได้ เพื่อให้เกิดการดูแลซึ่งกันและกัน
“วิธีง่ายๆ คือแนะนำให้เขาไปปรึกษาแพทย์ ถ้ายังไม่แน่ใจก็ให้ลองโทรไปที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพราะบางทีการพยายามช่วยเหลือเขาด้วยตัวเอง อาจเป็นการกระตุ้นอารมณ์เศร้าของคนไข้ให้เกิดมากขึ้นไปอีก คนทั่วไปต้องทำความเข้าใจก่อนที่จะเข้าไปจัดการกับอาการเหล่านี้ ให้ใช้การสนับสนุน หรือให้กำลังใจ ชวนเขาออกไปทำกิจกรรมร่วมกัน อาการเศร้ามันจะแพ้คนที่ทำกิจกรรม แพ้คนเข้าสังคม แพ้คนที่ได้รับความรักจากผู้อื่น” นักจิตวิทยาที่ทำงานด้านการปรึกษา (สงวนชื่อและนามสกุล) เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์
สำหรับ น.ส.พลอย ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ทราบว่าตนเองมีภาวะซึมเศร้า ได้พยายามหาวิธีบำบัดอาการที่เกิดขึ้น โดยเข้ารับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ ควบคู่กับการรับประทานยา ใช้การฝึกสมาธิเพื่อบำบัด รวมไปถึงการเข้าพบนักจิตบำบัด เป็นประจำ ซึ่งพบว่า การพบนักจิตบำบัดสามารถลดความเครียด หรือภาวะซึมเศร้าได้
“เราเป็นคนที่ไม่ค่อยพูดเรื่องปัญหาตัวเองกับใคร การได้คุยกับคนที่จะไม่คอยตัดสินเรา ก็เหมือนเป็นการระบายได้อย่างหนึ่ง แล้วเขาคอยให้กำลังใจเรา และให้คำแนะนำที่ดีๆ กับเรา สะท้อนมุมมองต่างๆ ให้เราคิดได้ หลังจากหาเขาแต่ละครั้งจะรู้สึกดีขึ้นมาทันที สำหรับคนที่อยู่กับคนที่ซึมเศร้า ต้องพยายามเข้าใจเขา ไม่มองเขาว่าเป็นคนที่แปลก พยายามบอกเขาว่า เรายินดีรับฟังเขาเสมอ ถ้าเขาอยากคุยกับเรา คุยได้ตลอด และต้องไม่ตัดสินเขา บางทีอาจจะหาทางออกให้เขาไม่ได้ แต่แค่รับฟังเขา อยู่เป็นเพื่อนเขา ก็สุดยอดแล้ว” น.ส.พลอยกล่าว
เกณฑ์วินิจฉัยของภาวะซึมเศร้าโดยทั่วไป ตามที่ ศ.นพ.มาโนช หล่อตระกูล จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้เขียนบทความไว้ในเว็บไซต์โรงพยาบาล เกี่ยวกับอาการผิดปกติทางจิต มี 5 อาการหรือมากกว่า ดังต่อไปนี้ มีอารมณ์ซึมเศร้า (ในเด็กและวัยรุ่นอาจเป็นอารมณ์หงุดหงิดก็ได้) ความสนใจหรือความเพลินใจในกิจกรรมต่างๆ แทบทั้งหมดลดลงอย่างมาก น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก (น้ำหนักเปลี่ยนแปลงมากกว่าร้อยละ 5 ต่อเดือน) หรือมีการเบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมาก นอนไม่หลับ หรือหลับมากไป กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือเชื่องช้าลง อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง รู้สึกตนเองไร้ค่า สมาธิลดลง ใจลอย หรือลังเลใจไปหมด คิดเรื่องการตาย คิดอยากตาย
หากต้องมีอาการในข้อ 1 หรือ 2 อย่างน้อย 1 ข้อ ต้องมีอาการเป็นอยู่นาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป และต้องมีอาการเหล่านี้อยู่เกือบตลอดเวลา แทบทุกวัน ไม่ใช่เป็นๆ หายๆ เป็นเพียงแค่วันสองวันหายไปแล้วกลับมาเป็นใหม่
หลักเกณฑ์ชี้วัดมีใช้ทั่วไปอยู่ 2 เกณฑ์คือ DSM5 หรือ Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders ของสมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกา และ ICD 10 หรือ International Classification of Diseases and Related Health Problems ที่องค์การอนามัยโลก ใช้ในการจำแนกทางสถิติระหว่างประเทศของความผิดปกติของโรคและปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีการจัดระบบใกล้เคียงกัน แตกต่างเพียงในบางรายละเอียด
ส่วนประเทศไทยนิยมใช้ DSM5 คู่มือการวินิจฉัยและสถิติ สำหรับความผิดปกติทางจิต เป็นหลักเกณฑ์แบบคัดกรองผู้ป่วยโรคซึมเศร้า