ผู้เสียชีวิตจากพิษสุนัขบ้าพุ่งเป็นรายที่ 7 ในไตรมาสแรกของปี 61
2018.03.28
กรุงเทพฯ

รองอธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวในการแถลงข่าวในสัปดาห์นี้ว่า โรคพิษสุนัขบ้า ที่กำลังระบาดอยู่ในห้วงเวลานี้ เกิดจากขาดแคลนวัคซีนในปีงบประมาณ 2559-2561 โดยตั้งแต่ต้นปีมานี้ มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 7 ราย ถือว่ามาก เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2560 ตลอดทั้งปี มีผู้เสียชีวิต 11 ราย กระทรวงสาธารณสุขกล่าว
นายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่าในปีก่อนหน้านั้น ทางกรมต้องล้มเลิกการประมูลวัคซีน เพราะมีปัญหาการนำวัคซีนที่ไม่ได้มาตรฐานมาร่วมประมูล ด้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ถูกตัดงบประมาณสำหรับการฉีดวัคซีนให้กับสุนัข เพราะทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินระบุว่า อปท. ไม่มีหน้าที่ฉีดวัคซีน
“ในปี 2559 ไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย เนื่องจากยาฯ ไม่ได้คุณภาพทำให้ต้องยกเลิก และรีเจ็คต์การฉีดวัคซีนทั้งในส่วนของกรมปศุสัตว์ และอปท. ทำให้การฉีดวัคซีนไม่ได้ตามเป้าปีละหนึ่งล้านโดส ในขณะที่ อปท.ไม่ได้ดำเนินการฉีดฯ เนื่องจาก สตง.เรียกงบคืน โดยให้เหตุผลว่าไม่ใช่หน้าที่ของ อปท.” นายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ได้มีผู้เสียชีวิตเป็นรายที่ 7 ของปีนี้ โดยกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันผลการตรวจเนื้อสมองของชายผู้เสียชีวิตจากการถูกลูกสุนัขข่วนที่จังหวัดพัทลุงว่า เกิดจากเชื้อพิษสุนัขบ้า เปรียบเทียบกับปี 2560 ที่ตลอดทั้งปีเสียชีวิตจำนวน 11 ราย
นายแพทย์ธนิศ เสริมแก้ว นายแพทย์สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ผู้เสียชีวิต มีอายุ 39 ปี ถูกลูกสุนัขเพศเมียอายุ 4 เดือน ที่เลี้ยงไว้ในบ้านข่วนบริเวณต้นขาขวา เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ไม่ได้มารับวัคซีน ต่อมาลูกสุนัขเสียชีวิต และตนเองมีอาการป่วยหายใจขัด คอแข็ง กลืนลำบาก กลัวลม จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เมื่อวันที่ 23 มีนาคม และได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน แต่อาการกลับทรุดลง และเสียชีวิตในวันที่ 25 มีนาคม ทางโรงพยาบาลจึงได้เก็บตัวอย่างเนื้อสมองส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และได้ติดตามญาติและเพื่อนผู้เสียชีวิตที่อาจมีการสัมผัสโรคมารับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า
“จังหวัดพัทลุงพบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าตั้งแต่ปี 2554 แล้ว และไม่เคยพบอีกเลย จนมาพบผู้ป่วยรายนี้” นายแพทย์ธนิศ กล่าว
ล่าสุด สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพัทลุง เปิดเผยสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า ว่า พบจุดเกิดโรคใน 6 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ปากพะยูน อ.ป่าบอน อ.เมือง อ.เขาชัยสน อ.บางแก้ว และ อ.ตะโหมด มีการส่งสุนัขต้องสงสัยจำนวน 8 ตัวตรวจ พบว่า 5 ตัวมีอาการป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้า ในขณะที่เฝ้าระวังสุนัขอีกจำนวน 31 ตัวที่รอผลการตรวจ และเจ้าหน้าที่ได้เร่งฉีดวัคซีนป้องกันให้กับสุนัขและแมวในเขตรัศมี 5 กิโลเมตรแล้ว
ฉีดวัคซีนไม่เพียงพอ และอปท. ถูกตัดงบ
สำหรับผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-27 มีนาคม รวมทั้งสิ้น 7 รายนั้น เกิดในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ตรัง สงขลา นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ บุรีรัมย์ และล่าสุดที่พัทลุง ไม่รวมกรณีเด็กชาวพม่า ที่ถูกสุนัขกัดจากประเทศพม่าก่อนเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลพบพระ จังหวัดตาก และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
นายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ยังได้กล่าวอีกว่า หลังเกิดปัญหาการประมูลซื้อวัคซีนหมา-แมว ที่ไม่สามารถทำได้ในปีงบประมาณ 2559-2561 ทำให้ไม่มีวัคซีนในการฉีดให้กับสัตว์อย่างทั่วถึง ทางกรมฯ ได้ใช้งบประมาณดังกล่าว ไปในการทำหมันสุนัขและแมวจรจัดแทน จึงไม่ได้มีการซื้อวัคซีนเพิ่มเติม
“การฉีดวัคซีนที่ยังไม่ทั่วถึง เนื่องจากมีการยกเลิกการประมูลการจัดหาวัคซีนในปี 59 ทำให้ไม่สามารถจัดซื้อได้ การฉีดวัคซีนไม่เป็นไปตามเป้าที่ 1 ล้านโดส ต่อปี .. ส่วนในปี 60 มีการฉีดวัคซีนให้หมา-แมว จำนวนหนึ่งเท่านั้น” นายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ กล่าว
ด้านนางคณิตา ราษฎร์นุ้ย ผู้อำนวยการกองพัฒนาและส่งเสริมการบริหารงานท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ระบุว่า สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สั่งระงับการใช้จ่ายงบประมาณของ อปท. ในการซื้อวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยให้เหตุผลว่า อปท. ไม่ได้มีภารกิจในการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับประชาชน ทำให้หลายพื้นที่ระงับการซื้อ และการฉีดวัคซีนฯ ในปีที่ผ่านมา ประกอบกับเจ้าของสัตว์เลี้ยงไม่ได้นำสัตว์มารับวัคซีนประจำปีด้วย
ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงปัจจุบัน กรมปศุสัตว์ได้ประกาศเขตโรคระบาดสัตว์ชั่วคราว (อายุ 30 วัน) ในจำนวน 40 จังหวัด แต่ลดลงเหลือ 29 จังหวัด ในปัจจุบัน ส่วนกรุงเทพมหานคร พบสุนัขที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้าในพื้นที่เขตดอนเมือง 1 ตัว จตุจักร 1 ตัว บางซื่อ 2 ตัว บางเขน 2 ตัว รวม 6 ตัว แต่ยังไม่พบผู้เสียชีวิต
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ รายงานว่าได้ดำเนินการฉีดวัคซีนฯ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 3.2 ล้านตัว จากจำนวนที่ตั้งเป้าไว้ทั้งหมด 8.24 ล้านตัว และคาดว่าจะสามารถฉีดวัคซีนฯ ในช่วงรณรงค์ (มี.ค.-พ.ค.) จะได้ 80 เปอร์เซ็นต์ ของสุนัข-แมวทั่วประเทศ
วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าขาดแคลน
นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว กรณีโรคพิษสุนัขบ้าที่กำลังระบาดอย่างรุนแรงว่า เป็นวิกฤตการณ์ที่ต้องจัดการอย่างจริงจัง ไม่ให้กลายเป็นโรคประจำถิ่น พร้อมตั้งข้อสังเกตเรื่องการจัดสรรงบประมาณในการจัดหาวัคซีน จำนวน 360 ล้านบาทว่า ที่ผ่านมานำไปใช้ทำอะไร และที่หน่วยงานระบุว่าสามารถฉีดวัคซีนได้ 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว ทำหมันได้ครบถ้วน ทำไมจึงเกิดปัญหาการระบาดในปีนี้
“เราควรตรวจสอบย้อนหลังเส้นทางวัคซีนไป 4 ปี ตั้งแต่ปี 2557 เนื่องจาก รพ.จุฬาฯ พบความผิดปกติของการเพิ่มขึ้นของสุนัขที่ติดโรคนี้มากขึ้นในปี 59 ที่พบการเสียชีวิต 13 ราย เพราะฉะนั้นก็ต้องย้อนไปดูการฉีดวัคซีนย้อนหลัง รวมถึงตรวจสอบในปี 59–60 ด้วย” นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา กล่าวกับผู้สื่อข่าว
ล่าสุด นายสุรพงษ์ เจียสกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จะมีการตรวจสอบการจัดหาวัคซีนของกรมปศุสัตว์ โดยให้กรมฯ ส่งข้อมูลการจัดซื้อวัคซีนย้อนหลัง 10 ปี ภายในวันที่ 2 เมษายนนี้ ในขณะที่จะได้เชิญตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐานวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าพร้อมข้อมูลที่อาจเกี่ยวข้องภายในวันที่ 30 มีนาคมนี้