สธ. ชายแดนใต้ เร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 หลังผู้ติดเชื้อเพิ่มอย่างรวดเร็ว

มารียัม อัฮหมัด
2021.10.13
ปัตตานี
สธ. ชายแดนใต้ เร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 หลังผู้ติดเชื้อเพิ่มอย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่มูลนิธิฮิลาลอะห์มัร สาขาสะบ้าย้อย ได้ทำพิธีศพผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ที่สุสานตุหยง ในอำเภอหนองจิก ปัตตานี วันที่ 13 ตุลาคม 2564
เบนาร์นิวส์

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ ภายในสัปดาห์นี้ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค หลังจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นเกือบหนึ่งส่วนสี่ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งประเทศ

นพ. อนุรักษ์ สารภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี เปิดเผยผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (สวท.) จังหวัดปัตตานีในวันพุธนี้ว่า แผนเร่งด่วนในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่คือ การระดมฉีดวัคซีน รวมทั้งจะเร่งตรวจเชื้อเพื่อคัดแยกผู้ป่วยออกจากผู้ไม่ติดเชื้อให้เร็วที่สุด

แผนระยะสั้นสุดคือ ฉีดวัคซีนให้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์เป็นอย่างน้อย ภายในสัปดาห์นี้ถ้ามีการระบาดเยอะ เราลงไปแล้วก็ไปตรวจ ATK (Antigen test kit) คนที่เป็นบวกก็เข้าศูนย์ CI (Community Isolation) ประจำตำบล คนที่เป็นลบเราก็ฉีดวัคซีนเลย เพราะเรามีวัคซีนเพียงพอในการดำเนินการตรงนั้นได้นพ. อนุรักษ์ กล่าว

ด้าน นพ. อุดมเกียรติ พูนสวัสดิ์ รองนายแพทย์สาธารณสุข จังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า สาเหตุที่เกิดการระบาดมากขึ้นมาจากการที่ชาวบ้านละเลยมาตรการป้องกันโรค

จากการสอบสวนโรค การระบาดระลอกนี้เป็นกลุ่มที่ติดเชื้อจากครอบครัว มีกิจกรรมในชุมชน เช่น งานศพ งานเลี้ยง พอเริ่มคลายล็อคในเดือนกันยายนก็เริ่มการ์ดตก บ้านเราคนจนเยอะ การอยู่ร่วมกันจำนวนหลายคนในบ้านเล็ก ๆ ทำให้กลายเป็นคลัสเตอร์นพ. อุดมเกียรติ กล่าว

นพ. อุดมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากประชาชนไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด คาดการณ์ว่าปัตตานี อาจมีผู้ติดเชื้อถึง 1,000 รายต่อวัน ซึ่งปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ในปัตตานีสามารถฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเพียง 35 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยปัตตานีอาจมีความจำเป็นต้องจำกัดการเดินทาง และใช้มาตรการที่เข้มงวดกว่าระดับประเทศ หากอัตราการติดเชื้อยังสูงอยู่

ส่วนในจังหวัดสงขลา นพ. ไชยสิทธิ์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหาดใหญ่ เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า ผู้ติดเชื้ออาจเพิ่มขึ้นอย่างมากใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า จนไม่มีเตียงรองรับผู้ป่วยเพียงพอ

เรากะว่าจะเพิ่ม (เตียงผู้ป่วย) ให้ได้สัก 4 พันเตียง ซึ่งขณะนี้ ก็มีการร่วมมือกับท้องถิ่นในการจัดทำศูนย์พักคอย ศูนย์ดูแลคนไข้ผู้ป่วยโควิด ร่วมกับโรงพยาบาลที่จัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มขึ้นนพ. ไชยสิทธิ์ กล่าวในวันอังคาร

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา พญ. อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ระบุว่า มีจำนวนผู้ติดเชื้อในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สูงถึง 2,185 ราย หรือคิดเป็น 22 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งประเทศ ขณะที่กรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งมีประชากรมากกว่ามีผู้ติดเชื้อ 19 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ ประชากรในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้มี 3.58 ล้านราย ตามตัวเลขขององค์การบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่กรุงเทพมีประชากรประมาณ 10 ล้านราย

ในวันพุธนี้ ศบค. ระบุว่า ยอดผู้ติดเชื้อรายวันของสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (รวมสงขลาทั้งจังหวัด) ลดลงเหลือ 1,968 ราย แบ่งเป็นจังหวัดยะลา 650 ราย สูงสุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ, สงขลา 475 ราย เป็นอันดับ 3, ปัตตานี 423 ราย เป็นอันดับ 6, และนราธิวาส 420 ราย เป็นอันดับ 7 โดยอันดับ 1 ยังเป็นกรุงเทพฯที่ 1,142 ราย

ขณะที่ ผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ถึงปัจจุบัน จังหวัดสงขลามีผู้ป่วย 36,313 ราย, ยะลา 31,269 ราย, นราธิวาส 29,747 ราย และปัตตานี 27,039 ราย รวม 124,368 ราย โดยยอดสะสมทั้งประเทศคือ 1,711,565 ราย

โดยตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 10 ตุลาคม 2564 มีประชาชนได้รับวัคซีนแล้ว 2.52 ล้านโดส ในนั้น มี 1.5 ล้านรายที่ได้รับวัคซีนเข็มแรก คิดเป็น 41.9 เปอร์เซ็นต์ และ 9.7 แสนรายได้รับวัคซีนเข็มที่สอง คิดเป็น 27.2 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เข็มที่สาม 4.6 หมื่นราย คิดเป็น 1.3 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรในสี่จังหวัดชายแดนใต้

จากการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นดังกล่าว นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงวางแผนที่จะเดินทางลงพื้นที่จังหวัดปัตตานี ในวันที่ 15 ตุลาคม 2564 เพื่อพูดคุยกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา สธ. ได้ส่งวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์ ไปยังพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 5 แสนโดส เพื่อเร่งระดมฉีดให้กับประชาชนแล้ว

หลังจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นจังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มสูงในสัปดาห์ก่อน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า พล.. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ นพ. เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์ และวางเป้าหมายว่า ต้องสามารถควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้ภายใน 1-2 เดือน

โดย สธ. ได้จัดส่งยาและเวชภัณฑ์ไปยังพื้นที่เพิ่มเติมแล้ว แบ่งเป็น ยาฟาวิพิราเวียร์ 1 ล้านเม็ด, ชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน (ATK) 20,000 ชุด, เครื่องผลิตออกซิเจน 100 เครื่อง และวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท แอสเตราเซเนกา 25,000 โดส

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง