นักสิทธิมนุษยชน: การฟ้องนักสิทธิเหมือนเป็นการปิดปากเสียงจากพื้นที่
2016.06.21
ปัตตานี

นักสิทธิมนุษยชน กล่าวในงานสัมมนาเกี่ยวกับสถานการณ์ในภาคใต้ว่า การดำเนินคดีต่อนักสิทธิมนุษยชนที่ได้รายงานสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ เป็นเหมือนการที่รัฐต้องการห้ามเอ็นจีโอไม่ให้รายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และห้ามไม่ให้ผู้ถูกละเมิดสิทธิมีปากเสียง
“เรื่องแจ้งความดำเนินคดี เป็นรูปแบบใหม่ที่ทำให้รู้สึกว่า ไม่ใช่แค่เราที่เป็นผู้ที่ถูกให้หยุดส่งเสียงเรื่องความเดือดร้อนของประชาชน แต่การแจ้งความกับเราหมายความว่า ต้องการหยุดการส่งเสียงของเอ็นจีโอ คนทำงานทุกๆ ด้าน ที่ทำเพื่อพี่น้องประชาชน และที่สำคัญ เป็นการหยุดเสียงประชาชนไม่ให้ร้องถึงการถูกละเมิดสิทธิ” นางสาวอัญชนา หีมมิน๊ะห์ ประธานกลุ่มด้วยใจ กล่าวในเวทีเสวนาวิชาการในหัวข้อ “สันติภาพจอมปลอม เมื่อรัฐคุกคามนักสิ่งแวดล้อมและนักสิทธิ” ที่จัดโดยเครือข่ายประชาชนชายแดนใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ บริเวณใต้ตึกคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังประมาณหนึ่งร้อยคน ในวันอังคาร (21 มิ.ย. 2559)
การที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ได้รับอำนาจจากกองทัพบก แจ้งความดำเนินคดีกับนางสาวอัญชนา หีมมิน๊ะห์ นายสมชาย หอมละออ ที่ปรึกษา มูลนิธิสานวัฒนธรรม และนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการ มูลนิธิสานวัฒนธรรม ในข้อหาหมิ่นประมาท และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม นี้ เนื่องจากได้เผยแพร่ “รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ในจังหวัดชายแดนใต้” เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ศกนี้ ซึ่งเป็นรายงานที่นำเสนอโดยองค์กรพัฒนาเอกชนสามองค์กร คือ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี และกลุ่มด้วยใจ ที่มีการสัมภาษณ์ผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนในการก่อความไม่สงบที่ถูกควบคุมตัว และอ้างว่าเจ้าหน้าที่รัฐได้กระทำการทรมาน
พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวถึงเรื่องในก่อนหน้านี้ว่า เจ้าหน้าที่เอ็นจีโอทั้งสามรายนั้น ได้กล่าวหาทางการในลักษณะนี้หลายครั้งแล้ว “เป็นการหมิ่นเจ้าหน้าที่ แล้วสร้างความเสื่อมเสียต่อประเทศชาติ”
นางสาวอัญชนา หีมมิน๊ะห์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันจันทร์นี้ว่า ตอนนี้ ได้ตั้งทนายแล้ว โดยมีทีมมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม กับทีมมูลนิธิผสานวัฒนธรรม หลังจากนี้ ทนายจะเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด แต่จะขอเลื่อนหมายนัดที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรปัตตานีแจ้งมา
“เราสามคนจะยังไม่ไปตามนัดในวันที่ 26 มิถุนายนนี้ เนื่องจากไม่สะดวก แต่จะขอเลื่อนเป็นวันที่ 26 เดือนหน้า” นางสาวอัญชนา กล่าว
ในวันนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องทางการไทย ให้ยกเลิกการแจ้งข้อหาแก่บุคคลทั้งสาม
“สามคนที่ถูกกล่าวหาล้วนเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการเคารพนับถืออย่างมาก ข้อกล่าวหาต่อพวกเขาเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ทางการไทยเร่งปราบปรามสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสาร” ออเดรย์ โกห์ราน (Audrey Gaughran) ผู้อำนวยการงานรณรงค์ประเด็นสากล แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว
ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนใต้
นายตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้ประสานงาน เครือข่ายประชาชนชายแดนใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ ระบุว่ามี 2 ปัญหาสำคัญ ที่สะท้อนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ นั่นคือ การเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโรงไฟฟ้าถ่านหินปะนาเระ โดยไม่สนใจเสียงค้านของชาวบ้าน และ สอง การคุกคามแจ้งความดำเนินคดีนักสิทธิมนุษยชน 3 คน ที่ร่วมกันจัดทำรายงานการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง
นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า วันนี้ได้มาคุยถึงบทบาทของนักสิทธิมนุษยชน ว่าทำอะไรได้บ้าง อยากให้สังคมและหน่วยกำกับดูแลกฎหมายได้เข้าใจถึงอุปสรรค ซึ่งตอนนี้ อุปสรรคสำคัญ คือ เรื่องการถูกฟ้องคดีเนื่องจากการรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชน การต่อสู้ของนักสิทธิมนุษยชนมีมานานแล้ว เรานักต่อสู้ ก็มีวิธีปรับเปลี่ยนการทำงาน ทั้งฝ่ายเอ็นจีโอและเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องมีการปรับเปลี่ยน และเราก็ต้องอยู่ร่วมกันตลอดไป
“ทุกคนมีวัตถุประสงค์เดียวกัน เราต้องการสันติสุข สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้อยากทำงานด้านนี้มากขึ้น และคิดว่าในอนาคตจะลงมาตั้งศูนย์ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คิดว่าจะช่วยเปิดพื้นที่ให้คนมาร้องเรียนมากขึ้น ก็ขอยืนยันว่าจะทำงานด้านนี้ต่อไป” นางสาวพรเพ็ญ กล่าวต่อที่เสวนา